ประวัติสายพันธุ์
ไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky) เป็นสุนัขสายพันธุ์ขนาดกลาง มีขนฟูหนา มีต้นกำเนิดมาจากทางฝั่งตะวันออกของไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย โดยพัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัขวงศ์สปิตซ์ (Spitz) ซึ่งเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีขนยาวหนา หางเรียวคล้ายรูปเคียว (Sickle Tail) ใบหูตั้งเด่นเป็นรูปสามเหลี่ยม
ไซบีเรียน ฮัสกี้ มีนิสัย ร่าเริง แข็งแรง เต็มไปด้วยพลัง ซึ่งเป็นนิสัยที่สืบทอดมาจากสุนัขสายพันธุ์บรรพบุรุษที่ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพภูมิประเทศเเละภูมิอากาศที่โหดร้ายเเละหนาวเย็นในเเถบไซบีเรีย โดยสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ นี้ เป็นสุนัขที่ได้รับความนิยมเลี้ยงในหมู่ชาวชุกชี (Chuckchi) ซึ่งมีถิ่นอยู่อาศัยใกล้กับมหาสมุทรอาร์กติกทางตะวันออกของรัสเซีย โดยพวกเขานำมาเลี้ยงไว้ใช้งานเป็นสุนัขลากเลื่อน สำหรับบรรทุกสิ่งของเเละสัมภาระต่าง ๆ ไปตามเส้นทางที่เต็มไปด้วยหิมะระยะทางไกล ๆ
เเละสำหรับทวีปอเมริกา ไซบีเรียน ฮัสกี้ ถูกนำมาที่นี่ครั้งเเรกในรัฐอะแลสกา สำหรับใช้งานเป็นสุนัขลากเลื่อนในช่วงยุคตื่นทอง (The Nome Gold Rush) ประมาณปีค.ศ. 1899-1909 ซึ่งเป็นยุคที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามายังอะเเลสกามากมาย หลังจากนั้นสุนัขสายพันธุ์นี้ก็ได้รับความนิยมอย่างเเพร่หลาย รวมถึงแคนาดาในฐานะสุนัขลากเลื่อน และเริ่มเปลี่ยนมาเป็นสุนัขเลี้ยงตามบ้านในภายหลัง
ลักษณะทางกายภาพ
ไซบีเรียน ฮัสกี้ มีลักษณะภายนอกคล้ายกับ อลาสกัน มาลามิ้ว (Alaskan Malamute) และสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พัฒนามาจากสุนัขวงศ์สปิตซ์ (Spitz) เช่น ซามอย เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขสายพันธุ์อื่น ไซบีเรียน ฮัสกี้ นับว่ามีลักษณะเด่นที่แตกต่าง นั่นคือมีสีและลักษณะขนที่หลากหลาย ส่วนมากมักมีขนสีขาวที่เท้า ขา หน้า(มีลักษณะคล้ายหน้ากาก) และปลายหาง โดยลักษณะทั่วไปของสุนัขพันธุ์นี้คือ มีสีดำ-ขาว,ทองแดง-ขาว, เทา-ขาว และสีขาวล้วน ร่วมกับลักษณะเฉพาะอื่น ๆ เช่น มีจุดสีบรอนซ์ หรือบรอนซ์อ่อน ๆ หรือมีลักษณะอื่น ๆที่คล้ายกับหมาป่า
The American Kennel Club ได้อธิบายลักษณะดวงตาของไซบีเรียน ฮัสกี้ ไว้ว่ามีรูปร่างคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ ตั้งเอียงเล็กน้อย มีระยะห่างกันปานกลาง สีดวงตาที่พบส่วนใหญ่คือ สีฟ้าน้ำแข็ง (Ice-Blue), น้ำเงินเข้ม(Dark Blue), สีเหลืองอำพัน(Amber) และสีน้ำตาล(Brown) และในบางตัวอาจพบได้ว่ามีสีตาที่ต่างกันในแต่ละข้าง เช่น ข้างหนึ่งมีตาสีฟ้า และอีกข้างมีสีน้ำตาล (Complete Heterochromia) หรือในหนึ่งข้างมีทั้งสองสีอย่าง สีน้ำตาล และสีฟ้าแบ่งส่วนกัน (Partial Heterochromia)
ขน
