สุนัขพันธุ์เบอร์นี เมาน์เทนด็อก

สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก: ลักษณะประจำสายพันธุ์ นิสัย และการดูแล

สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีความฉลาด สง่างาม และมีความเป็นสุนัขกีฬาของสุนัขกลุ่มภูเขา

ประวัติ สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก

เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก (Bernese Mountain Dog) มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดเป็นสุนัขหนึ่งในสี่ของสุนัขภูเขาสวิต (Swiss Sennenhund) ซึ่งถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นโดยมีชาวโรมันนำสุนัขกลุ่มโมลอสเซอร์ (Molosser) ผสมกับสุนัขที่นำมาใช้ในสงครามบนเทือกเขาแอลป์สวิต (Swiss Alps)

หลังจากนั้นนำลูกที่ได้ไปผสมกับสุนัขพันธุ์พื้นเมือง (swiss landrace dog) ทำให้ได้สุนัขพันธุ์ภูเขาสวิตที่เป็นบรรพบุรุษของสายพันธุ์เบอร์นีส เมาท์เทนด็อก หลังจากนั้นได้มีการนำสุนัขพันธุ์นี้มาใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น การนำไปต้อนวัว การเป็นผู้นำฝูง และการดูแลพื้นที่ภายในฟาร์ม เป็นต้น

สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก

ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ได้มีการจัดแสดงโชว์ Swiss Dog Club เพื่อให้เห็นถึงนิสัย ความฉลาด ความสง่างาม และความเป็นสุนัขกีฬาของสุนัขกลุ่มภูเขา หลังจากนั้นได้มีการนำสุนัขไปแสดงโชว์ที่กรุงเบิร์นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทำให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในกลุ่มคนเลี้ยงสุนัข ในขณะเดียวกันสภา Southland District Council (SDC) ได้ตั้งชื่อให้สุนัขอย่างเป็นทางการคือ “สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาท์เทนด็อก”

ในปี 1937 สมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มสุนัขทำงาน (working) หลังจากนั้น ปี 1948 สมาคม The United Kennel Club (UKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มในกลุ่มสุนัขเฝ้ายาม (guardian dog)

สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก

ลักษณะทางกายภาพ
สุนัขพันธุ์เบอร์นีสเมาน์เทนด็อก เป็นสุนัขนาดใหญ่ แข็งแรง มีรูปทรงคล้ายสีเหลี่ยมจัตุรัส ตามีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะคล้ายอัลมอนด์ (almond shape) จมูกสีดำ หูลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม หน้าอกกว้างและลึก มีกล้ามเนื้อแน่นทั่วร่างกาย หางตก ขนหนา ยาว สีขนมี 3 สีประกอบกัน ได้แก่ สีดำเป็นสีที่มีมากที่สุด และสีสนิมกับสีขาวปะปนกันไปมา

สุนัขเพศผู้มีลักษณะส่วนสูงวัดจากพื้นถึงหัวไหล่ 25-27 นิ้ว (ประมาณ 63-68 เซนติเมตร) และมีความยาวอยู่ที่ 25-27½ นิ้ว (ประมาณ 63-69 เซนติเมตร) และสุนัขเพศเมียมีลักษณะส่วนสูงวัดจากพื้นถึงหัวไหล่ 23-26 นิ้ว (ประมาณ 58-66 เซนติเมตร) และมีความยาวอยู่ที่ 23-26 นิ้ว (ประมาณ 58-66 เซนติเมตร) โดยทั้งเพศผู้และเพศเมียมีน้ำหนักอยู่ที่ 75-120 ปอนด์ (ประมาณ 34-54 กิโลกรัม)

สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก

อายุขัย
สุนัขพันธุ์เบอร์นีสเมาน์เทนด็อก โดยทั่วไปมีอายุขัยค่อนข้างสั้นอยู่ที่ประมาณ 6-8 ปี

ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์เบอร์นีสเมาน์เทนด็อก มีนิสัยตื่นตัว มั่นใจ กล้าหาญ ระมัดระวังสิ่งรอบข้าง เป็นมิตร ไม่ก้าวร้าว ซื่อสัตย์ อ่อนโยนกับเด็ก สามารถเข้ากับสัตว์และคนแปลกหน้าได้ดี เหมาะกับการเป็นสัตว์เลี้ยงในครอบครัว และเนื่องจากภูมิหลังถูกใช้เป็นสุนัขทำงาน ทำให้มีนิสัยการป้องกันอันตราย จึงเหมาะกับการนำมาเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ซึ่งในตอนเด็กควรได้รับการฝึกฝนและเอาใจใส่เป็นอย่างมากเพื่อให้สุนัขเชื่อฟังและไม่ดื้อต่อเจ้าของ

สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก

การเข้ากับเด็ก
มีความเหมาะสมในการนำมาเลี้ยงกับเด็ก เนื่องจากการมีนิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย สามารถเล่นและปกป้องเด็กได้ แต่หากเป็นเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก คนรอบข้างควรคอยดูสม่ำเสมอเพราะสุนัขพันธุ์นี้มีขนาดตัวที่ใหญ่และอาจเกิดอันตรายกับเด็กแบบไม่ตั้งใจได้
การดูแล

การออกกำลังกาย
สุนัขพันธุ์เบอร์นีสเมาน์เทนด็อก โดยทั่วไปแล้วต้องการการออกกำลังกายที่มีการใช้แรงอย่างมากประมาณ 30 นาทีต่อวัน เช่น การเดินเร็วหรือวิ่งรอบ ๆ สนามหญ้า ก็เพียงพอสำหรับสุนัขพันธุ์นี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตามมาได้ เช่น โรคอ้วน หรือโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อาหาร
สุนัขพันธุ์เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก เนื่องจากมีขนาดตัวใหญ่จำเป็นต้องให้กินอาหารในปริมาณมาก เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอที่ใช้ในแต่ละวัน ควรให้อาหารที่มีคุณภาพ โดยปริมาณอาหารที่ให้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของสุนัข การใช้พลังงาน อายุ และน้ำหนัก ซึ่งปริมาณที่แนะนำสาหรับสุนัขพันธุ์นี้คือ 3-5 ถ้วยต่อวัน แบ่งเท่ากัน 2 มื้อ แต่หากสุนัขไม่ออกกำลังกายหรือใช้พลังงานมากในแต่ละวันควรให้ปริมาณอาหารที่ลดลงมาจากเดิม เพื่อป้องกันน้ำหนักเพิ่มขึ้นและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา

โรคประจำพันธุ์

  • โรควิตกกังวล (Anxiety)
  • โรคลมชัก (Epilepsy)
  • ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric Dilatation Volvulus (GDV))
  • ภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด (Portosystemic shunts (PSS))
  • ท้องอืด (Bloat)
  • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
  • โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
  • ข้ออักเสบ (Arthritis)
  • ภาวะผิวกระดูกอ่อนตายและแตกออกจากการขาดเลือดในชั้นใต้กระดูกอ่อน (Osteochondritis Dissecans (OCD))
  • โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand’s disease (vWD))
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive retinal atrophy)
  • โรคมะเร็ง (Cancer)
  • โรคอ้วน (Obesity)

บทความโดย
ทรงภูมิ อานันทคุณ

ข้อมูลอ้างอิง

American Kennel Club – Bernese Mountain Dog

Britannica – Bernese Mountain Dog


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – บ็อกเซอร์ (Boxer) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย