บุคลิกภาพของสุนัข เป็นสิ่งที่กำหนดให้สุนัขแต่ละตัวมีนิสัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่อยู่คนละบ้าน สุนัขที่เลี้ยงในบ้านเดียวกัน หรือแม้แต่สุนัขคอกเดียวกัน ก็มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันได้
บุคลิกภาพของสุนัข มีอยู่จริงหรือไม่ อย่างไร เรามาดูรายละเอียดกันครับ
บุคลิกภาพของสุนัขเป็นเรื่องที่นักพฤติกรรมสัตว์ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพบเห็นได้จากการศึกษาวิจัย และพยายามที่จะนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ เพื่อมาอธิบายลักษณะนิสัย หรือบุคลิกภาพของสุนัข
อย่างไรก็ตาม การศึกษาส่วนใหญ่มักอ้างอิงต้นแบบจากการศึกษาพฤติกรรมในมนุษย์เป็นหลัก โดยในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพในด้านต่าง ๆ ของสุนัขที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไป
อย่างเช่นในรูปแบบนี้ ใช้การเทียบเคียงกับ 5 บุคลิกภาพหลักในมนุษย์ที่เรียกว่า Five Factor Model (FFM) หรือ Big 5 แต่สำหรับสุนัขจะใช้การเทียบเคียงได้ 4 ด้าน ประกอบด้วย
Energy เทียบเคียงกับ Extraversion หรือการเปิดตัว การชอบเข้าสังคม ชอบการพบปะผู้คน ชอบอยู่ในกลุ่ม และเป็นคนเปิดเผยตนเอง
Affection เทียบเคียงกับ Agreeableness หรือความเป็นมิตร หรือแนวโน้มที่จะตามผู้อื่น ชอบที่จะร่วมมือ ชอบความกลมกลืนทางสังคม และเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น
Emotional reactivity เทียบเคียงกับ Neuroticism หรือความไม่มั่นคงทางอารมณ์ หรือแนวโน้มการเกิดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงลบ และความบกพร่องในการปรับสภาวะอารมณ์ของตนเอง
Intelligence เทียบเคียงกับ Openness/Intellect หรือการเปิดรับประสบการณ์ เกี่ยวกับกระบวนการทางปัญญา เกี่ยวข้องกับจิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์
โดยสุนัขแต่ละตัวจะแสดงบุคลิกภาพต่างกันออกไปในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา ยกตัวอย่างกรณีศึกษา เช่น สุนัขแสดงภาวะอารมณ์เชิงลบระดับรุนแรง ก็มีความเป็นไปได้ว่า สุนัขมีบุคลิกภาพด้าน Emotional reactivity สูง จึงมีแนวโน้มที่จะแสดงอารมณ์เชิงลบได้มากกว่าสุนัขตัวอื่น ๆ
ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มได้จำแนกบุคลิกภาพของสุนัขไว้ 5 ด้าน ได้แก่
- การความสามารถในการเข้าสังคม (Extraversion)
- ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism)
- ความมั่นใจในตัวเอง (Self-assuredness/motivation)
- ความสามารถในการฝึก (Training focus)
- ความเป็นมิตร (Amicability)
โดยสุนัขแต่ละตัวจะแสดงออกในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ในระดับที่แตกต่างกันออกไป ทำให้กลายเป็นบุคลิกภาพเฉพาะของสุนัขแต่ละตัว
ที่ผ่านมา การศึกษาเรื่องบุคลิกภาพของสุนัขมีจุดที่น่าสนใจคือ การศึกษาแต่ละครั้งไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสายพันธุ์ เนื่องจาก การศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์สุนัขพบว่า บุคลิกภาพของสุนัขไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ในขณะที่สุนัขสายพันธุ์เดียวกัน กลับพบบุคลิกภาพที่แตกต่างกันได้มากกว่า
ดังนั้น การนำปัจจัยเรื่องสายพันธุ์เข้ามาอยู่ในเกณฑ์การพิจารณาบุคลิกภาพของสุนัข จึงอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้สูง
โดยสรุปแล้ว การศึกษาเรื่องบุคลิกภาพของสุนัขยังต้องศึกษาวิจัยอีกมาก ซึ่งข้อมูลปัจจุบันที่ได้ศึกษาไว้แล้ว เราทราบเพียงว่า สุนัขแต่ละตัวมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน แต่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า บุคลิกภาพของสุนัขประกอบไปด้วยด้านใดบ้าง
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเจ้าของทุกคนคือ เราต้องเข้าใจว่า สุนัขมีบุคลิกภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเป็นสิ่งที่ทำให้สุนัขมีนิสัยแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อสุนัขบางตัวแสดงพฤติกรรมเชิงลบออกมา อาจมีความเป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านบุคลิกภาพ
โดยบุคลิกภาพของสุนัขไม่สามารถแก้ไขด้วยการฝึกได้ แต่เจ้าของจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ร่วมกับการใช้ยา เพื่อช่วยปรับระดับของสารเคมีในสมอง
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อสุนัขแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เจ้าของจึงควรเริ่มต้นจากการพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และวางแผนการบำบัดรักษา ซึ่งบางกรณีอาจต้องใช้ยาประกอบการรักษาด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
บทความโดย อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD
Faculty of Veterinary Science Mahidol University
- Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: ทำไมสุนัขบางพันธุ์ถึงอินดี้มากกว่าพันธุ์อื่น