ขนของไซบีเรียน ฮัสกี้ มีความหนามากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น ประกอบด้วย 2 ชั้น ชั้นล่างหนากว่าชั้นบน และขนชั้นบนจะยาวกว่าชั้นล่าง โดยขนมีลักษณะเป็นเส้นตรง ช่วยปกป้องร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวของขั้วโลกเหนือ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยสะท้อนแสงแดดในช่วงฤดูร้อนได้ดีเช่นกัน โดยสามารถปกป้องอากาศที่อุณหภูมิต่ำ -50 °C ถึง -60 °C ได้เป็นอย่างดี เเต่เนื่องจากขนมีลักษณะหนาเเละยาวมาก จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดอย่างน้อยทุกสัปดาห์
จมูก
สุนัขสีเทามักมีจมูกสีดำ สุนัขสีดำมีจมูกสีแทน สุนัขสีทองแดงมีสีจมูกคล้ายกับสีของตับ ในสุนัขสีขาวล้วนมีจมูกสีเนื้อ และในบางตัวอาจพบได้ว่ามีจมูกสีขาว (Hypopigmentation) หรือเรียกว่า จมูกหิมะ (Snow nose or winter nose)
ขนาด
มาตรฐานสายพันธุ์สุนัข ไซบีเรียน ฮัสกี้ คือ
สุนัขตัวผู้มักมีความสูงอยู่ระหว่าง 21 – 23.5 นิ้ว (53 – 60 cm.) และน้ำหนักอยู่ที่ 45 – 60 ปอนด์ (20 – 27 kg.)
สุนัขตัวเมีย มีความสูงอยู่ที่ 20 – 22 นิ้ว (51 – 56 cm.) และมีน้ำหนักอยู่ 35 – 50 ปอนด์ (16 – 23 kg.)
อายุขัย
ไซบีเรียนฮัสกี้ มีอายุขัยอยู่ที่ 12-15 ปี
ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ แสดงออกถึงพฤติกรรมของสุนัขบ้านที่มีบรรพบุรุษเป็นสุนัขป่า กล่าวคือยังคงแสดงออกถึงพฤติกรรมจากบรรพบุรุษ โดยมักชอบหอนมากกว่าเห่า มีพลังเยอะ ตามสัญชาติญาณของนักล่า โดยเฉพาะลักษณะของสุนัขที่เลี้ยงในกรง เมื่อปล่อยสุนัขออกสู่ภายนอกเพื่อออกกำลังกาย เราจึงมักได้เห็นพฤติกรรมของไซบีเรียน ฮัสกี้ คล้ายกับสุนัขล่าเนื้อมากกว่าสุนัขบ้าน
จากการจัดลำดับสุนัขที่ฉลาดที่สุดของ Stanley Coren สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ อยู่ในอันดับที่ 45 ซึ่งดูจากการทำงาน และความฉลาดจากการฝึกฝน โดยพบว่าพวกมันมีความตั้งใจในการวิ่ง เนื่องจากเป็นสุนัขลากเลื่อนมาก่อน ในการพาสุนัขพันธุ์นี้ไปออกกำลังกายนั้น แนะนำให้นำสุนัขไปเดินเล่นในที่โล่งกว้าง เเล้วปลดสายจูง จากนั้นให้สุนัขวิ่งกลับมาหาเจ้าของเอง เเต่ด้วยนิสัยที่เบื่อง่ายของเจ้าสุนัขพันธุ์นี้ อาจต้องหาวิธีเล่นใหม่ ๆ หรือโยนลูกบอลให้เพียงวันละ 1 ครั้ง ก็อาจช่วยคลายเบื่อได้ เเต่ถ้าให้เล่นทุกอย่างที่ต้องการ ก็อาจทำให้สุนัขมีพฤติกรรมที่ไม่ดีตามมาเช่นกัน เช่น เเสดงอาการหอนที่มากเกินไป กัดเฟอร์นิเจอร์ หรือร้องโวยวาย จนทำให้สุนัขพันธุ์นี้บางครั้งถูกเรียกว่า ตัวตลกในหมู่สุนัข ซึ่งเกิดจากนิสัยที่ชอบเล่นเเละทำเหมือนตัวเองเป็นเด็กตลอดเวลา
ความฉลาดแสนรู้
สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ มีความฉลาดสูง ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ถูกนำมาฝึกให้ทำตามคำสั่งในการจดจำเส้นทางหรือดมกลิ่น หรือในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ไว้สำหรับกิจกรรมรถเลื่อน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากพวกมันมีความฉลาดสูงจึงทำให้มีนิสัยเบื่อง่าย จนบางครั้งเลือกที่จะหยุดฟังคำสั่ง ผู้ฝึกสุนัขแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงจากพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยการทำให้สุนัขยุ่ง ด้วยการหากิจกรรมใหม่ ๆ มาให้สุนัขได้ทำตลอดเวลา จากความฉลาดนี้ ไซบีเรียน ฮัสกี้ สามารถสังเกตและรับรู้ถึงการกระทำของคนรอบตัว และเรียนรู้ที่จะลอกเลียนแบบกิจวัตรประจำวันของคนในบ้านได้ เช่น ใช้อุ้งเท้าเปิดไฟ และเปิดประตูบ้านได้ด้วยตัวเอง สำหรับบางพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ พวกมันสามารถเปิดตู้เย็น (และกินอาหารข้างในตู้เย็น) ปีนข้ามรั้ว หรือขุดหลุมที่สวนเพื่อหนีออกจากบ้าน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ เมื่อสุนัขมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ทำแก้เบื่อที่เพียงพอ
การเข้ากับเด็ก
ไซบีเรียนฮัสกี้ มีอัธยาศัยดีเหมาะสำหรับเด็ก ๆ เพราะความชอบและและความขี้เล่นของพวกเขาทำให้เข้ากันได้ดีกับเด็ก และตื่นเต้นเมื่อได้เล่นกับเด็กๆเสมอ แต่บ่อยครั้งที่สุนัขอารมณ์ดี เป็นมิตร เล่นกับเด็กๆ ความขี้เล่นที่เต็มไปด้วยพลังนั้น อาจะเล่นแรงเกินไป กล่าวคือ ด้วยขนาดและความขี้เล่นของเขา เมื่อเทียบกับขนาดของเด็กอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ กรณีนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับไซบีเรียน ฮัสกี้ เนื่องจากพวกเขาฉลาดพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่และเด็กและมักจะอ่อนโยนและอดทนกับเด็กๆ เช่นเดียวกับ สุนัขที่การฝึกอบรม ให้มีความเชื่อง และเช่นกัน เด็กๆก็จำเป็นต้องได้รับการอบรมให้รู้จักวิธีการตอบโต้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม
การดูแล
การออกกำลังกาย
ไซบีเรียน ฮัสกี้ ต้องการเวลาออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และชอบใช้เวลาออกไปเล่นข้างนอกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเขา เดินเล่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติ การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มีร่างกายตามมาตรฐานของสายพันธุ์ และจำเป็นอย่างมากในช่วงอายุน้อย เพื่อปลดปล่อยพลังงานที่ไม่สิ้นสุดของเขา
การออกกำลังกายจำเป็นต้องใช้การออกกำลังกายที่สร้างสรรค์เพื่อเป็นการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งได้ เช่นเกมต่างๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการที่ดี และเพื่อการออกกำลังกายให้ครบทุกส่วน เพื่อกระตุ้นสมองให้สัมพันธุ์กับร่างกาย ในกิจกรรมท้าทายต่าง ๆ
พาน้องหมาไปวิ่ง วิ่ง วิ่ง ออกกำลังกายกันเถอะ
อาหาร
อาหารสำหรับฮัสกี้ ในหนึ่งวันจำเป็นต้องได้รับประมาณ 1.5-2 ถ้วยของอาหารแห้ง หรือจำแบ่งทาน 2 มื้อแม้ว่าไซบีเรียน ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือสามารถลากของระยะทางไกล รับหนักได้ ในอากาศที่หนาวเย็น ต้องการอาหารไม่มาก ซึ่งเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น
หากเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆแล้วความต้องการสารอาหาร ของฮัสกี้ ค่อนข้างแตกต่าง เจ้าของจำเป็นต้องคำนึงถึงการเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่ร่างกายได้รับ ร่วมกับ น้ำหนัก การออกกำลังกาย และ อายุ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของสายพันธุ์
โรคประจำพันธุ์
สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจะสามารถมีอายุขัยยืนยาวได้นานถึง 12-15 ปี ส่วนปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย ซึ่งมาจากกรรมพันธุ์ได้แก่ อาการชัก (Seizures) และความผิดปกติที่ตา เช่น โรคต้อกระจกในวัยเด็ก(Juvenile cataracts) ,กระจกตาไม่เจริญ(Corneal dystrophy) และจอตาเสื่อม(Progressive retinal atrophy) ส่วนโรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) นั้น พบไม่บ่อยนักในสุนัขสายพันธุ์นี้ เเต่ถึงอย่างไรก็ตามในสุนัขขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ก็ยังสามารถพบโรคนี้ได้อยู่ ข้อมูลจากสมาคมกระดูกและข้อในสัตว์ (The Orthopedic Foundation) รายงานว่า สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ จัดอยู่ในอันดับที่ 148 จากสุนัข 153 สายพันธุ์ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งมีเพียง 2 เปอร์เซ็น ของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ที่รับการทดสอบว่า พบการเสื่อมของข้อสะโพก (Hip dysplasia) ดังนั้นจึงวางใจได้ เเต่ก็ควรเช็คสุขภาพสุนัขที่คุณรักอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน โรคประจำพันธุ์ที่อาจพบได้ในสุนัขสายพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้มีดังนี้
- โรคผิวหนัง
- โรคที่เกิดจากเม็ดสีเจริญผิดปกติ (Depigmenting disorders)
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus Erythematosus)
- โรคระบบประสาท
- โรคชัก (epilepsy)
- ภาวะกลัวตื่นตกใจง่าย (anxieties)
- ภาวะวิตกกังวลจากการถูกแยก(Separation Anxiety)
- โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
- การอักเสบของช่องปากที่เกิดจากการเจริญผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophilic (Eosinophilic granulomatous)
- เยื่อบุช่องปากอักเสบ (stomatitis)
- โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
- โรควอนวิลลิแบรนด์ (Von Willebrand Disease)
- โรคระบบกระดูกเอ็นและข้อ
- การเจริญของไขกระดูกสันหลังผิดปกติ
- โรคข้อสะโพกเจริญเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
- โรคระบบต่อมไร้ท่อ
- ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid)
- โรคตา
- โรคต้อกระจกในวัยเด็ก (juvenile cataracts)
- โรคกระจกตาไม่เจริญ (corneal dystrophy)
- ม่านตาอักเสบร่วมกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Uveodermatologic Syndrome)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- โรคต้อกระจก (Cataract)
- โรคจอตาเสื่อม (progressive retinal atrophy
- โรคหู
- โรคหูหนวก (deafness)
เรื่อง : สุรภา ประติภาปกรณ์