เจ้าของสุนัขและแมวหลาย ๆ บ้านน่าจะต้องมีประสบการณ์กับปัญหากวนใจอย่าง “เห็บ” มาบ้างไม่มากก็น้อย และเจ้าของหลาย ๆ ท่านก็คงอดใจไม่ได้ที่จะจับเห็บออกจากตัวน้องหมาแล้ว บี้เห็บ เหล่านั้นซะ
แต่บ่อยครั้งเรามักได้ยินคำห้ามที่ว่า “ไม่ควร บี้เห็บ เพราะจะทำให้เกิดเห็บตามมามากมายเป็นทวีคูณ” ทำไมถึงมีคำกล่าวเช่นนี้ แล้วจริง ๆ มันเป็นตามที่เค้าบอกกันมาหรือไม่ วันนี้ บ้านและสวน Pets จะพาไปรู้กันครับ
รู้จักเห็บ
เห็บ (tick) เป็นแมลงชนิดหนึ่งมีหลายสปีชีส์พบได้ทั่วโลกตามลักษณะภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไป สำหรับประเทศไทยเรา มักพบเห็บสุนัขสีน้ำตาล หรือ Brown dog tick มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhipicephalus sanguineus กินเลือดเป็นอาหาร ชอบอาศัยบนตัวสุนัข (จึงเรียกว่าเห็บสุนัขสีน้ำตาล) แต่ก็สามารถกัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นรวมถึงคนได้เช่นกัน นอกจากประเทศไทยแล้วเห็บชนิดนี้ สามารถพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อน เห็บสุนัขสีน้ำตาลมี 8 ขา ลำตัวแบนแต่เมื่อกินเลือดตัวจะพองขึ้น มีขนาดต่างกันไปตามระยะ (life stage) ของวงจรชีวิต (life cycle) ตั้งแต่ตัวเล็กเท่าหัวเข็ม จนถึงกินเลือดจนตัวเต่งเหมือนลูกเกด
วงจรชีวิตเห็บ
เมื่อเราเจอเห็บบนตัวสุนัขหน้าตาแบบหนึ่ง แล้วเราก็เจอเห็บบนตัวสุนัขหรือบนพื้นบ้านที่หน้าตาอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าสุนัขของเราติดเห็บต่างสปีชีส์กันนะครับ แต่เห็บที่พบอาจจะอยู่ในระยะแตกต่างกันทำให้มีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปวงจรชีวิตของเห็บสุนัขสีน้ำตาลแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ (egg) ระยะตัวอ่อนลาร์วา (larva) ระยะตัวอ่อนนิมฟ์ (nymph) และระยะตัวเต็มวัย (adult) ตัวอ่อนในระยะลาร์วาจะฟักออกมาจากไข่และขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขเป็นเวลาประมาณ 5-15 วัน หลังจากนั้นจะกระโดดลงมาจากตัวสุนัขเพื่อลอกคราบในสิ่งแวดล้อมแล้วโตเป็นระยะตัวอ่อนนิมฟ์ ตัวอ่อนในระยะนิมฟ์จะขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขต่ออีก 3-13 วัน (อาจจะเป็นสุนัขตัวใหม่ หรือเป็นสุนัขตัวเดิมก็ได้) แล้วลงมาลอกคราบในสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิมเพื่อเจริญเป็นเห็บตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยทั้งเห็บตัวเมียและเห็บตัวผู้จะกลับขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขอีกครั้งและเกิดการผสมพันธุ์กันบนตัวสุนัข หลังจากผสมพันธุ์เห็บตัวเมียจะกินเลือดจนอิ่ม ในระยะนี้เราจะพบเป็นเห็บตัวใหญ่อ้วนกลมแล้วเห็บตัวเมียจะลงจากตัวสุนัขเพื่อไปวางไข่ในสิ่งแวดล้อม โดยเห็บตัวเมียจะใช้เวลาในการพัฒนาจากเลือดในท้องไปเป็นไข่ และใช้เวลาวางไข่ประมาณ 15-18 วัน สามารถวางไข่ได้มากถึง 7,000 ฟอง หรือประมาณ 4,000 ฟองโดยเฉลี่ย เมื่อตัวเมียวางไข่เสร็จเรียบร้อยตัวเมียตัวนั้นจะแห้งตายจากไป ไข่ของเห็บจะถูกปกป้องจากสิ่งแวดล้อมด้วยของเหลวคล้ายขี้ผึ้งที่เห็บตัวเมียผลิตขึ้นมาและใช้เวลาประมาณ 6-23 วันจะฟักออกเป็นลูกเห็บตัวเล็ก ๆ อีกครั้ง
จะเห็นได้ว่า เห็บตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์และดูดเลือดจนอิ่มแล้วเท่านั้น จึงมีการพัฒนาเกิดไข่ขึ้นในท้อง การที่เราบี้เห็บที่ไม่ใช่ตัวเมียหรือเป็นตัวเมียที่ไม่มีไข่อยู่ในท้องจะพบเป็นเลือดออกมาเท่านั้นไม่มีไข่ โอกาสที่จะพบตัวเมียซึ่งพัฒนาจากเลือดที่กินไปเป็นไข่ในท้องแล้วนั้นน้อยเพราะตัวเมียต้องลงจากตัวสุนัขมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมและใช้เวลาในการสร้างไข่ขึ้นมาในท้อง หรือถ้ามีไข่แตกออกมาพร้อมเลือดที่เราบี้ ไข่เหล่านั้นก็มีโอกาสในการเจริญเป็นเห็บน้อยมาก เพราะไม่มีสารห่อหุ้มไข่ที่คอยปกป้องไข่จากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การบี้เห็บจึงไม่ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ต่อของเห็บเป็นทวีคูณเหมือนที่เขาว่ากัน
นอกจากนี้ ความชื้นและอุณหภูมิยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อวงจรชีวิตของเห็บ เห็บจะใช้เวลาตั้งแต่ฟักออกมาจากไข่จนกลายเป็นเห็บที่ออกไข่ได้ประมาณ 2 เดือนโดยเฉลี่ย แต่ในอุณหภูมิที่สูงขึ้นเห็บจะใช้เวลาในช่วงระยะต่างๆ น้อยลง วงจรชีวิตของเห็บจะเร็วขึ้น รอบการผลิตไข่ก็เร็วขึ้น การแพร่พันธุ์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเห็บจะมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น อยู่ในระยะต่าง ๆ นานขึ้น พบว่าเห็บสามารถทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีพอสมควร โดยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เป็นระยะเวลา 3-5 เดือนในแต่ละระยะของชีวิตโดยไม่มีอาหาร (เลือด)
โรคที่มากับเห็บ
เห็บไม่ได้สร้างแค่ความรำคาญแก่เจ้าของและตัวสุนัข หรือทำให้เสียเลือดไปจากการถูกเห็บกัดเท่านั้น แต่การถูกเห็บกัดจำนวนมากอาจทำให้เกิด ภาวะโลหิตจาง และเห็บเองยังสามารถเป็นตัวกลางของโรคต่าง ๆ ได้มากมาย เราเรียกโรคที่มีการนำโดยเห็บว่า “Tick-born disease” โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่สำคัญในสุนัข อย่าง โรคพยาธิเม็ดเลือด ที่ทำให้เกิดอาการซึม ไม่กินอาหาร เยื่อเมือก เช่น เหงือก มีสีซีดจากภาวะโลหิตจาง ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลจากเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลาย และอาจมีอาการรุนแรง เช่น อาการทางระบบประสาท ภาวะไตวายเฉียบพลัน จนถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ สุนัขจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อที่เฉพาะต่อเชื้อโรคแต่ละชนิด และอาจจะต้องทำการถ่ายเลือด (blood transfusion) ในรายที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรง เจ้าของจึงควรรีบพาสัตว์ป่วยไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เชื้อโรคเหล่านี้มักมีการเจริญอยู่ที่บริเวณต่อมน้ำลายของเห็บ บางเชื้อสามารถถ่ายทอดจากแม่เห็บที่มีเชื้อไปยังไข่ทำให้ลูกเห็บที่ฟักออกมามีเชื้อโรคดังกล่าวตามไปด้วย สุนัขจะได้รับเชื้อเหล่านี้ผ่านการกัดดูดเลือดของเห็บและบางครั้งอาจติดผ่านการที่สุนัขกินเห็บที่มีเชื้อเข้าไปก็ได้ ในบ้านที่เลี้ยงสุนัขร่วมกันหลายตัว หากพบว่ามีสุนัขที่ป่วยเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดแล้วก็สามารถถ่ายทอดเชื้อโรคผ่านทางเห็บไปยังสุนัขตัวอื่น ๆ ของบ้านได้เช่นกัน โรคพยาธิเม็ดเลือดที่นำโดยเห็บในสุนัข เช่น
- Anaplasmosis
- Babesiosis
- Ehrlichiosis
- Hepatozoonosis,
- Rickettsiosis
ไม่ใช่แค่เพียงสุนัขเท่านั้นที่สามารถติดเชื้อโรคจากเห็บได้ เห็บหลายชนิดนำเชื้อโรคที่สามารถติดมาสู่คนได้ด้วย โดยเฉพาะเจ้าของสุนัขซึ่งมีความใกล้ชิดและอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกับสุนัขก็อาจได้รับเชื้อโรคจากเห็บเมื่อโดยเห็บกัดเช่นกัน โรคในคนที่นำโดยเห็บ เช่น
- โรคลายม์ (Lyme Disease)
- โรคไข้เห็บ (Ehrlichiosis)
- โรคทูลาริเมีย (Tularemia)
ผู้ที่โดนเห็บกัดมักมีอาการที่ผิวหนังเช่น จุดเลือด แดง คัน ส่วนมากมักเป็นอาการเฉพาะที่ แต่บางครั้งอาจมีอาการแพ้ มีผื่นขึ้น เป็นแผลพุพอง หรือถึงขั้นหายใจติดขัดในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงได้ จึงควรรีบพบแพทย์หากพบความผิดปกติดังกล่าว
เราควรกำจัดเห็บยังไง
การกำจัดเห็บต้องทำทั้งบนตัวสุนัขและในสิ่งแวดล้อม เมื่อเราดูวงจรชีวิตของเห็บตัวหนึ่ง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะพบว่าเห็บตั้งแต่ระยะตัวอ่อนลาร์วา ระยะตัวอ่อนนิมฟ์ และระยะตัวเต็มวัย จะขึ้นไปอยู่บนตัวสุนัขแค่เพื่อกินเลือดและผสมพันธุ์เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นเห็บจะลงจากตัวสุนัขมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อลอกคราบและวางไข่ ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ว่าเหล่านี้ก็คือบริเวณที่สุนัขอาศัยอยู่ อาจจะเป็นในตัวบ้านเรา เช่น ที่นอน โซฟา ห้องน้ำ หรือนอกบ้านเราก็ได้ โดยเฉพาะในซอกมุมต่าง ๆ ของบ้าน จึงพบว่า ต่อให้เรากำจัดเห็บบนตัวสุนัขหมดไปแล้ว ไม่นานก็จะมีเห็บกลับขึ้นมาบนตัวสุนัขใหม่อีกครั้ง
การดึงเห็บออกโดยตรงจากตัวสุนัขเป็นวิธีที่เจ้าของส่วนมากนิยมทำ เมื่อการบี้เห็บไม่ได้ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ของเห็บเป็นเท่าทวีคูณตามที่อธิบายไปแล้ว แต่การบี้เห็บก็ทำให้เกิดความสกปรกและที่สำคัญคือ อาจเป็นการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อยู่ในตัวเห็บ โดยเฉพาะเชื้อโรคหลายชนิดที่เจริญอยู่ในต่อมน้ำลายของเห็บ หากต้องการกำจัดเห็บที่ดึงออกมา สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่หย่อนเห็บลงไปในขวดที่ใส่น้ำเปล่าแล้วปิดฝา ไม่นานเห็บเหล่านี้ก็จะตายไป หรือสามารถใช้เป็นน้ำยาสำหรับกำจัดเห็บใส่ขวดแก้วหรือขวดน้ำไว้ก็ได้เช่นกัน
นอกจากการกำจัดเห็บบนตัวสุนัขด้วยการดึงเห็บออกแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ยาในท้องตลาดเพื่อใช้ในการกำจัดเห็บที่อยู่บนตัวสุนัขอีกหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบของยาหยดหลัง ยากิน ปลอกคอ หรือแชมพูสำหรับอาบน้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนประกอบของยาที่ใช้ สารเคมี วิธีการใช้ ระยะเวลาในการใช้ ราคาและข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป
ส่วนการกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการกำจัดเห็บที่อยู่บนตัวสุนัขนั้น เจ้าของสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่สามารถฆ่าตัวอ่อน ไข่ และตัวเต็มวัยของเห็บได้มาทำความสะอาดบริเวณบ้านและบริเวณที่นอนของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาถูพื้น น้ำยาที่สามารถใช้ราดพื้นหรือฉีดพ่นในซอกมุมต่าง ๆ ของบ้านที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งที่อยู่ของเห็บได้ หรือการซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก
การป้องกันดีที่สุด
การติดเชื้อโรค ความเจ็บป่วยที่มีโอกาสเสียชีวิต การเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา วินิจฉัย และกำจัดเห็บเป็นผลพวงต่อเนื่องจากปัญหาเห็บตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหานี้คือการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเลี้ยงสุนัขอยู่แค่ในบ้านตลอดเวลาหรือมีการพาออกไปวิ่งเล่นข้างนอกล้วนแต่จำเป็นจะต้องใช้ ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันเห็บหมัด อย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพราะการติดเห็บแค่เพียงตัวเดียวโดยที่สุนัขของเราไม่ได้รับการป้องกันใด ๆ มาก่อน เมื่อโดนเห็บกัดและถ้าเห็บตัวนั้นมีเชื้อโรคในปริมาณที่มากพอก็สามารถทำให้สุนัขของเราป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการนำโดยเห็บได้ รวมถึงการติดโรคของคนจากเห็บด้วยเช่นกัน
เพื่อให้เหมาะสมและปลอดภัยกับสุนัขของเรามากที่สุด เจ้าของทุกท่านสามารถขอคำปรึกษาในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับป้องกันและกำจัดเห็บหรือสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคที่นำโดยเห็บได้จากสัตวแพทย์ครับ
บทความโดย
น.สพ. วริทธิ์วงศ์ ลิขิตชัยกุล
Waritwong Likitchaikul, DVM
โรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดา
Jusco Ratchada Animal Hospital