ไวรัสโคโรนาในสุนัข (corona)

โคโรนา (corona) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่สามารถก่อโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว สุกร เป็นต้น ซึ่งไวรัสโคโรนาถูกค้นพบในสัตว์มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ในช่วงปลายปี 2019 พบว่าโคโรนาสามารถก่อโรคในคนที่ประเทศจีนและขณะนี้พบว่าการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนากำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้อยู่

ความน่ากลัวของ ไวรัสโคโรนา สามารถทำให้คนเกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิตได้ ข้อมูลปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดต่อของไวรัสอู่ฮั่น (โคโรนาไวรัสในคน) มายังสัตว์เลี้ยงและยังไม่มีการรายงานว่า ไวรัสโคโรนาในสุนัข สามารถติดคนได้ เนื่องจากเป็นคนละสายพันธุ์กันและไม่สามารถติดต่อข้ามสายพันธุ์กันได้

ไวรัสโคโรนาก่อให้เกิดโรคสำไส้อักเสบติดต่อในสุนัข  ถูกค้นพบในปี 1971 จะก่อโรครุนแรงมากในลูกสุนัข โดยเฉพาะลูกสุนัขอายุ 2-4 เดือน การติดต่อของโรคเกิดได้จากการกินอาหาร หรือ น้ำที่มีการปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสปนอยู่ มักจะเกิดในสุนัขที่เลี้ยงหนาแน่น เเละสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และจะเกิดการแบ่งตัวทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ ทำให้เซลล์ลำไส้ถูกทำลาย ลอกหลุด ฝ่อตัว บางเซลล์สำไส้ตายลง ลูกสุนัขจะแสดงอาการท้องเสียรุนแรง ท้องเสียเรื้อรัง อาเจียน เบื่ออาหาร ซึม มีไข้ เกิดภาวะแห้งน้ำ เนื่องจากสูญเสียน้ำไปกับการอาเจียนและท้องเสีย  ถ้าสุนัขติดเชื้อโคโรนาไวรัสร่วมกับพาโวไวรัสอาการก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ท้องเสียเป็นเลือด มีเมือกปนและอาจจะเสียชีวิตได้ ในสุนัขโตบางทีจะไม่แสดงอาการ แต่บางตัวจะแสดงอาการอาเจียนและท้องเสีย อุจจาระเหลวเป็นสีเหลืองเขียวหรือสีส้ม ไม่ค่อยมีไข้

อาการที่มักพบจะเบื่ออาหารและซึมมากกว่า หากสุนัขมีอาการดังกล่าวควรพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์ทันทีที่สังเกตอาการสุนัขเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ซึม ไม่ค่อยกินอาหาร เป็นต้น สัตวแพทย์ทำการวินิจฉัยโรคโดยการนำอุจจาระไปตรวจในชุดตรวจสำเร็จรูปซึ่งชุดตรวจสอบสามารถตรวจหาเชื้อได้ ทั้งโคโรนาไวรัสและพาโวไวรัส ซึ่งสามารถรู้ผลได้เลยภายใน 5-10 นาที

การรักษาโรคสำไส้อักเสบติดต่อไม่มียาในรักษาหรือการฆ่าไวรัสได้ การรักษาจะเป็นแบบประคับประคองอาการเท่านั้น ในสุนัขโตท้องเสียไม่รุนแรงอาจจะไม่ต้องรักษาหรือใช้ยาสุนัขสามารถหายได้เอง ในลูกสุนัขหรือสุนัขโตมีอาการท้องเสียรุนแรงจะทำการรักษาเบื้องต้นโดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย การให้สารน้ำเข้าเส้นเลือดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะช็อคจากการเสียน้ำและปรับสมดุลอิเล็กโทรไลด์ในร่างกาย การรักษาอาจจะใช้เวลานานเป็นสัปดาห์เนื่องจากลำไส้เกิดภาวะอักเสบ และอาจจะทำให้การดูดซึมอาหารได้ไม่ดี การจัดการเรื่องโภชนาการเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ในช่วงแรกที่สุนัขมีอาการอาเจียนและท้องเสียรุนแรง ควรงดน้ำและอาหารไปก่อนในช่วงแรก และให้สารน้ำเข้าทางเส้นเลือดแทน เพื่อให้ทางเดินอาหารได้มีการปรับสภาพก่อน หลังจากนั้นเมื่ออาการดีขึ้นควรเริ่มป้อนอาหารที่ย่อยง่าย หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาด เช่น อาหารเปียกในรูปแบบกระป๋องสูตรลำไส้ เป็นต้น ช่วงแรกอาจจะให้ทีละน้อย ๆ แต่ให้หลาย ๆ มื้อ จนทางเดินอาหารเริ่มกลับมาทำงานได้ปกติ จากนั้นจึงกลับมารับประทานอาหารปกติได้

ในขณะที่สุนัขป่วยอยู่ควรแยกออกจากสุนัขที่ปกติเพราะสุนัขที่ป่วยสามารถแพร่เชื้อไปยังสุนัขที่ปกติได้ รวมไปถึงเน้นความสะอาดโดยการล้างทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขป่วยเคยอยู่และชามน้ำ ชามอาหารที่เคยใช้ การป้องกันโรคควรเลี้ยงสุนัขในสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่เลี้ยงหนาแน่นเกินไป เน้นความสะอาด ควรมีพื้นที่ให้สุนัขปล่อยอุจจาะให้เป็นที่เป็นทางจะได้ไม่แหล่งแพร่เชื้อให้กับสุนัขตัวอื่น หมั่นพาสุนัขไปตรวจสุขภาพกับสัตว์แพทย์เป็นประจำ และได้รับวัคซีนอย่างถูกต้อง

โรคสำไส้อักเสบติดต่อที่เกิดจากไวรัสโคโรนามักจะทำให้สุนัขท้องเสียและอาเจียนเป็นหลัก เชื้อที่ก่อโรคสุนัขไม่สามารถก่อโรคในคน แม้แต่คนที่เลี้ยงสุนัข คลุกคลีกับสุนัข สัมผัสกับสุนัขเป็นประจำก็ตาม เนื่องจากไวรัสเป็นคนละสายพันธุ์กัน แต่อย่างไรก็ตามการรักษาสุขภาพทั้งเจ้าของและสุนัขเป็นเรื่องสำคัญ หากพบว่าสุนัขเริ่มป่วยหรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปควรพาสุนัขไปพบสัตว์แพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้หาสาเหตุของการเกิดโรคและรักษาได้ทันท่วงที ขณะนี้ข่าวการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นยังมีเรื่อยๆ ควรป้องกันตนเองโดยสามหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงไปบริเวณที่มีการระบาดของโรค

อ่านเพิ่มเติม ไวรัสโคโรนาในแมว

บทความโดย

สพ.ญ. จุฑามาศ อรรคฮาต
Jutamart Akkhahat
โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา
Petfriends Sriracha Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่