Exotic pets หรือ สัตว์แปลก หรือ สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน รองจากน้องหมาน้องแมว วันนี้ บ้านและสวน Pets มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เลี้ยง Exotic pets ชื่อดังของเมืองไทย คุณซัน – อริยะ อินทร์กง ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองน่ารัก ๆ ของเหล่าบรรดา Exotic pets ที่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด
คำว่า Exotic pets แปลความหมายได้ว่า Exotic หมายถึง แปลกใหม่ เมื่อรวมกับคำว่า Pet ที่แปลว่า สัตว์เลี้ยง จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “สัตว์แปลก” และอีกหนึ่งคำที่มักใช้เรียก Exotic pets คือคำว่า “สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่นอกเหนือจากน้องหมา น้องแมว และสัตว์เลี้ยงในภาคปศุสัตว์ (สุกร โค และกระบือ เป็นต้น)
สัตว์แปลกที่เป็นสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันจึงประกอบไปด้วยสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่กลุ่มแมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน นก ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งปริมาณผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกก็ได้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ
จากความชอบในวัยเด็กสู่การเป็นผู้เลี้ยงสัตว์แปลกบนระเบียง
“ผมชอบตัวละครสัตว์ประหลาดในการ์ตูน และภาพยนตร์ ที่ได้ดูตั้งแต่วัยเด็กแล้วครับ” คุณซันกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความชอบสัตว์แปลก “และมีความคิดว่า เมื่อผมโตขึ้นอยากมีสัตว์เหล่านี้เลี้ยงไว้ที่บ้านด้วย”
จากนั้น ความฝันของหนุ่มน้อยก็กลายเป็นจริง เมื่อคุณซันรับกิ้งก่าเครา หรือมังกรเครา (bearded dragon) ซึ่งเป็นสัตว์แปลกตัวแรกเข้ามาในบ้าน “ตอนนั้น ผมจำได้ว่า ผมได้เริ่มศึกษาข้อมูลจากเว็บบอร์ด ที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์แปลกเอาไว้” เขากล่าวจึงจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงสัตว์แปลกตัวแรก
สัตว์แปลกไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงยอดนิยม อย่างน้องหมา น้องแมว ที่ต้องการอาหารอย่างครบถ้วน และเหมาะสม กรงที่เฉพาะเจาะจงกับการใช้ชีวิต และพื้นที่ที่ปลอดภัย โดยความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงถึงค่าใช้จ่ายของเจ้าของ ที่จะสามารถทำให้ชีวิตน้อง ๆ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และมีความสุข
ความสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนนำสัตว์แปลกเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน คุณซันกล่าวว่า “คือความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยไม่จำกัดแค่ผู้เลี้ยงสัตว์แปลก แต่ยังหมายรวมถึงผู้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิด การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงให้ถี่ถ้วน เปรียบเสมือนเราได้ทำความรู้จักกับเขาก่อน ที่จะพาพวกเขาเข้ามาเป็นสมาชิกในการดูแลของเรา”
จากกิ้งก่าเคราตัวแรก ปัจจุบัน คุณซันดูแลสัตว์แปลกทั้งหมด 12 ชนิด รวม 15 ตัว โดยแบ่งพื้นที่บริเวณระเบียงบ้านทั้งหมดให้กลายเป็นที่อยู่ของน้อง ๆ เหล่านี้ จนกลายเป็นที่มาของชื่อที่คุณซันใช้ในสื่อออนไลน์ว่า BalconZoo (balcon มาจากคำว่า balcony แปลว่า ระเบียง) และชื่อนี้ยังโด่งดังมากในแวดวงผู้เลี้ยงสัตว์แปลก
“การดูแลสัตว์แปลกเหล่านี้อาจไม่ได้ใช้เวลามากเท่ากับการดูแลน้องหมาน้องแมว แต่เราต้องเข้าใจพวกเขาครับ อย่างกลุ่มกิ้งก่าที่ต้องการอาบแดด บ่อน้ำ และกิ่งไม้ เราก็จำเป็นต้องเตรียมสิ่งจำเป็นเหล่านี้ให้พวกเขาด้วย” คุณซันเล่า
สัตว์แปลกยังคงความเป็นสัตว์ป่าตามธรรมชาติ
เนื่องจากสัตว์แปลกเกือบทุกชนิดเพิ่งกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้ไม่นาน และบรรพบุรุษทั้งหมดเคยเป็นสัตว์ป่ามาก่อน ดังนั้น สัตว์แปลกส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถฝึกได้เหมือนสุนัข
คุณซันอธิบายว่า “เราสามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ครับ พวกเขาจะจดจำกลิ่นของเจ้าของได้ และไม่ทำร้ายเรา อย่างไรก็ตาม สัตว์บางตัวก็ยังคงพฤติกรรมสัตว์ป่าตามธรรมชาติ อย่างคุณอาทิตย์ (กิ้งก่าอีกัวน่าสีแดงตัวเขื่องของคุณซัน) ก็ยังจ้องจะกัดผมทุกครั้งที่ผมจะเข้าไปจับตัว”
ด้วยความเป็นสัตว์ป่า และบางชนิดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผู้เลี้ยงควรศึกษาเรื่องอนุสัญญาไซเตส (CITES) ที่ว่าด้วยการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชพรรณระหว่างประเทศ ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของสัตว์ป่าและพืชพรรณ
นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยด้วย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่กำหนดไว้ว่าสัตว์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นชนิดพันธุ์ที่ห้ามล่าและมีไว้ในครอบครอง นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถซื้อขาย และนำมาเลี้ยงได้
ที่ผ่านมา เราเคยเห็นตามหน้าสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับผลกระทบของสัตว์แปลกที่เคยเป็นสัตว์เลี้ยง หลุดหรือถูกปล่อยสู่ธรรมชาติด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จากนั้นสัตว์แปลเหล่านั้นก็ได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสังคมโดยรอบ เพราะสัตว์แปลกเหล่านี้เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species)
“ส่วนใหญ่ สัตว์แปลกที่พบตามธรรมชาติเกิดจากผู้เลี้ยงเอาไปปล่อยและหลุดออกจากกรงเลี้ยงด้วยเหตุผลต่าง ๆ ครับ เมื่อสัตว์เหล่านี้หลุดเข้าสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว มักจะไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ จึงทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างไร้การควบคุม และอาจร้ายแรงถึงขั้นรุกรานชนิดพันธุ์ท้องถิ่น” คุณซันอธิบายถึงผลกระทบของการปล่อยสัตว์แปลกสู่ธรรมชาติ
สัตว์แปลกแต่น้อง ๆ ไม่แปลก
คุณซันกล่าวเสริมว่า “สัตว์แปลกก็ต้องการการดูแลเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ไม่อยากให้มองว่า เห็นคนอื่นเลี้ยงแล้วอยากเลี้ยงตาม โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลก่อนเลี้ยง”
สัตว์เลี้ยงทุกตัวต่างมีความน่ารักเป็นของตัวเอง และเมื่อเราตัดสินใจรับสัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นสมาชิกในบ้านแล้ว พวกเขาสมควรได้รับการดูแลที่ดีจากเราด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน กลุ่มคนที่เลี้ยงสัตว์แปลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นสังคมของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกในชนิดเดียวกัน เช่น กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน กิ้งก่า เต่าบก งู สัตว์ปีก นกสวยงามชนิดต่าง ๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งกระต่าย สัตว์ฟันแทะ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อย่างกบสวยงาม เป็นต้น
ดังนั้น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับน้อง ๆ สัตว์แปลก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก รวมไปถึงโรงพยาบาลสัตว์ต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ก็ยังมีคลินิกเฉพาะทางสำหรับ Exotic pets ที่เจ้าของสามารถพาน้อง ๆ ไปตรวจสุขภาพ และรักษาได้เหมือนกับน้องหมาน้องแมว
“ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมรู้สึกว่า สัตว์แปลกก็สามารถมอบความสุขทางใจได้เหมือนกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ครับ พวกเขาช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง และช่วยให้เราเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น” คุณซันกล่าว
ในความเป็นสังคม Pets Humanization ไม่ว่าเราจะเลี้ยงสัตว์ชนิดใด ก็ควรเริ่มต้นด้วยความรับผิดชอบบวกกับความพร้อม เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีต่อสัตว์เลี้ยง และไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมโดยรอบ
การศึกษาข้อมูลของชนิดและสายพันธุ์เป็นวิธีการเริ่มต้นทำความรู้จักสัตว์เลี้ยงที่ง่ายที่สุด ก่อนจะตัดสินใจรับหนึ่งชีวิตเข้ามาดูแล เพราะจะเป็นการประเมินตัวเองไปในตัวด้วยว่า เราจะสามารถดูแลพวกเขาได้ตลอดอายุขัย หรือไม่ และไม่เกิดปัญหาสัตว์จรตามมา
ภาพถ่าย อริยะ อินทร์กง
สามารถติดตาม BalconZoo ได้ทุกช่องทาง
เฟซบุ๊ก: https://www.facebook.com/BalconZoo
Youtube: https://www.youtube.com/@BalconZoo
Tiktok: BalconZoo
Instagram: BalconZoo
เรื่องอื่น ๆ ที่น่านใจ เรื่องราวของ Exotic Pet จากสัตวแพทย์ผู้รักษามาแล้วสารพัดสัตว์