ภาพความน่ารักน่าเอ็นดูระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ สุนัข K-9 ภายในระบบรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (MRTA) ได้สร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้โดยสารในขบวน และนั่นก็อาจกลายเป็นวันที่ดีของหลาย ๆ คนที่ได้พบเจอน้อง ๆ ทีม K-9 ระหว่างการเดินทางในชีวิตประจำวัน
สุนัข K-9 เป็นชื่อพ้องเสียงของคำว่า Canine (เค-นาย) แปลว่า สัตว์ในกลุ่มสุนัข จากนั้นจึงได้ใช้คำนี้เพื่อเรียกสุนัขที่ผ่านการฝึกฝนเพื่อการปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ โดยหน่วยงานแรก ๆ ที่ได้ฝึกฝนสุนัข K-9 เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงคือ หน่วยงานด้านการทหารและตำรวจ
เหตุผลหลักที่นำสุนัขเข้ามามีบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ คือ สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ฝึกฝนให้ทำตามคำสั่งได้ดี มีความซื่อสัตย์ มีสัญชาตญาณการค้นหาที่ดีเยี่ยม และมีความสามารถในการรับรู้สิ่งเร้ารอบตัวได้ดีกว่ามนุษย์ โดยเฉพาะ การดมกลิ่น และการฟังเสียง
โดยจมูกของสุนัขสามารถรับกลิ่นได้มากกว่ามนุษย์ถึง 40 เท่า ด้วยความโดดเด่นเฉพาะตัวในเรื่องเหล่านี้ จึงทำให้สุนัขมีความเหมาะสมกับงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคง
จากจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนสุนัข K-9 ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สุนัข K-9 ได้มีบทบาทในการช่วยปฏิบัติงานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การตรวจหาวัตถุแปลกปลอมภายในสนามบิน งานตรวจรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ และการตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยภายในระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น
โดยทั้งหมด เกิดขึ้นเนื่องจากต้องการเฝ้าระวังก่อนจะเกิดความรุนแรง รวมไปถึงรักษาความปลอดภัยของพื้นที่ และประชาชนที่มาใช้บริการ
จากเหตุการณ์รุนแรงในอังกฤษ สู่การก่อตั้งทีมสุนัข K-9 ในระบบรถไฟฟ้า MRT
คุณโอ๋-ปฏิพัฒน์ แจ้งวงศ์ชัย หัวหน้าแผนกสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด K-9 MRTA กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า “เนื่องจากเหตุการณ์วางระเบิดในรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 ขบวน ภายในครึ่งชั่วโมง ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ได้นำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก” และเสริมว่า “เพื่อป้องกันความรุนแรงลักษณะเช่นเดียวกัน ที่อาจเกิดขึ้นในระบบรถไฟฟ้าของไทย ทางผู้บริหาร MRTA จึงได้ตั้งหน่วยสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด K-9 MRTA ขึ้นมา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์ทราบ หรือ EOD”
ในช่วงแรก ทีม K-9 MRTA มีสุนัขทั้งหมด 12 ตัว ได้ร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ในส่วนงานรักษาความเรียบร้อย และความปลอดภัยในพื้นที่ของระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ และถือว่าทีม K-9 MRTA เป็นหน่วยฝึกสุนัข K-9 หน่วยงานแรกภายใต้กระทรวงคมนาคม
ปัจจุบัน MRTA มีสุนัข K-9 ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 8 ตัว และได้รับความร่วมมือจากทีมสุนัขตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ มาร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ของ MRT ด้วย
“ถ้าสุนัข K-9 พบวัตถุต้องสงสัยระหว่างการปฏิบัติงาน น้องจะหมอบอยู่นิ่ง ๆ ตรงจุดนั้น และคอยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งสัญญาณเหล่านี้เกิดจากการฝึกฝนร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และสุนัข จนเกิดความชำนาญ” คุณโอ๋อธิบาย
น้อง ๆ ในทีม K-9 ต่างก็ต้องปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันเหมือนกับพี่ ๆ เจ้าหน้าที่
เกณฑ์การคัดเลือกสุนัขเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ในทีม เจ้าหน้าที่ใช้เกณฑ์พิจารณาตามหลักสากล คือคัดเลือกจากสายพันธุ์และอายุเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ และเยอรมันเชเพิร์ด ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์มีความโดดเด่นในเรื่องการดมกลิ่นสารระเบิดตั้งต้นได้เป็นอย่างดี
ส่วนในเรื่องอายุที่พร้อมสำหรับการฝึก อยู่ในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยส่วนใหญ่ MRTA จะติดต่อไปยังฟาร์มสุนัขที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย และคัดเลือกลูกสุนัขไว้เบื้องต้น ตั้งแต่อายุ 3 เดือน
หลังจากน้อง ๆ เข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกของ MRTA แล้ว พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ 1 คน ที่จะต้องปฏิบัติงานร่วมกับน้องตัวนั้น ๆ จะฝึกการใช้คำสั่งพื้นฐานต่าง ๆ และฝึกจำลองเหตุการณ์จริงในที่เกิดเหตุร่วมกับน้องตัวนั้นไปตลอดจนกว่าจะจบหลักสูตร
เมื่อจบหลักสูตรแล้ว เจ้าหน้าที่และสุนัข K-9 ต้องผ่านการประเมินความพร้อมสำหรับการทำงานในสถานที่จริง และสุนัข K-9 ที่ผ่านการประเมินแล้ว เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวที่ผ่านการฝึกมาด้วยกัน จะเป็นผู้ควบคุมการทำงานของสุนัขตัวเดิมไปจนถึงการปลดระวาง เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคย ไว้ใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการทำงานร่วมกัน
“สถานที่ตั้งและที่เลี้ยงดูน้อง ๆ ของหน่วยสุนัข K-9 MRTA อยู่ในพื้นที่เขตบริเวณสำนักงาน MRTA ถนนพระราม 9 ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดกั้นมิดชิด เพื่อป้องกันการรบกวนการฝึกจากสิ่งเร้าภายนอก” คุณโอ๋กล่าวและเสริมว่า “ภายในอาคารสำนักงาน ได้แบ่งพื้นที่สำหรับการพักผ่อนของสุนัข และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง”
ในแต่ละวันก่อนออกมาปฏิบัติหน้าที่ในระบบรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่และสุนัขจะฝึกทบทวนคำสั่งประจำวัน โดยเป็นการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้น และทดสอบการดมกลิ่นสารระเบิด คุณโอ๋เล่าว่า “กว่าน้อง ๆ แต่ละตัวจะมาปฏิบัติงานจริงได้ ต้องผ่านการฝึกร่วมกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลาทั้งหมด 16 สัปดาห์”
MRTA ดูแลน้อง ๆ ไปตลอดชีวิต
MRTA ได้กำหนดให้สุนัข K-9 แต่ละตัวปฏิบัติหน้าที่จนครบอายุ 8 ปีเต็ม หลังจากนั้น MRTA จะดูแลน้อง ๆ ต่อไปตลอดชีวิต โดยจะได้รับสวัสดิภาพ และการรักษาพยาบาล เหมือนกับตอนที่ยังปฏิบัติหน้าที่ “บางกรณี เมื่อเจ้าหน้าที่เกิดความรู้สึกผูกพันกับน้องมาก ๆ ก็จะรับน้องไปดูแลต่อที่บ้านได้” คุณโอ๋กล่าว
“ในอนาคต MRTA ได้กำหนดแนวทางการเพิ่มจำนวนสุนัขและเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มขึ้นตามจำนวนเขตรับผิดชอบของ MRTA เพื่อไม่ให้สุนัขเกิดความเมื่อยล้าในการเดินตรวจพื้นที่ตามระยะทางที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้สุนัขมีสุขภาพที่ดี มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานพิสูจน์ทราบ เมื่อมีเหตุวัตถุต้องสงสัยในเขตระบบรถไฟฟ้า” คุณโอ๋กล่าวถึงแผนงานในอนาคต
หากผู้โดยสารพบเจอทีม K-9 ระหว่างการเดินทางในระบบรถไฟฟ้า ทาง MRTA ขอความร่วมมือว่า “อย่ากระโจน หรือวิ่งเข้าใส่น้องนะครับ ค่อยเดิน ๆ เข้ามาขออนุญาตกับพี่เจ้าหน้าที่ ก่อนจะสัมผัสตัวน้องทุกครั้ง และไม่ยื่นอาหารหรือขนมให้กับน้อง ระหว่างที่น้องปฏิบัติหน้าที่ครับผม” คุณโอ๋ฝากถึงผู้โดยสารทุกคน
นอกจากความเชี่ยวชาญของสุนัข K-9 ในการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ จะสร้างความอุ่นใจให้กับผู้โดยสารทุกคนแล้ว ความน่ารักของน้อง ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกิดความสุขเมื่อมองน้อง ๆ เดินตรวจตรารอบพื้นที่ ซึ่งนั่นก็ทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันที่แสนธรรมดา กลับมามีรอยยิ้มและเรื่องราวที่น่าประทับใจได้
ขอขอบคุณ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ MRTA ที่ให้โอกาสทีมงาน บ้านและสวน Pets สำหรับการถ่ายทำคอนเทนต์ในครั้งนี้
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ สา- มาริสา อานิต้า กับบทบาทของ ครูฝึกสุนัข