ประวัติสายพันธุ์
สุนัขพันธุ์ บูล เทอร์เรีย เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีนักสำรวจชื่อ James Hinks ได้ทำการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างสุนัขพันธุ์บูลด็อก (Bulldog) กับสุนัขพันธุ์โอลด์ อิงลิช เทอร์เรีย (Old English Terrier)
ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำสุนัขที่ทำการผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์ มาผสมพันธุ์กับสุนัขพันธุ์ไวท์ บูล เทอร์เรีย (White Bull Terrier) จึงได้สุนัขที่มีขนสีขาวล้วนทั้งตัว ซึ่งสุนัขที่ได้ทำการผสม 3 สายพันธุ์ ได้ถูกตั้งชื่อพันธุ์เป็นพันธุ์ ไวท์ คาวาเลียร์ (White Cavalier) เป็นสุนัขที่ได้รับความนิยมอย่างมากของชนชั้นสูง และทำให้สุนัขเป็นที่สนใจจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 สุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย ถูกนำมาเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก และได้รับความนิยมเป็นอย่างกว้างขวางในเวลาไม่นาน หลังจากนั้นสมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์สุนัข ในปี ค.ศ. 1885 ทำให้เป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะดารา นักการเมือง และบุคคลที่มีชื่อเสียง เฃ่น พลเอก จอร์จ สมิธ แพตตัน (S. Patton) เป็นพลเอกแห่งกองทัพบกสหรัฐ และนักแสดงหญิง Dolores Del Rio เป็นต้น
สุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย ไม่นิยมนำมาใช้เพื่อต่อสู้มากนัก แต่เนื่องจากพื้นฐานทางสายพันธุ์ที่แสดงออกจึงถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้ และสมาคม AKC ได้จัดอันดับความนิยมของสุนัข สุนัขพันธุ์นี้จะอยู่ในอันดับปานกลาง
ลักษณะทางกายภาพ
สุนัขพันธุ์ บูล เทอร์เรีย เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ มีลักษณะที่เด่นมากที่สุดคือ หัวมีลักษณะคล้ายรูปไข่ (Egg shaped) และตามีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม (Triangle shaped eyes) และลักษณะที่พบได้ทั่วไป คือบนสุดของหัวจะแบน เมื่อดูจากข้างหน้าตัวสัตว์ มีปากยื่นออกมายาวกว่าความยาวของหัวกะโหลกเล็กน้อย ขนาดเล็ก สีดำเข้ม และค่อนข้างลึก ลำตัวมีลักษณะแน่นและกลม โครงสร้างร่างกายแข็งแรง เป็นกล้ามเนื้อทั้งหมด หางค่อนข้างสั้น โคนหางอยู่ในระดับต่ำชี้ขนานกับพื้น มีส่วนสูงประมาณ 20-24 นิ้ว หรือ 51-61 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 44-85 ปอนด์ หรือ 20-38 กิโลกรัม
มีท่าทางการเดินมั่นคง คล่องแคล่ว และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นสุนัขสายนักสู้ (Gladiator of the canine race)
ขนของสุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย จะสั้น และหนา มีทั้งสีขาว (White), ดำ (Black), สีขาวแต้มดำ (White with black dots), และสีน้ำตาล (Brown)
อายุขัย
สุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 10-14 ปี
ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย ในขณะที่ตัวยังเล็กจะมีทั้งความกล้าหาญ ไร้ความกลัว และมีเสน่ห์ เป็นสุนัขที่ต้องการได้รับความสนใจ และถูกเอาใจใส่มากเป็นพิเศษมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น เป็นสุนัขที่จงรักภักดีต่อเจ้าของมาก รักครอบครัว และอาณาเขตโดยสัญชาตญาณตัวเอง มักจะคอยระวังคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านที่ไม่ใช่ครอบครัวเป็นอย่างมาก
สุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย มักจะมีความคิดว่าตัวเองใหญ่เท่าสุนัขพันธุ์เกรท เดน (Great Dane) และมีความงดงามเท่าม้าตัวผู้สีขาว (White stallion) อย่างไรก็ตามถือเป็นสุนัขที่รับมือยาก บางครั้งอาจหวาดระแวงเจ้าของได้ หากสุนัขไม่ได้รับความสนใจ
การฝึกให้เข้าสังคมตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขจึงมีความสำคัญมาก ต้องคอยกระตุ้นการฝึกสุนัขให้คงที่ และสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันสุนัขแสดงความเป็นเจ้าของตัวเอง ไม่ให้เอาแต่ใจตัวเอง และช่วยทำให้ลดความก้าวร้าวของสุนัขลงได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้สามารถอยู่กับสุนัขพันธุ์นี้ได้อย่างมีความสุข แต่บางครั้งอาจแสดงพฤติกรรมไม่เชื่อฟังได้
การเข้ากับเด็ก
เป็นสุนัขอารมณ์ร้ายคล้ายหมี (Bearish) และก้าวร้าว ทำให้ไม่เหมาะสมสำหรับนำมาเล่นกับเด็กเล็ก อย่างไรก็ตามหากได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี สามารถนำมาเล่นกับเด็กเล็กได้บ้าง ในเด็กที่โตแล้วเหมาะสมกับสุนัขพันธุ์นี้ได้มากกว่า เนื่องจากเด็กจะรู้วิธีการเข้าหา และเล่นกับสุนัขได้มาก
การฝึกเข้าสังคมตั้งแต่สุนัขยังเล็กมีความสำคัญมาก เพื่อลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวลง เกิดการปรับตัวมากขึ้น จะทำให้สามารถเข้ากับสุนัข หรือเด็กได้ดีขึ้น
การดูแล
การออกกำลังกาย
สุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย ควรออกกำลังกายประมาณ 30 นาทีต่อวัน ด้วยการเดินเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ในช่วงที่ยังเป็นลูกสุนัขจะมีพลังงานมาก และเป็นวัยที่ต้องการออกกำลังกายมาก สามารถให้สุนัขวิ่งเล่นรอบสนามหญ้าได้ เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีกล้ามเนื้อมาก ทำให้เหนื่อยง่าย และไม่ควรให้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน
นอกจากจะออกกำลังกายด้วยวิธีการเดินแล้ว ยังสามารถออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นได้ เช่น ให้สุนัขเล่นคาบของ หรือสร้างสถานการณ์กระตุ้นสุนัขให้รู้สึกได้ออกแรง เพื่อทำให้สุนัขลดพฤติกรรมก้าวร้าว และหลับง่ายขึ้นตอนกลางคืน
ถ้าหากสุนัขไม่ได้ออกกำลังกาย จะทำให้สุนัขวิ่งกระโดดเล่น หรือวิ่งเล่นในบ้านแทน อาจเกิดอันตรายต่อสุนัขได้ จากการลื่นล้ม หรือของใช้ภายในบ้านตกลงมากระแทกตัวสัตว์
อาหาร
ควรให้อาหารเม็ดที่มีสารอาหารสูง ปริมาณอาหารที่แนะนำสำหรับสุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย คือ 1-3 ถ้วยต่อวัน แบ่งให้ 2 มื้อ (ตอนเช้าและตอนดึก) เมื่อคุมอาหารให้เหมาะสม อาจเกิดอาการท้องแปรปรวนได้ในช่วงแรกของการคุมอาหาร เป็นสุนัขที่หวงอาหาร ขณะสุนัขกำลังกินไม่ควรไปแกล้ง หรือดึงชามอาหารออก เพราะจะทำให้โดนสุนัขกัดได้
ปริมาณอาหารที่ให้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อายุ, กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism), น้ำหนักตัว, และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน หากสุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรืออ้วน จากการไม่ออกกำลังกาย ซึ่งควรระวังเรื่องโครงสร้างของร่างกาย ทำให้มีนิสัยขี้เกียจได้
โรคประจำพันธุ์
สุนัขพันธุ์บูล เทอร์เรีย เป็นสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีช่วงอายุของชีวิตยืนยาวกว่าสุนัขพันธุ์อื่น มักไม่ค่อยมีอาการเจ็บป่วย หรือร่างกายไม่แข็งแรง แต่ในทุกสายพันธุ์จะมีโอกาสที่เกิดโรคจากความผิดปกติทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ หากซื้อมาจากฟาร์มเพาะพันธุ์ควรมีใบรับรองประวัติสายพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้
โรคที่พบได้บ่อย อ้างอิงจาก Bull Terrier Club of America และ Bull Terrier Rescue
- โรคระบบประสาท
- อาการวิ่งไล่วนหางตัวเอง (Spinning or Tail-chasing)
- โรคระบบกรระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
- โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
- โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
- ภาวะผิวกระดูกอ่อนตายและแตกออกจากการขาดเลือดในชั้นใต้กระดูกอ่อน (Osteochondritis Dissecans (OCD))
- กระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation)
- โรคระบบทางเดินอาหาร
- โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
- โรคลิ้นหัวใจไมตรัลเสื่อม (Myxomatous mitral valve disease)
- โรคระบบทางเดินหายใจ
- โรคกล่องเสียงเป็นอัมพาต (Laryngeal paralysis)
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะและไต
- โรคไตอักเสบทางพันธุกรรม (Hereditary nephritis)
- โรคตา
- โรคตาแห้ง (Kerrato conjunctivitis sicca, KCS)
- โรคต้อกระจก (Cataract)
- โรคต้อหิน (Glaucoma)
- โรคเลนส์ตาเลื่อน (Lens luxation)
- โรคหู
- โรคหูหนวกตั้งแต่กำเนิด (Congenital deafness)
- โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
- โรคเลือดฮีโมฟิเลีย (Haemophilia)
- โรคมะเร็ง (cancer)
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphosarcoma)
- มะเร็งชนิด mast cell
เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