โรคความดันสูง (Systemic hypertension) ในสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

โรคความดันสูงเป็นโรคที่พบมากในคน จากการประมาณการขององค์กรอนามัยโลกว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคความดันสูงทั่วโลกอยู่ประมาณ 1.13 พันล้านคน จากประชากรทั้งโลก 7.7 พันล้านคน หมอก็เป็นคนหนึ่งที่มีโรคความดันสูงเป็นโรคประจำตัว และ โรคความดันสูงในสัตว์เลี้ยงก็เป็นโรคที่ได้รับการวินิจฉัยน้อยกว่าความเป็นจริง

ดังนั้น วันนี้เราจะทำความรู้จักกับ โรคความดันสูง ในสัตว์เลี้ยงกันครับ

 

ถาม: คุณหมอเจอเคสความดันสูงในหมาและแมวบ่อยมากไหมคะ

ตอบ: ในงานวิจัยของสัตวแพทย์ไม่ได้มีการสำรวจความชุกของโรคความดันสูงไว้อย่างแน่ชัดครับ แต่เคสเหล่านี้พบบ่อยโดยเฉพาะหมาและแมวที่แก่แล้วครับ ซึ่งจะเจอได้อาทิตย์ละหลายตัว และ บางครั้งก็เป็นโรคความดันสูง โดยมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย

 

ถาม: วิธีการวัดความดันในน้องหมาและน้องแมวต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ตอบ: สัตวแพทย์ใช้เครื่องวัดได้เช่นเดียวกันครับ แต่การวัดจะสามารถวัดได้หลายตำแหน่งโดยสามารถวัดที่ขาหน้า, ขาหลัง หรือ โคนหางก็ได้ครับ แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องให้หมาและแมวอยู่นิ่งไม่ตื่นเต้นตกใจกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณหมอจะทำการวัดหลายครั้ง เพื่อหาค่าเฉลี่ยครับ

 

ถาม: เราสามารถใช้เครื่องวัดความดันของคนมาวัดความดันหมาและแมวได้ไหม

ตอบ: ถ้าจะวัดก็วัดได้ครับ แต่ค่าที่สามารถวัดได้นั้นจะสามารถเชื่อถือได้หรือไม่ก็ไม่สามารถบอกได้ครับ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องวัดความดันเลือดในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะเครื่องที่ผลิตจากประเทศอเมริกาหรือยุโรปจะมีงานวิจัยรองรับครับ

 

ความดันสูงในสัตว์ มีนิยามหรือคำจำกัดความว่า ความดันของเลือดสูงสุดขณะหัวใจห้องล่างบีบตัว (systolic blood pressure, SBP) สูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือในคนเรียกง่ายๆว่า “ความดันเลือดตัวบน” สูง ค่าความดันเลือดตัวบนปกติ (normotensive SBP) ไม่ควรเกิน 140 มม.ปรอท แต่ถ้าค่าความดันเลือดตัวบนอยู่ในช่วง 140-159 มม.ปรอท ถือว่าความดันเลือดอยู่ในระยะเริ่มสูง (prehypertensive SBP) ถ้าค่าความดันเลือดตัวบนอยู่ในช่วง 160-179 มม. ถือว่าความดันเลือดอยู่ในสูง (hypertensive SBP) ถ้าค่าความดันเลือดตัวบนสูงกว่า 180 มม. ปรอท ถือว่าความดันเลือดอยู่ในสูงรุนแรง (severely hypertensive SBP)

 

โรคความดันสูงแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกันคือ

  1. โรคความดันสูง (Idiopathic hypertension) เรามาดูกันครับว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร “idiopathic” เป็นคำสนธิจาก 2 คำคือ idiot+pathology ซึ่งแปลว่า “idiot “ แปลตรงตัวว่าโง่เขลา โง่เง่า คำว่า “pathology” แปลตรงตัวว่า วิชาว่าด้วยการกระบวนการเกิดโรคหรือเรียกว่า “พยาธิวิทยา” ในภาษาไทย รวมกันแล้วก็คือ ไม่รู้พยาธิสภาพของโรค ไม่มีโรคอื่นนำมาซึ่งความดันสูง สำหรับตัวหมอเองไม่ได้ป่วยด้วยโรคอื่น แต่มีโรคความดันสูงซึ่งได้รับการถ่ายทอดทาง “พันธุกรรม” มาจากทางคุณพ่อและคุณแม่ หรือ นอกจากชื่อข้างต้นสามารถเรียกอีกชื่อได้ว่า “primary hypertension” หรือ “essential hypertension” ในสัตว์ก็มีโรคความดันสูงโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน แต่ในการที่จะวินิจฉัยโรคความดันสูง โดยไม่มีสาเหตุรองรับนั้นจะต้องตัดสาเหตุความดันสูงจากโรคอื่นๆออกให้หมดจึงจะวินิจฉัยโรคนี้ได้ จากงานวิจัยพบว่าโรคความดันสูงโดยไม่มีสาเหตุสามารถพบได้มากถึง 20% ในแมว และสูงถึง 10% ในหมา สุนัขบางพันธุ์ เช่น Shetland Sheepdogs มีโรคความดันสูงแบบไม่ทราบสาเหตุได้มากถึง 13%
  2. โรคความดันสูงจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม (Situational hypertension) ตรงนี้สามารถอธิบายได้ง่ายเลยครับ ในกรณีนี้คือการที่หมาแมวเข้ามาที่คลินิกหรือโรงพยาบาลและทำการวัดความดันแล้วปรากฏว่า ความดันสูงเพราะเขาจะตื่นเต้น ตกใจ ในคนก็จะเป็นการอธิบายถึง ผู้ป่วยที่กลัวแพทย์และพยาบาลใส่ชุดขาวหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “White coat hypertension“ ดังนั้น เมื่อหมาหรือแมวมาถึงโรงพยาบาลสัตว์ คุณหมอก็จะไม่ทำการวัดความดันในทันที โดยส่วนใหญ่ก็จะให้รอก่อนประมาณ 10 ถึง 15 นาทีแล้วถึงจะทำการวัดความดันเพื่อลดปัญหาความดันสูงจากสิ่งแวดล้อม
  3. โรคความดันสูงจากโรคอื่นนำมา (Secondary hypertension) หรือ มีการได้รับยาหรือสารพิษใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้ความดันสูง ส่วนใหญ่ที่เจอในทางคลินิกก็มักจะเป็นโรคความดันสูงจากการมีสาเหตุโน้มนำจากโรคอื่น เช่น
  • โรคไตวายเรื้อรังในสุนัข สามารถพบความดันสูงควบคู่ไปได้ตั้งแต่ 9-93%
  • โรคไตวายเฉียบพลันในสุนัขสามารถพบความดันสูงได้มากถึง 15-87%
  • โรค Cushing (Hyperadtenocorticism – โรคที่เกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงมากเกินไป) สามารถพบความดันเลือดสูงได้ 20-80%
  • โรคเบาหวานในสุนัขก็สามารถตรวจพบความดันสูงได้ถึง 46-67%
  • เนื้องอกของต่อมหมวกไตที่ชื่อว่า Pheochromocytoma (อ่านว่า ฟีโอโครโมไซโตมา) พบความดันเลือดสูงได้ตั้งแต่ 43-86%
  • โรคไตวายเรื้อรังในแมวสามารถพบความดันสูงได้มากถึง 19-65%
  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) ในแมวสามารถพบความดันสูงได้มากถึง 10-87%
  • การกินยากลุ่มสเตอรอยด์เป็นเวลานานก็สามารถทำให้ความดันสูงได้
  • การกินอาหารที่มีความเค็มเป็นระยะเวลานานก็สามารถทำให้ความดันสูงได้เช่นกัน

 

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าโรคที่พบบ่อยในสัตว์เลี้ยงของเรามีแนวโน้มทำให้เกิดโรคความดันสูงครับ

 

ถาม: ถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้นคะ อันตรายไหมคะ ตอนนี้น้องยังดูไม่มีอาการอะไรเลยค่ะ

ตอบ:  อันตรายครับ ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับอวัยวะ ซึ่งไม่สามารถทนแรงดันเลือดที่สูงได้อวัยวะเหล่านั้น ได้แก่ ไต ตา สมอง ระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ ถ้าอวัยวะที่เสียหายจากความดันสูงเหล่านี้เรียกว่า “Target Organ Damage”

 

ถาม: ถ้าความดันสูงแล้วจะต้องตรวจอะไรบ้างคะ

ตอบ: คุณหมอต้องทำการตรวจเลือดอย่างละเอียด ตรวจปัสสาวะรวมถึงโปรตีนที่สามารถรั่วออกมาที่ไตได้ การอัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติของต่อมหมวกไตและไตเองก็มีความสำคัญมากครับ รวมถึง คุณหมออาจจะทำการถ่ายภาพรังสีของช่องอกช่องท้องและอาจจะทำ CT-scan ของช่องท้องร่วมด้วย

 

ปัญหาของโรคความดันสูงเป็นโรคเรื้อรัง ความเสียหายที่เกิดจะค่อยๆ เกิด ไม่ได้เป็นกะทันหัน ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมักจะ “ชะล่าใจ” แต่หลังจากได้อ่านบทความนี้ หมอขอเตือนคุณพ่อคุณแม่ทุกคนไว้ครับว่าอย่าได้นิ่งนอนใจนะครับเพราะผลที่ตามมาสามารถอันตรายถึงชีวิตได้เลยครับ

 

