การปั๊มหัวใจ หรือ CPR สัตว์เลี้ยง (Cardiopulmonary Resuscitation)

การเรียนรู้วิธีการทำปฏิบัติการกู้ชีพ “การปั๊มหัวใจ” หรือ CPR สัตว์เลี้ยง สามารถช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงได้เบื้องต้น เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอาการหยุดหายใจ และชีพจรหยุดเต้น เพื่อให้เลือดไหลเวียนนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะสมองและหัวใจ ก่อนนำส่งถึงมือสัตวแพทย์ต่อไป

เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขั้นตอนแรกในการทำปฏิบัติการกู้ชีพ หรือ CPR สัตว์เลี้ยง คือการตรวจสอบว่าสัตว์เลี้ยงยังหายใจอยู่หรือไม่ ด้วยการวางมือหรือแก้มของคุณใกล้กับจมูกของสัตว์ แล้วสัมผัสถึงอากาศหรือลมหายใจ แต่ถ้าหากยังไม่มั่นใจให้นำสำลีหรือผ้าบาง ๆ มาอังที่จมูก พร้อมสังเกตบริเวณหน้าอกว่ากำลังขยับขึ้นลงหรือไม่ เพื่อประเมินความจำเป็นในการทำ CPR

หากต้องทำ CPR สัตว์เลี้ยง อย่างเร่งด่วน ให้เจ้าของทำการตรวจสอบชีพจรของสัตว์เลี้ยง ด้วยการกดนิ้วลงเบา ๆ ที่บริเวณด้านบนตรงกลางอุ้งเท้าขนาดใหญ่ของสัตว์เลี้ยง หรือบริเวณข้างล่างขาหลังด้านใน เพื่อสัมผัสถึงชีพจรหรือเส้นเลือดแดง (femoral artery) หรือจะให้ง่ายที่สุดคือการใช้ฝ่ามือคลำตรง “ตำแหน่งหัวใจของสัตว์เลี้ยง” โดยใช้นิ้วหัวแม่มือวางบนหน้าอกด้านหนึ่ง และใช้อีก 4 นิ้ว วางบนหน้าอกอีกด้าน หัวใจจะอยู่ด้านหลังข้อศอกบริเวณกลางอก ถ้าสัตว์เลี้ยงไม่หายใจและไม่มีชีพจร คุณสามารถข้ามการกดหน้าอกไปที่การช่วยหายใจได้เลย

* การทำปฏิบัติการกู้ชีพ หรือ CPR สัตว์เลี้ยง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า สัตว์เลี้ยงไม่มีเลือดออก หากมีเลือดออกควรให้ผู้ช่วยช่วยกันห้ามเลือดในขณะที่คุณทำ CPR

ปฏิบัติการกู้ชีพ หรือ CPR (cardiopulmonary resuscitation)

ขั้นตอนการกู้ชีพสัตว์เลี้ยง มีหลักการง่าย ๆ คือ “ABC”

จากรูปเทคนิคการช่วยหายใจ โดยจับปากของสัตว์เลี้ยงด้วยมือเดียว ใช้ปากเป่าเข้าไปในจมูกทั้งสองข้างของสัตว์เลี้ยง เพื่อให้หน้าอกมีการขยับขึ้น // ขอบคุณภาพจาก : onlinelibrary.wiley.com

A – Airway หรือ ทางเดินหายใจ ถ้าสัตว์เลี้ยงของคุณไม่หายใจ ให้ตรวจสอบว่ามีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจอยู่หรือไม่ โดยการเปิดปากสัตว์เลี้ยงแล้วดึงลิ้นของสัตว์ไปข้างหน้า ก่อนจะนำวัตถุใด ๆ หรือของเหลวที่อยู่ในปากและลำคอของสัตว์เลี้ยงออก จากนั้นให้ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูสะอาด ๆ เช็ดคราบเมือกและเลือดออกให้หมด

B – Breathing  หรือ การหายใจ หลังจากที่จัดการทางเดินหายแล้ว ให้ยืดคอของสัตว์เลี้ยงให้ปลายจมูกอยู่ในแนวที่ตรงกับกระดูกสันหลัง ปิดปากสัตว์เลี้ยงของคุณ (mouth to snout) โดยใช้มือข้างเดียวโอบรอบปาก เพื่อป้องกันการรั่วไหลของอากาศ จากนั้นให้ใช้ปากของคุณครอบจมูกทั้งสองข้าง แล้วเป่าลมสองครั้งที่จมูกสัตว์เลี้ยงอย่างรวดเร็วเพื่อให้หน้าอกมีการขยับขึ้น

C – Circulation หรือ การไหลเวียนโลหิต เมื่อพบว่าหัวใจหยุดเต้นควรเริ่มปั๊มหัวใจ หรือกดหน้าอกให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

หากในขณะนั้นมีคนช่วยมากกว่าหนึ่งคน แนะนำให้พาสัตว์เลี้ยงไปยังโรงพยาบาลสัตว์ที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที  โดยในระหว่างนั้นให้ทำการ CPR ไปด้วย เพราะการทำ CPR เป็นวิธีเดียวที่ช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดและนำออกซิเจนส่งไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย จนกว่าจะส่งถึงมือแพทย์ให้ทำการรักษาต่อไป

วิธีการทำ CPR สัตว์เลี้ยง

ให้สัตว์นอนตะแคงลงบนพื้นราบแข็ง แล้วนั่งคุกเข่าอยู่ด้านหลังของสัตว์โดยให้หัวเข่าของคุณชิดกับสันหลังของสัตว์เลี้ยง (วิธีนี้ใช้ได้กับสุนัขขนาดกลาง, ขนาดใหญ่ และพันธุ์ยักษ์) สาเหตุที่ให้นั่งด้านนี้ เพราะเมื่อเริ่มทำการปั๊มหัวใจ สัตว์จะเคลื่อนออกจากตัวผู้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ เข่าของผู้ทำการกู้ชีพจะกดหน้าอกไว้ไม่ให้ตัวสัตว์เคลื่อนออกไป

cpr สัตว์เลี้ยง
จากรูปเป็นเทคนิคการกดหน้าอกสำหรับสุนัขขนาดกลาง พันธุ์ใหญ่ และพันธุ์ยักษ์ // ขอบคุณภาพจาก : onlinelibrary.wiley.com

การหาตำแหน่งหัวใจของสัตว์เลี้ยงตามลักษณะรูปร่างหน้าอก 

หน้าอกกว้าง : สามารถประยุกต์ใช้ได้กับสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ (Labrador Retrievers, Golden Retrievers และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ) โดยให้วางมือของคุณไว้บนส่วนที่กว้างที่สุดของหน้าอก ในจุดที่กว้างที่สุดนั่นก็คือด้านบนสุดที่มีลักษณะเป็นโดม เพื่อใช้ทฤษฎี thoracic pump การกดหน้าอกจะช่วยให้ความดันในช่องอกสูงขึ้น เกิดการบีบห้องหัวใจ เลือดจึงไหลออกจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ จากนั้นเมื่อหยุดกดจะทำให้เลือดไหลวนกลับเข้าสู่หัวใจ เนื่องจากความดันในช่องออกลดลง นอกจากนี้การทำ CPR ยังสามารถทำใน “ท่านอนตะแคง” ข้างซ้ายหรือขวาก็ได้

หน้าอกลักษณะกระดูกงู keel ‐ chested (อกลึก, อกแคบ) : เช่น Greyhounds, Doberman Pinschers และ German Shepherds ให้จัดท่าของสัตว์เลี้ยงในลักษณะนอนตะแคง แล้วดึงศอกไปด้านท้ายพาดไปยังอกของสัตว์เลี้ยงประมาณหนึ่งในสาม ในทิศทางที่พาดไปยังไหล่ของสัตว์เลี้ยง ข้อศอกของสัตว์เลี้ยงจะชี้ไปที่ตำแหน่งของหัวใจ จากนั้นให้วางมือตรงบริเวณเหนือหัวใจเล็กน้อย เพื่อใช้ทฤษฎี cardiac pump คือ การกดหน้าอก ทำให้เกิดการกดไปยังหัวใจโดยตรง ทำให้เลือดไหลออกจากหัวใจ และเมื่อหยุดกดจะเกิดการคลายตัวของหัวใจ เลือดจึงไหลกลับเข้ามาที่หัวใจอีกครั้ง

หน้าอกลักษณะถังเบียร์ (barrel‐chested) : เช่น English Bulldog หรือ Pug ให้วางมือของคุณบนกระดูกหน้าอกบริเวณกึ่งกลางหน้าอกของสัตว์เลี้ยง ทำการกดหน้าอกด้านบน ตรงบริเวณเหนือหัวใจใน “ท่านอนหงาย” ซึ่งจะดูคล้ายกับการทำ CPR ในมนุษย์

สัตว์เลี้ยงตัวเล็ก (<10 กก.) : ถ้าหน้าอกสัตว์เลี้ยงของคุณมีขนาดเล็กพอที่จะอยู่ในมือของคุณได้ ให้ใช้มือข้างหนึ่งวางไว้รอบหน้าอก โดยนิ้วหัวแม่มือวางอยู่บนหน้าอกซ้าย และใช้อีก 4 นิ้ววางบนหน้าอกฝั่งขวา แล้วบีบพร้อมกันทั้ง 5 นิ้ว จะเป็นการบีบหน้าอกด้วยมือข้างเดียว ในรูปแบบ Cardiac pump theory

จากรูปเป็นเทคนิคการกดหน้าอกสำหรับสุนัขและแมวตัวเล็ก // ขอบคุณภาพจาก : onlinelibrary.wiley.com

สำหรับแมวและสุนัขขนาดเล็ก (<10 กก.) ให้ใช้เทคนิคการใช้มือข้างเดียวในการโอบรอบหน้าอก เพื่อทำการบีบเหนือหัวใจโดยตรง แต่หากผู้กดกำลังเหนื่อยล้าในขณะที่ทำการบีบด้วยมือเดียว อีกทางเลือกหนึ่งในการทำการกดหน้าอกสำหรับแมวและสุนัขขนาดเล็ก ก็คือเทคนิคที่ใช้มือทั้งสองข้างกดเหนือหัวใจ โดยวางมือซ้อนทับกันแล้ววางไว้เหนือตำแหน่งหัวใจของสัตว์เลี้ยง ไหล่ของคุณควรตั้งฉากกับมือและข้อศอกเหยียดตรง โน้มตัวลงไปให้แขนตั้งฉากขณะที่ทำการกดหน้าอก สำหรับสุนัขขนาดกลางให้ทำการกดหัวใจของสุนัขลงเบา ๆ ประมาณหนึ่งนิ้ว ส่วนสุนัขขนาดใหญ่ให้กดแรงขึ้น

กดหน้าอกประมาณหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของความกว้างของอก หดหรือปั๊ม 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาที โดยให้กดต่อเนื่องเป็นเวลา 2 นาที แล้วจึงรีบสลับกับคนอื่น เพื่อลดอาการเหนื่อยล้าจากการทำCPR

หลังจากทำการกดหน้าอกทุก ๆ 30 ครั้ง ในอัตรา 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาที ถ้ามีคนทำปฏิบัติการกู้ชีพคนเดียวให้เป่าลมหายใจ 2 ครั้ง อย่างรวดเร็วไปที่จมูกสัตว์เลี้ยงกดหน้าอกอีก 30 ครั้ง แล้วทำซ้ำจนกว่าจะถึงมือสัตวแพทย์ หรือถ้ามีผู้ช่วยทำปฏิบัติการกู้ชีพ 2 คนขึ้นไป ให้ทำการเป่าลมเข้า 10 ครั้งต่อนาที

** ห้ามทำการช่วยหายใจและการกดหน้าอกในเวลาเดียวกัน ให้ทำสลับกันระหว่างการกดหน้าอกกับการช่วยหายใจ ทำต่อไปจนกว่าคุณจะได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจและสัตว์เลี้ยงของคุณกลับมาหายใจเป็นปกติ หรือจนกว่าคุณจะมาถึงที่โรงพยาบาลสัตว์และสัตวแพทย์สามารถทำการช่วยชีวิตต่อได้

การเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินล่วงหน้าสามารถที่จะช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงของคุณได้

เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนควรที่จะรู้เกี่ยวกับวิธีการทำ CPR ตามข้างต้น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน คุณจะไม่มีเวลาเริ่มอ่านคำแนะนำและอาจจะรู้สึกตื่นตระหนกได้ แต่ถ้าหากคุณมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการทำ CPR คุณสามารถปฏิบัติตามวิธีการที่ได้กล่าวไว้ได้ในทันที โดยเฉพาะในขณะที่มีคนกำลังขับรถพาคุณและสัตว์เลี้ยงไปที่โรงพยาบาลสัตว์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะฝึกทำ CPR กับสัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพดี เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ อว.สพ. ศัลยศาสตร์
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่