บทความที่แล้ว บ้านและสวน Pets x Exofood Thailand ได้แนะนำให้คุณรู้จักกับ Ant-keeping หรือการเลี้ยงมดเบื้องต้นกันไปแล้ว บทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีการสร้างแอนท์ณาจักรกัน !
ก่อนอื่นเรามาทบทวน วิธีการสร้างแอนท์ณาจักร ตามธรรมชาติของมดกันก่อน
ส่วนใหญ่แล้ว อาณาจักรของมดตามธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นจากมดราชินีเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น หลังจากที่ราชินีวัยอ่อนผสมพันธุ์กับมดตัวผู้แล้วนางจะเก็บน้ำเชื้อเอาไว้ในถุงเก็บน้ำเชื้อ จากนั้นก็จะสลัดปีกออกกลายร่างเป็นราชินีสลัดปีก มองหาทำเลดี ๆ ในการสร้างรังและวางไข่ชุดแรก ดูแลไข่จนเกิดเป็นมดงานชุดแรก หรือที่เราเรียกว่า Nanitic มาทำหน้าที่ต่าง ๆ ในรัง และเมื่อมีมดงานจำนวนเยอะมากพอแล้ว ราชินีถึงจะให้กำเนิดมดสืบพันธุ์ทั้งมดเพศผู้และราชินีวัยอ่อนมาสืบทอดสายพันธุ์ชาวมดต่อไป
ดังนั้น การจะสร้างแอนท์ณาจักรเราจึงจำเป็นต้องมี “ราชินีมด” ที่ผสมพันธุ์แล้ว ใครที่อยากลองเลี้ยงมด แต่ไม่สะดวกไปจับมด ตามล่าหาราชินี ไม่อยากสร้างรังเองก็สามารถหาซื้อราชินีมดพร้อมมดงาน ชุดเลี้ยงมดสำเร็จรูปตามอินเตอร์เน็ตได้ มีให้เลือกหลากหลายสายพันธุ์ แต่แนะนำให้เริ่มเลี้ยงสายพันธุ์ท้องถิ่นก่อน เพราะ ราคาไม่แรง เลี้ยงง่ายโตไว ถึงแม้วิธีนี้จะค่อนข้างสะดวก แต่หลายคนก็ชอบที่จะออกไปตามล่าหานางพญาเอง เพราะมันเต็มไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ส่วนมือใหม่ที่อยากลองออกไปจับราชินีเอง รีบไปอ่านหัวข้อต่อไปกันเลย
ตามล่าหาราชินี ตามหาให้ถูกที่ ถูกเวลา
ก่อนจะออกไปตามล่าหาราชินีมด เราก็ต้องรู้เวลาที่มดจะออกมาซะก่อน ปกติแล้วช่วงเวลาที่มดจะออกมาผสมพันธุ์ และออกมาให้เราจับได้ก็คือ ช่วงกลางคืนและหลังฝนตก เพราะ เมื่อราชินีมดผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ก็จะหาที่ทำรังดินหลังฝนตกจะอ่อนนุ่มและง่ายต่อการทำรังมากกว่าที่สำคัญเวลากลางคืน ก็ช่วยให้พวกนางหลบซ่อนจากศัตรูได้ดีกว่า
ส่วนสถานที่ที่คนนิยมไปจับมดราชินีก็คือ ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน สาขาที่มีต้นไม้เยอะ ๆ ยิ่งติดกับทุ่งหญ้าหรือป่ายิ่งดี เหล่ามดจะออกมาเล่นไฟตาม กระจกร้าน กำแพงสีขาว ๆ บ้างก็เกาะตามป้ายพี่ตูน ไม่เชื่อลองไปสังเกตกันดู และเมื่อเจอราชินีมดแล้ว ให้ต้อนนางใส่หลอดพลาสติกแบบมีฝาปิด พยายามอย่าจับโดนตัวโดยตรง เพราะ อาจทำให้นางบาดเจ็บได้ ที่สำคัญให้เก็บราชินีมด 1 ตัวต่อ 1 หลอดเท่านั้น แนะนำให้จับมาหลายตัวหน่อย เพราะบางตัวอาจจะยังไม่ได้ผสมพันธุ์
จับราชินีได้แล้ว
เมื่อจับราชินีมดมาได้แล้ว ต้องดูว่าราชินีนั้นเป็นแบบ Fully หรือ Semi เพื่อจะได้ดูแลได้อย่างถูกวิธี หากเป็นแบบ Fully นางจะมีสารอาหารสะสมไว้แล้วที่ก้นป่อง ๆ เราไม่ต้องให้อาหารนางจนกว่ามดงานชุดแรกจะฟักตัว แต่หากเป็นแบบ Semi นางจะไม่มีสารอาหารสะสมไว้ หลังจากจับมาต้องคอยให้น้ำหวานทุก 3 วัน หลังจากรู้แล้วว่านางเป็นราชินีแบบไหน ก็ถึงเวลาย้ายนางออกจากหลอดพลาสติกสู่รังแบบ Basic ที่เราเตรียมไว้ให้นางฟักไข่ (วิธีทำอยู่ในหัวข้อต่อไป) เก็บหลอดไว้ในที่มืดและสงบ อย่าและไปรบกวนมาก เมื่อราชินีฟักไข่แล้ว เราก็ร้องเพลงรอต่อไปจนกว่ามดงานชุดแรกฟักออกจนหมด จากนั้นค่อยย้ายราชินี และมดงานชุดแรกไปอยู่รังที่กว้างขึ้น
ประเภทของรังมดเบื้องต้น
ตามธรรมชาติ แอนท์ณาจักรหรือรังมด จะประกอบไปด้วยห้องต่าง ๆ มากมาย ที่แตกแขนงไปตามจำนวนประชากรของอาณาจักร โดยหลัก ๆ แล้วในรังจะมีห้องราชินี ห้องตัวอ่อน ห้องเก็บอาหาร และที่ทิ้งขยะ ดังนั้น วิธีการสร้างแอนท์ณาจักร หรือการเตรียมรังสำหรับเลี้ยงมดจึงเป็นการจำลองแบบมาจากรังมดตามธรรมชาติ ซึ่งเราจะทำรังเอง หรือจะซื้อรังมดสำเร็จรูปก็ได้ ปัจจุบันก็มีหลายแบบ หลายวัสดุให้เลือก
- รังมดเริ่มต้นสาย DIY
หลอดทดลอง : “หลอดทดลอง” เป็นรังมดแสน Basic ที่หลายคนนิยมใช้เป็นรังฟักไข่ของราชินี วิธีเตรียมหลอดทดลองก็แสนง่าย
ให้เราล้างหลอดให้สะอาดและผึ่งให้แห้งจากนั้นใส่น้ำดื่มสะอาดลงไปประมาณ 1:3 ของหลอด ใช้สำลีกดแน่นๆ ยัดลงไปในหลอดเพื่อกั้นน้ำเอาไว้ โดยสาเหตุที่เราต้องใส่น้ำลงไปก็เพื่อเป็นตัวสร้างความชื้นในอากาศเหมือนเวลามดอยู่ใต้ดิน จากนั้นก็ย้ายราชินีเข้ามาอยู่ในหลอด และปิดด้วยสำลีเพื่อให้อากาศลอดผ่านได้ก็เป็นอันเสร็จ
หลอดทดลองแบบมี Out world : เมื่อมดงานฟักตัวแล้วก็ได้ว่าย้ายรัง โดยรังหลอดทดลองแบบมี Out world นั้นเป็นรังที่คนนิยมใช้เป็นบ้านหลังที่สองของมด วิธีทำก็แสนง่ายเพียงใช้กล่องพลาสติก เทด้วยปูนพลาสเตอร์ประมาณ 1:3 ของกล่อง ตกแต่งด้วยทรายและหิน และพิมพ์ร่องสำหรับใส่หลอดทดลอง รอจนแห้งสนิท เพียงเท่านี้ก็จะได้รังมด DIY แบบมี Out World ที่ประหยัด เห็นมดชัดเจน
รังมดดิน / ทราย : สายธรรมชาติ อยากได้ฟีลรังมดแท้ ให้มดขุดรังเอง แนะนำให้หาโหลปลากัดแบบแบน ใส่ด้วยดินสะอาด พีชมอส หรือ ทรายก็ได้ จากนั้นค่อย ๆ ใส่น้ำให้ดินพอชื้น ๆ ทั่วทั้งโหล ใช้ไม้เจาะดินให้เป็นรูนำทางให้มดทำรังบนหน้าดินเราสามารถตกแต่งได้ตามชอบหรือจะตกแต่งแบบ Terrarium ก็ได้ จากนั้นให้หาน้ำยากันมดออกมาทาขอบ หาฝาปิดให้มิดชิดระวังมดหนี แต่อย่าลืมว่าต้องมีรูระบายอากาศ โดยข้อเสียของรังแบบนี้คือเราอาจจะไม่ได้เห็นกิจวัตรของมด เพราะน้อง ๆ อาจจะไปสร้างรังตรงกลางโหล และย้ายรังยาก
- รังมดสำเร็จรูป
รังมดเทียมแบบอะคริลิค : รังมดแบบอะคริลิคจะมีหลายแบบหลายราคา สวยงาม ทนทาน ส่วนใหญ่จะมีหลายห้อง หลายชั้นให้มดเลือกอยู่อาศัย มี Out World มีหลอดน้ำทำความชื้น บางรุ่นสามารถเอากล่องมาต่อกัน ขยายใหญ่ได้ตามขนาดอาณาจักรมดเลย สะดวก เปลี่ยนง่าย เห็นมดชัดเจน แต่ราคาค่อนข้างแรง
รังมดแบบเจล : ถ้าลองเสิร์จหารังมดสำเร็จรูปตามอินเตอร์เน็ต คุณจะเจอกล่องอะคริลิคใส เต็มไปด้วยเจลสีฟ้า รังมดแบบนี้ เป็นรังมดแบบเจลให้มดเจาะเอง ข้อดีคือเราจะเห็นมดชัดเจน แต่ข้อเสียคือเมื่อมดเจาะรูปเยอะขึ้น เจลอาจจะหล่นลงมาทับมดได้ และย้ายรังยาก
อาหารมด
อาหารการกินของมดนั้นสำคัญต่อการวางไข่ของราชินีที่เปรียบเสมือนหัวใจหลัก เพราะ นางเป็นตัวกำหนดว่าอาณาจักรนี้จะขยายไปได้ใหญ่แค่ไหน ดังนั้น ก่อนให้อาหารแนะให้คุณลองศึกษาสายพันธุ์มดที่คุณเลี้ยงว่าชอบกินอะไร แต่หลัก ๆ แล้ว อาหารของมดที่นิยมให้กันได้แก่น้ำหวาน นิยมให้เป็นน้ำแดง น้ำผึ้งผสมน้ำ ส่วนโปรตีนนิยมให้เป็นแมลง เช่น จิ้งหรีด หนอนนก หรือเนื้อไก่สุก ไข่ต้ม
และสุดท้ายคือนำ้สะอาดแนะนำให้ใช้เป็นน้ำที่เราดื่ม ทั้งนี้การให้อาหารมดนั้น ควรให้เหมาะสมกับปริมาณของมดในรัง หากให้น้อยไปอาจทำให้มดโตช้า แต่ถ้าหากให้เยอะเกินไป มดกินไม่หมดก็อาจทำให้อาหารเน่าเสีย รังมีเชื้อราขึ้นได้
มดพร้อม รังพร้อม อาหารพร้อม ก็ได้เวลาสร้างแอนท์ณาจักรกันไปยาว ๆ มีคนบอกว่ากันว่าการเลี้ยงมดนั้นจะมอบบางสิ่งบางอย่างให้กับคนเลี้ยง บ้างก็ว่า การเลี้ยงมดสอนให้รู้จักการอดทน การรอคอย ความขยัน ความพยายาม ฯลฯ ถ้าอยากรู้ว่าจริงหรือเปล่า ลองหามดมาเลี้ยงซักรัง คุณอาจได้เรียนรู้บางอย่างจากชีวิตของพวกมันมากกว่าที่เราบอกไปก็ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- หนังสือมดประเทศไทย Ants of Thailand
โดย
คุณวียะวัฒน์ ใจตรง
คุณเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์
คุณยุทธนา สามัง
คุณทัศนัย จีนทอง - เพจ Ant voice https://www.facebook.com/antvoicethailand
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม