ทำความรู้จักกับเต่าบินหรือเต่าจมูกหมู (Pig nose turtle)

เต่าจมูกหมู (Pig nose turtle; Carettochelys insculpta) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “เต่าบิน” ดูเผินๆ แล้วอาจคิดว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นตะพาบน้ำหรือเต่าทะเล เพราะ ขาเป็นแผ่นพังผืดคล้ายกับไม้พาย

แต่อันที่จริงแล้ว เต่าจมูกหมู เป็นเต่าน้ำจืดชนิดหนึ่งที่ใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่ในน้ำจะขึ้นบกก็ต่อเมื่อต้องมาวางไข่เท่านั้น

ลักษณะ

เต่าบินมีกระดองสีเทาดำใต้ท้องสีขาว จมูกยาว ออกมาจากหน้าเล็กน้อย เมื่อมองจากด้านหน้าตรงจะเห็นรูจมูกขนาดใหญ่ โตเต็มที่ได้ราว 60 เซนติเมตร หนัก ได้ถึง 20 กิโลกรัม

ถิ่นกำเนิด

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแม่น้ำทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย อีเรียนจายา และ ปาปัวนิวกินี เดิมทีเต่าชนิดนี้ถือเป็นเต่าที่หายากมีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย เคยมีราคาสูงนับแสนบาท ต่อมาเมื่อมีการเพาะพันธุ์ได้มากขึ้นในต่างประเทศ ลูกเต่าชนิดนี้จึงมีราคาถูกลงอย่างมาก ทำให้เกิดการนำเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงกันแพร่หลายมากขึ้น ส่วนใหญ่มีขายตามร้านปลาสวยงามที่นำเข้ามาจากประเทศ อินโดนีเซีย เคยพบหลุดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติบ้าง แต่ไม่เป็นอันตรายและยากที่จะขยายพันธุ์เอง เพราะ ต้องใช้เวลาถึง 25 ปี จึงจะถึงวัยเจริญพันธุ์

เต่าจมูกหมู
ขอบคุณภาพจาก : https://www.aboutanimals.com/

การเลี้ยง

เต่าบินถือเป็นเต่าที่เลี้ยงง่าย เชื่อง ไม่ทำอันตรายกับผู้เลี้ยง แต่ก้าวร้าวกับพวกเดียวกันเองโดยเฉพาะกับตัวที่มีขนาดเล็กกว่าหรือตัวที่ใส่ลงไปทีหลัง เต่าตัวที่อ่อนแอกว่าจะถูกไล่กัดหรือทำร้ายจน เป็นแผล ดังนั้นควรเลี้ยงเต่าบินเพียงตัวเดียวเท่านั้น

อาหาร : เต่าชนิดนี้สามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น อาหารปลา สำเร็จรูป ผักบุ้ง ผักกาด กุ้งฝอย เนื้อกุ้ง ในช่วงแรกเต่าอาจตื่นกลัวหรือไม่เชื่องกับคน แต่เมื่อเต่าคุ้นเคยกับผู้เลี้ยงก็จะว่ายตามมาขออาหาร จนสามารถใช้มือสัมผัสเล่นเบาๆ ได้เลยทีเดียว

สถานที่เลี้ยง : ควรเป็นตู้ อ่าง หรือบ่อปลาขนาด ใหญ่ให้เต่ามีพื้นที่ได้ว่ายเล่น ควรมีระบบกรองที่ดีหรือมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากน้ำมีคุณภาพไม่ดีจะทำให้เต่าเป็นโรคผิวหนังได้ เต่าบินสามารถเลี้ยงรวมกับปลาได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่กว่ามากหรือว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เช่น ปลาตะเพียน ปลามังกร ปลาคาร์ป หรือปลาหมอนกแก้ว ถ้าหากปลามีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงดีก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าปลามีขนาดเล็กกว่ามากหรือเกิดสุขภาพอ่อนแอก็อาจถูกเต่าบินจับกินได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะให้ปลอดภัยจริงๆ ก็อย่าใส่ ปลารวมกับเต่าจะดีที่สุด

เรื่อง : ภวพล