เช่นเดียวกับคนครับ ถ้าเราเคยอ่านบทความเกี่ยวกับโรคความดันสูงในคนตามโรงพยาบาลต่างๆก็จะได้ข้อมูลที่คล้ายกัน ในสัตว์เลี้ยงถ้าความดันสูงเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆในหลากหลายระบบ ดังนี้

  1. โรคไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease) ความดันที่สูงจะทำให้โดยการกรองของไต (nephron) เสียหาย คุณหมอสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของค่าชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับการกรองของไต เช่น creatinine, SDMA (symmetric dimethylarginine), BUN (blood urea nitrogen) และการตรวจปัสสาวะพบว่ามีโปรตีนรั่วออกมา เราจะเห็นได้ว่าโรคไตวายก็ทำให้เป็นโรคความดันสูงและโรคความดันสูงก็สามารถทำให้เป็นโรคไตวายได้
  2. โรคจอประสาทตาเสื่อม (retinopathy) ความดันที่สูงจะทำให้เลือดไหลที่จอประสาทตา เส้นเลือดที่จอประสาทตาบิดคด จอประสาทตาบวม เลือดไหลภายในช่องหลังม่านตาและหน้าม่านตา จอประสาทตาเสื่อมและอาจจะทำให้เกิดต้อหิน (secondary glaucoma) ถ้าเป็นเยอะจะทำให้ตาบอดได้
  3. โรคเส้นเลือดในสมองแตก (stroke) อาการที่เจอก็จะเป็นอาการของระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีอาการอย่างเฉียบพลัน เช่น ขาอ่อนแรง เสียสมดุลย์การทรงตัวและการเคลื่อนไหว ตาบอด ชัก เป็นต้น
  4. ผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตจะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีการหนาตัวขึ้น (left ventricular hypertrophy) ในกรณีที่อาการหนักมากก็จะทำให้เกิดหัวใจข้างซ้ายล้มเหลวได้ ถ้าโชคร้ายมาก อาจจะมีหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งและแตกได้

 

ถาม: โรคความดันเลือดสูงสามารถรักษาให้หายขาดได้ไหมคะ

ตอบ: คุณหมอมีโอกาสที่จะรักษาโรคความดันสูงให้หายขาดได้ขึ้นอยู่กับโรคที่โน้มนำทำให้เกิดความดันสูง ถ้าทำการแก้ไขที่ต้นเหตุของโรคที่ทำให้เกิดความดันสูงได้โรคความดันสูงมีแนวโน้มที่จะหายขาดได้ครับ แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถแก้ไขที่สาเหตุของโรคต้นเหตุได้ ดังนั้นสัตว์เลี้ยงของเราบางตัวก็จะต้องกินยาลดความดันไปตลอดชีวิต

 

ถาม: ถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีโรคความดันสูง สามารถให้ยาคนกินเองได้หรือไม่

ตอบ: คุณหมอไม่แนะนำการให้ยาลดความดันด้วยตัวเอง ครับ เพราะ ยาหลายตัวที่คุณหมอใช้เป็นยาเฉพาะสำหรับสัตว์แพทย์ ขนาดยาจำเพาะสำหรับสัตว์ และ ในการให้ยามีความจำเป็นจะค่อยๆ ปรับขนาดยาโดยมีการวัดความดันเลือดอย่างต่อเนื่องเสมอ คุณหมออาจมีการใช้ยามากกว่าหนึ่งหรือสองตัวในการควบคุมความดันเลือดของสัตว์เลี้ยง ดังนั้นคุณหมอแนะนำให้เจ้าของพาสัตว์เลี้ยงเข้ามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแทนการให้ยาเองครับ

 

ในคนพบว่ายิ่งอายุมากและอ้วน โอกาสจะพบโรคความดันสูงก็จะมีมากตาม แต่ในสัตว์เลี้ยงโรคความดันสูงโดยไม่มีโรคอื่นเกี่ยวข้องไม่ได้พบมากขึ้นตามช่วงอายุที่สูงขึ้น แต่ด้วยอายุที่สูงขึ้นและความอ้วนสามารถทำให้เกิดโรคความเสื่อมต่างๆได้โดยเฉพาะโรคไตและหรือโรคต่อมไร้ท่อต่างๆดังนั้นตอนนี้คุณหมอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนที่มีหมาและแมวที่เข้า วัยกลางหมากลางแมวแล้ว คราวหน้าที่ไปตรวจสุขภาพของน้องที่โรงพยาบาลสัตว์ อย่าลืมบอกคุณหมอให้ช่วยวัดความดันเลือดให้ด้วยนะครับ

 

 

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)

Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS

โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์

Parichart Suwinthawong Animal Hospital


 

เสียงหัวใจ หน้าต่างแห่งสุขภาพของสัตว์เลี้ยง

รู้ไหมว่า? น้องหมาน้องแมวก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง