ไม่น่าเชื่อว่าเสียงเล็กๆ จากหัวใจจะบ่งบอกอะไรได้มากกว่าที่เราคิด … ทำไมหนอแค่สัตวแพทย์ใช้หูฟังที่อกสัตว์เลี้ยงของเรา ก็รู้แล้วว่าสุนัขหรือแมวน่าจะมีความผิดปกติของหัวใจ
จริงๆ แล้ว เสียงหัวใจ เกิดจากอะไรและมีความสำคัญอย่างไร ลองมาฟังกันดูนะคะ
“หัวใจ” อวัยวะที่ไม่เคยหยุดพัก ต้องทำงานแม้ยามหลับ
ในทุกรอบการทำงานของหัวใจจะเกิดเสียงหัวใจขึ้นตลอดเวลา เราสามารถได้ยินได้เมื่อเอาหูแนบที่หน้าอก แต่จะได้ยินชัดเจนมากขึ้นเมื่อเราใช้หูฟัง หรือ stethoscope ในการฟัง บางคนอาจบอกว่าได้ยินเสียงหัวใจ เป็นเสียง ตุ๊บ ตุ๊บ หรือ ตึก ตัก แต่ถ้าเป็นฝรั่งหรือทางการแพทย์ จะได้ยินเป็น 2 เสียง คือ
- เสียง ลับ (lub) เกิดขึ้นในช่วงลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและล่าง (ลิ้นไมทรัลทางด้านซ้าย และลิ้นไตรคัสปิดทางด้านขวา) ปิด
- เสียง ดับ (dup) เกิดในช่วงที่ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างและหลอดเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจ (ลิ้นเอออร์ติกทางด้านซ้าย และลิ้นพัลโมนิกทางด้านขวา) ปิด
เสียงหัวใจจะเกิดขึ้นสลับกันไปเช่นนี้ตามวงรอบการทำงานของหัวใจเรื่อยๆ ไปตลอดชีวิต
ด้วยจังหวะที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ อิทธิพลของการหายใจอาจทำให้ได้ยินจังหวะการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นในช่วงหายใจเข้า และ มีจังหวะช้าลงบ้างในช่วงหายใจออก ลักษณะเช่นนี้อาจพบได้เป็นปกติในสุนัข แต่อาจพบได้น้อยในแมว อย่างไรก็ตามหากพบจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอจากอิทธิพลของการหายใจที่ค่อนข้างชัดเจน อาจบอกเป็นนัยถึงความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ความดัง-เบา ของเสียงหัวใจ อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้เช่นเดียวกัน เช่น ในกรณีที่เสียงหัวใจดังอาจเกิดจากการที่สัตว์ผอมจึงทำให้ได้ยินเสียงหัวใจชัดเจนขึ้น ส่วนเสียงหัวใจที่เบาลงอาจเกิดจากการที่สัตว์อ้วน ช่องอกลึกตามสายพันธุ์ หรือเกิดจากการสะสมของของเหลว หรือก๊าซภายในช่องอก ส่วนการมีเนื้องอกหรือการเกิดไส้เลื่อนกระบังลม อาจทำให้ได้ยินเสียงหัวใจผิดไปจากตำแหน่งปกติได้
อัตราการเต้นของหัวใจ
เป็นข้อมูลที่สำคัญอีกข้อมูลหนึ่งที่สัตวแพทย์จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจวัดเสมอ เป็นการประเมินถึงสัญญาณชีพว่ายังคงอยู่ในช่วงปกติอยู่หรือไม่ ปกติแล้วสุนัขมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 80-120 ครั้งต่อนาที ในสุนัขพันธุ์เล็กอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ ส่วนในแมวนั้นมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ค่อนข้างเร็วกว่าสุนัขมากคืออยู่ที่ประมาณ 120-200 ครั้งต่อนาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจอาจช้าบ้างเร็วบ้างตามแต่กิจกรรมของสัตว์แต่ละตัวที่ทำอยู่ในขณะนั้น เช่น ในระยะพัก หรือ ในช่วงนอนหลับอัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลง ส่วนช่วงที่ทำกิจกรรมวิ่งเล่น อัตราการเต้นของหัวใจก็จะเพิ่มสูงขึ้น
-กรณีที่เกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติภายในหัวใจเองหรืออาจเกิดจากโรคบางโรคที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้า จากการกระตุ้นระบบประสาทและฮอร์โมน เช่น โรคตา โรคระบบทางเดินหายใจ โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ทำให้เกิดอาการชัก หรืออาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินอาหาร
-กรณีที่เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ อาจเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทและฮอร์โมนได้เช่นเดียวกัน อย่าง ในกรณีที่เกิดอาการตื่นเต้น มีไข้ เจ็บปวดร่างกาย หรือ ภาวะปริมาตรเลือดต่ำ เป็นต้น ส่วนความผิดปกติที่เกิดจากหัวใจเกิดจากการที่มีจุดกำเนิดการสร้างกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติไปหรือเกิดจากกระบวนการนำไฟฟ้าภายในหัวใจที่ผิดปกติ
เสียงจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ปกติแล้วเสียงหัวใจมีเพียง 2 เสียง การที่ได้ยินเสียงหัวใจมากกว่า 2 เสียงจึงถือเป็นความผิดปกติ โดยอาจเกิดเป็นลักษณะ เสียงที่หนึ่งและเสียงที่สอง มีมากกว่าหนึ่งเสียง ซึ่งลักษณะนี้มักเกิดเนื่องจากการที่ลิ้นหัวใจในหัวใจห้องซ้ายและขวาปิดไม่พร้อมกัน จึงทำให้ได้ยินเสียงที่หนึ่งหรือที่เสียงที่สองถูกแยกออกเป็นสองเสียง อีกกรณีอาจเกิดจากการที่ได้ยินเสียงที่สามและเสียงที่สี่ ซึ่งทั้งสองเสียงจะได้ยินในช่วงที่เกิดการคลายตัวของหัวใจ เสียงที่สามและเสียงที่สี่นี้เกิดจากการที่เลือดจากหัวใจห้องบนไหลลงมากระแทกหัวใจห้องล่าง ที่มีการขยายใหญ่หรือขาดความยืดหยุ่น การได้ยินเสียงที่สามและสี่ในทางสัตวแพทย์เรียกว่า เสียงแกลลอป (gallop) เนื่องจากเสียงที่ได้ยินจะมีลักษณะคล้ายกับเสียงม้าควบ เสียงที่สามและสี่ อาจได้ยินในกรณีที่สุนัขเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy: DCM) หรือในกรณีของแมวที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดผนังห้องหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ (hypertrophic cardiomyopathy: HCM) หรือบางครั้งอาจพบได้ในกรณีของแมวที่มีอายุมาก
ลักษณะเสียงหัวใจที่ผิดปกติที่พบได้อีกรูปแบบหนึ่งคือ การเกิดเสียงฟู่ หรือ ในทางสัตวแพทย์เรียกว่า เมอร์เมอร์ (murmurs) เสียงนี้เกิดจากลักษณะการไหลของเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีการไหลแบบไหลวนแทนที่จะมีการไหลแบบพุ่งตรงไปด้านหน้าอย่างเดียว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลของเลือดนี้ อาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเร็วของการไหลของเลือดหรือเกิดจากความหนืดของเลือดลดลง เช่นในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางมากๆ หรือ อาจเกิดความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น ภาวะลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวจนเกิดการตีบแคบของห้องหัวใจ รูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจ หรือ ภาวะหลอดเลือดเจริญผิดปกติ ตำแหน่งที่ได้ยินเสียงเมอร์เมอร์อาจช่วยบ่งชี้ถึงตำแหน่งของความผิดปกติได้ เช่น บ่งชี้ถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจที่เกิดการรั่ว ส่วนความดังของเสียงเมอร์เมอร์ อาจบ่งชี้ถึงความรุนแรงของความผิดปกติในบางกรณีได้เช่นเดียวกัน เช่น ถ้าได้ยินเสียงเมอร์เมอร์ที่ตำแหน่งลิ้นหัวใจไมทรัลที่ค่อนข้างดังจะบ่งชี้ว่ามีภาวะลิ้นหัวใจรั่วที่ค่อนข้างมาก เป็นต้น
ถึงแม้ว่าเจ้าของอาจไม่สามารถฟังเสียงหัวใจสัตว์เลี้ยงได้เอง การคลำบริเวณช่องอกอาจช่วยในการบ่งชี้ถึงความผิดปกติได้บ้างเช่นกัน ในบางกรณีที่หัวใจเต้นเร็วมาก หรือ มีเมอร์เมอร์ที่มีความแรงมาก เจ้าของอาจสัมผัสได้ถึงการสั่นสะเทือนที่บริเวณช่องอกที่ตำแหน่งหัวใจ โดยเฉพาะในสุนัขหรือแมวที่มีขนาดตัวไม่ใหญ่มาก บ่อยครั้งที่เดียวที่หมอเจอเจ้าของที่สนใจดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงมากๆ เดินเข้ามาบอกให้ช่วยตรวจหัวใจสุนัขหรือแมวให้หน่อย เพราะจับแล้วรู้สึกว่าหัวใจเต้นแรง
จะเห็นว่าแค่ฟังเสียงหัวใจ ก็จะบอกอะไรเราได้มากมาย การพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจเป็นประจำ จึงเป็นการช่วยตรวจเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจได้เป็นอย่างดี สมกับคำกล่าวที่ว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ส่วนเสียงหัวใจก็เป็นหน้าต่างของสุขภาพสัตว์เลี้ยง ” ของเราสินะ
บทความโดย
รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์ อว. สพ. อายุรศาสตร์
Assoc. Prof. Sirilak Surachetpong, DVM, MS, PhD, DTBVM, AiCVIM (Cardiology)
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Department of Veterinary Medicine, Faculty of Veterinary Science, Chulalongkorn University
การฝังเข็มสัตว์เลี้ยง รักษาด้วยแพทย์ทางเลือกในประเทศไทย
รู้ไหมว่า? น้องหมาน้องแมวก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง