ภาวะหลอดเลือดหัวใจเกิน หรือ Patent Ductus Arteriosus (PDA) เกิดจากหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) กับหลอดเลือดแดงพัลโมนารี่ (Pulmonary artery) ไม่ปิดลง โดยความผิดปกตินี้เป็นความผิดปกติของเส้นเลือดตั้งแต่กำเนิด
หลอดเลือดทั้งสองเส้นนี้ เป็นหลอดเลือดที่ส่งเลือดออกจากหัวใจ โดยภาวะการมีอยู่ของเส้นเลือด ductus arteriosus สามารถพบได้เป็นปกติเมื่อลูกสัตว์ยังอยู่ในครรภ์ ในขณะที่ปอดยังไม่ทำงาน (ยังไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง) โดยสัตว์ที่อยู่ในครรภ์จะได้รับออกซิเจนผ่านทางรก ซึ่งมีหลอดเลือดดักตัสอาร์เทอริโอซัส (Ductus arteriosus) เป็นหลอดเลือดหลักในการนำเลือดจากหัวใจผ่านข้ามปอด (ซึ่งในขณะเป็นตัวอ่อนยังไม่ทำงาน) ไปยังหลอดเลือดแดง aorta ที่ส่งเลือดแดงไปเลี้ยงทั่วร่างกาย แต่ภายหลังการคลอด ปอดเริ่มมีการทำงานเส้นเลือดที่เป็นทางเชื่อมไปยังหลอดเลือดแดง aorta คือหลอดเลือด Ductus arteriosus เปิดอยู่ ไม่ฝ่อหายไป จึงเกิด ภาวะที่เรียกว่า Patent ductus arteriosus หรือ ภาวะหลอดเลือดหัวใจเกิน
ภายหลังลูกสัตว์คลอดและมีการหายใจครั้งแรก หลอดเลือด Ductus arteriosus จะถูกกระตุ้นให้หลอดเลือดปิดลง โดยหลอดเลือดนี้ จะตีบลงกลายเป็นเอ็น (ligament) ที่ยึดหลอดเลือดทั้งสอง การปิดของหลอดเลือด Ductus arteriosus ทำให้การหมุนเวียนเลือดมีการผ่านเข้าปอดและได้รับออกซิเจนจากปอด ในภาวะปกติการหมุนเวียนเลือดจากร่างกายจะเข้าสู่หัวใจห้องบนขวาต่อไปที่ห้องล่างขวาแล้วส่งต่อผ่านหลอดเลือด Pulmonary artery ไปยังปอดเพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจน แล้วไหลกลับเข้าหัวใจอีกครั้งโดยผ่านหลอดเลือด Pulmonary vein ไปยังหัวใจห้องบนซ้าย ต่อไปที่หัวใจห้องล่างซ้าย และส่งเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงผ่านหลอดเลือด aorta ไปยังร่างกาย ทำให้ในภาวะปกติหัวใจห้องซ้ายมีความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจและความดันมากกว่าหัวใจห้องขวา
การที่หลอดเลือด Ductus arteriosus ไม่ปิดลงหลังสัตว์คลอดออกมา ทำให้เลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงจากหลอดเลือด aorta
ไหลย้อนกลับไปยังหลอดหลอด Pulmonary artery ผ่านหลอดเลือด Ductus arteriosus ที่เปิดอยู่ ทำให้เลือดที่ไหลไปยัง Pulmonary artery ถูกนำเข้าไปยังปอดอีกครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจน และเลือดที่ส่งไปยังร่างกายมีปริมาณออกซิเจนลดลง ส่งผลทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวและทำงานมากขึ้น เพื่อให้ออกซิเจนเพียงพอต่อร่างกาย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดที่พบได้มากที่สุดในสุนัข
พันธุ์สัตว์ที่มีความเสี่ยงในการเกิด Patent Ductus Arteriosus ตั้งแต่กำเนิด
สุนัข (สุนัขเพศเมียพบเจอมากกว่าสุนัขเพศผู้)
– มอลทีส (Maltese)
– ปอมเมอเรเนียน (Pomeranian)
– ยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย (Yorkshire terriers)
– เชทแลนด์ ชีพด็อก (Shetland Sheepdog)
– พุดเดิ้ลทอย (Toy Poodle)
– มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ (Miniature schnauzers)
– เยอรมัน เชพเพิร์ด (German Shepherds)
– ชิวาวา (Chihuahua)
– บิชอง ฟริเซ่ (Bichon Frisé)
– คีชอน (Keeshound)
อาการแสดงของโรคที่พบ
ในสัตว์ที่มีการเปิดของหลอดเลือด Ductus arteriosus เพียงเล็กน้อยจะไม่แสดงอาการของโรค แต่ในสัตว์ที่มีการเปิดของหลอดเลือด Ductus arteriosus ขนาดใหญ่จะมีการแสดงอาการของโรคหัวใจเกิดขึ้น ได้แก่
– เสียงฟู่ของหัวใจดังแบบต่อเนื่องคล้ายเสียงเครื่องจักร (Continuous machinery heart murmur)
– หายใจลำบาก (Difficulty breathing)
– ไอ (Cough) , อ่อนเพลีย (Weakness)
– เหงือกและผิวหนังม่วง (Cyanosis หรือ Blueness)
– ขาหลังอ่อนแรง (Collapse of hind legs)
– การเจริญเติบโตช้า (Stunted in growth)
– หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmia)
– ชีพจรเต้นผิดปกติ (Abnormal pulses)
– เหนื่อยง่าย (Exercise intolerance)
– ภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary Edema)
– หัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว (Left ventricular hypertrophy)
– หัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลว (Left sided congestive heart failure)
– หัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว (Right ventricular hypertrophy)
การวินิจฉัยโรค
ในเบื้องต้นการวินิจฉัยสำหรับสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยด้วยภาวะ Patent ductus arteriosus (PDA) คือ พบมากในสัตว์อายุน้อยกว่า 1 ปี
และจากการตรวจวินิจฉัยควรจะประกอบด้วย
– การตรวจร่างกายเบื้องต้น (Physical examination) เมื่อฟังเสียงหัวใจจะได้ยินเสียงหัวใจลักษณะ Continuous heart murmur คือ ได้ยินเสียงฟู่ตลอดเวลาในช่วงที่หัวใจบีบตัวและคลายตัว
– การตรวจโลหิตวิทยา (Hematology) ค่าชีวเคมี (Biochemistry) และการตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อตรวจดูอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการไหลเวียนเลือดผิดปกติและเตรียมตัวผ่าตัด
– การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูหัวใจและปอด
– การตรวจหัวใจด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า (Electrocardiogram : ECG) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจ
– การตรวจความดันเลือด (Blood Pressure)
– การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อตรวจดูการหนาตัวของผนังหัวใจ และประสิทธิภาพการส่งเลือดไปยังร่างกายและใช้ Doppler echocardiography เพื่อดูทิศทางและความเร็วการไหลของเลือด ช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งและขนาดของหลอดเลือด Ductus arteriosus
การรักษา
จุดมุ่งหมายของการรักษา Patent ductus arteriosus คือหยุดการไหลเวียนของเลือดจากหลอดเลือด aorta ไหลย้อนกลับไปยังหลอดเลือด Pulmonary artery ซึ่งจำเป็นต้องมีศัลยแพทย์สัตวแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ผ่าตัดแก้ไขให้ เมื่อสัตว์ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิด ภาวะ petent ductus arteriosus แล้ว ก่อนการพิจารณารับการผ่าตัดแก้ไขควรประเมินตวามพร้อมสุขถาพโดยรวมของสัตว์ป่วยก่อน จำเป็นต้องได้รับการบำบัดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อสัตว์มีอาการทรงตัวแล้วจะต้องเข้ารับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด โดยอายุที่เหมาะสมคือ 7- 18 สัปดาห์
การผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจ Patent Ductus arteriosus มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
– วิธี Surgical Ligation เป็นวิธีดั้งเดิมที่ยังนิยมใช้อย่างแพร่หลาย โดยผ่าเปิดทรวงอก (Chest surgery) เพื่อผูกปิดหลอดเลือด Ductus arteriosus โดยตรง ประเทศไทย ณ ขณะนี้นิยมทำวิธีนี้มากกว่า
– วิธี Transvenous Catheterization เป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือทำการปิดรูของหลอดเลือด Ductus arteriosus โดยใช้ Transarterial coil หรือ Ductal occluder device หรือ Amplatz Canine Ductal Occluder (ACDO) อุดรูของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งวิธีนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเนื่องจากอุปกรณ์มีราคาสูงมากและจำเป็นต้องใช้เอ็กซเรย์ภาพเคลื่อนไหว (Fluorocopy) ร่วมด้วย
ความสำเร็จในการผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจ Patent Ductus arteriosus มีโอกาสสำเร็จสูงมากในสัตว์ที่ไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) และสัตวแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมีประสบการณ์ การพยากรณ์โรคได้เร็วช่วยทำให้สัตว์มีโอกาสสูงมากยิ่งขึ้น แต่สัตว์ที่มีภาวะหัวใจทำงานผิดปกติและไม่สามารถกลับมาทำงานแบบเดิมได้ หลังได้รับการผ่าตัด จำเป็นต้องได้รับยาโรคหัวใจในอนาคต
การดูแลหลังการผ่าตัด และผลจากการผ่าตัด
– ให้สัตว์งดการออกกำลังกายหลังได้รับการผ่าตัดอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
– สังเกตบริเวณรอบแผล เนื่องจากอาจเกิดแผลติดเชื้อได้ เช่น รอยแดง, บวม, หรือหนอง
– ทำการตัดไหมเย็บหลังได้รับการผ่าตัดแผลใน 10-14 วัน
– ตรวจหัวใจด้วยวิธี Echocardiogram หลังได้รับการผ่าตัด 4-6 เดือน
บทความโดย
อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital
น.สพ. วิจิตร สุทธิประภา (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wichit Sutiprapa, DVM, MS, DTBVS
หน่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Surgery Unit, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen