ในปัจจุบันพบว่ามีสุนัขและแมวมีปัญหาไตวายเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาวะไตวาย (Kidney Failure หรือ Renal Failure) ในสัตว์เลี้ยงสามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ไตวายเฉียบพลัน และ ไตวายเรื้อรัง
สาเหตุ
ภาวะไตวายเฉียบพลันสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ และเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลักๆ คืิอ
- Pre renal azotemia คือ ภาวะไตวายเฉียบพลันที่สาเหตุการเกิดไม่ได้เกิดจากไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดจากปัญหาระบบเลือด เช่น ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ความดันต่ำ ภาวะช็อค หรือจากโรคหัวใจ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง การกรองของเสียของร่างกายลดลง ทำให้เกิดภาวะไตวายตามมา หรือแม้กระทั่งจากการผ่าตัดเอง โดยการผ่าตัดที่มีการเสียเลือดเป็นจำนวนมาก จะส่งผลต่อความดันโลหิตในร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ ซึ่งเลือดจะไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้ไตเกิดความเสียหายตามมา
- Renal azotemia คือ ภาวะไตวายเฉียบพลันที่สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของไต เช่น ภาวะไตหรือกรวยไตอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น โรคฉี่หนู หรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่กรวยไต หรือการได้รับสารบางอย่างที่เป็นพิษต่อไต เช่น ethylene glycol ซึ่งเจอได้ในหม้อน้ำรถยนต์ สารหล่อเย็น หรือยาบางประเภทถ้ากินในระยะยาวส่งผลต่อไตได้เช่นกัน เช่น ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Sulfonamide , Aminoglycoside , Amphotericin-B หรือยาในกลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDs) เป็นต้น
- Post renal azotemia คือ ภาวะไตวายเฉียบพลันที่สาเหตุเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (ท่อไต , กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ) โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบคือการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนต่างๆ ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ หรือมีปริมาณมากส่งผลให้ไม่สามารถขับปัสสาวะได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ของเสียขับออกลดลง ส่งผลให้ค่าไตสูงผิดปกติ หรือสาเหตุอีกอย่างที่พบได้ คือ กระเพาะปัสสาวะแตกหรือท่อปัสสาวะฉีกขาด
ภาวะไตวายเฉียบพลันจากสาเหตุต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถ้าสามารถรักษาให้หายได้ทันก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่ถ้ารักษาไม่ทันจากที่เป็นภาวะไตวายเฉียบพลันก็จะกลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวายเรื้อรังจะสัมพันธ์กับช่วงอายุ โดยสุนัขพันธุ์เล็กส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงอายุ 10-14 ปี และพันธุ์ใหญ่มากกว่า 7 ปี แต่ในแมวพบว่า 30% ของแมวที่อายุมากกว่า 15 ปี จะมีภาวะโรคไตวายเรื้อรัง ภาวะไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และไม่สามารถทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้
ในแมวจะมีโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคถุงน้ำที่ไต (polycystic kidney) พบได้ในแมวพันธุ์เปอร์เซียหรือแมวพันธุ์ผสมเปอร์เซีย ทำให้แมวเป็นโรคไตได้ตั้งแต่อายุน้อยและทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
ลักษณะอาการ
โดยปกติสุนัขและแมวที่เป็นโรคไตระยะแรก ๆ จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ที่แสดงให้เห็น แต่พอเป็นมากขึ้นส่งผลให้ค่าของเสียในร่างกายเพิ่มสูงมากขึ้น จะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น เช่น
- อาการซึม
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนัดลดลงมากกว่าปกติ
- กินน้ำเยอะและปัสสาวะมากกว่าปกติ
- อาเจียน
- อุจจาระมีสีดำสนิทหรืออุจจาระมีเลือดปน เนื่องจากมีเลือดออกในทางเดินอาหารจากการที่กรดในทางเดินอาหารเยอะเกิน
- มีกลิ่นปาก (uremic breath) และเป็นแผลในช่องปากจากกรดยูเรียที่สูงขึ้น
- ความดันโลหิตสูงมากว่าปกติ ถ้าความดันในร่างกายสูงมากขึ้น ทำให้เกิดอาการชักหรือตาบอดได้
- อาการชักในสัตว์ที่เป็นโรคไตนั้นเกิดได้จากค่าของเสียในร่างกายที่สูงมากขึ้นหรือภาวะความดันโลหิตสูง อาการที่กล่าวมาข้างต้นสามารถพบได้จากโรคอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ใช่พบได้แต่ในภาวะโรคไตอย่างเดียว ดังนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
การวินิจฉัย
ปัจจุบันการตรวจหาโรคไตจะพบได้จากการตรวจเลือดและปัสสาวะร่วมกัน โดยการตรวจปัสสาวะจะต้องทำการงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง การตรวจเลือดจะตรวจหาค่า BUN (Blood urea nitrogen) และ ค่า Creatinine โดย ค่า BUN คือ การตรวจเลือดหาปริมาณยูเรีย เพื่อดูการทำงานของไต และใช้ในการติดตามอาการของภาวะโรคไต ส่วนค่า Creatinine เป็นตัวบ่งชี้ในการวินิจฉัย และติดตามอาการของภาวะโรคไต เราจะใช้ค่า Creatinine ในการประเมินระยะของภาวะโรคไตหรือความรุนแรงของโรค เนื่องจากสารตัวนี้จะถูกขับออกผ่านทางไตเป็นหลัก และเมื่อถูกกรองผ่านไตแล้วจะไม่มีการดูดสารตัวนี้กลับเข้าร่างกาย ดังนั้นถ้าไตมีความผิดปกติการขับออกสาร Creatinine จะลดลง ทำให้พบสารตัวนี้ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ แต่การตรวจเลือดด้วยค่าดังกล่าวนั้นกว่าจะพบว่าไตผิดปกติ ไตก็สูญเสียหน้าที่มากกว่า 75%
ภาวะไตวายเรื้อรังจะมีการแบ่งระยะความรุนแรงของโรคไตเป็น 4 ระยะ โดยใช้ค่า Creatinine เป็นตัวหลักในการกำหนดความรุนแรง เรียกว่า IRIS (International Renal Interest Society Stage)
IRIS Stage | ค่าCreatinine (mg/dL) | |
1 | สุนัข < 1.4 แมว < 1.6 | ไม่พบอาการที่ผิดปกติ |
2 | สุนัข 1.4 – 2.0 แมว 1.6 – 2.8 | ไม่พบอาการที่ผิดปกติ หรือแสดงอาการน้อยมาก เช่น กินน้ำมากปัสสาวะบ่อย |
3 | สุนัข 2.1 – 5.0 แมว 2.9 – 5.0 | เริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น อาเจียน กินลดลง |
4 | สุนัข > 5.0 แมว > 5.0 | พบอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น มีกลิ่นยูเรียในช่องปาก หรือพบอาการชักได้ |
*ค่าดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตาม Lab ที่ทำการตรวจ*
จากตารางที่แสดงให้เห็นจะพบว่าในแต่ละระยะของภาวะไตวายเรื้อรังจะแสดงอาการแตกต่างกันไป แต่บางครั้งอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้สัมพันธ์กับระยะของภาวะโรคไตเสมอไป เช่น อาจจะพบว่ามีอาเจียน หรืออุจจาระมีเลือดปน ได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ หรือ บางครั้งในช่วงแรกของระยะที่ 3 อาจจะไม่พบความผิดปกติใดๆก็เป็นได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจร่างกายเป็นประจำ แต่ในปัจจุบันได้มีวิธีตรวจแบบใหม่ คือ การตรวจค่า SDMA (Symmetrical dimethyl arginine) ซึ่งจะสามารถพบความผิดปกติในการทำงานของไตที่ลดลงตั้งแต่ 25% แต่มีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับการตรวจเลือดและปัสสาวะ นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์จะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของโครงสร้างไต เช่น โรคถุงน้ำที่ไต ไตฝ่อ ภาวะกรวยไตอักเสบ หรือนิ่วที่ไต เป็นต้น ดังนั้นการวินิจฉัยโรคไตจะทำการตรวจหลายอย่างร่วมกัน
สรุปอาการของสุนัขและแมวที่เป็นภาวะโรคไต ทั้งภาวะไตวายเฉียบพลันหรือภาวะไตวายเรื้อรังจะมีอาการเหมือนๆกัน ซึ่งมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการเลยหรือแสดงอาการเด่นชัด เช่น น้ำหนักลดลงมากกว่าปกติ กินน้ำเยอะและปัสสาวะมากกว่าปกติเป็นต้น แต่อาการเหล่านี้สามารถพบได้ในโรคอื่นๆเช่นกัน ดังนั้นเจ้าของควรจะพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบความผิดปกติตั้งแต่แรกๆจะได้ทำการรักษาทันท่วงที เพื่อจะได้ช่วยยืดชีวิตสัตว์ลี้ยงของท่านได้นานยิ่งขึ้น
บทความโดย
สพ.ญ. เมลานี สุขสำราญทวีรัชต์
Melanee Suksamranthaweerat, DVM
หน่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Nephrology and Urology Clinic, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen
วิธีเตรียม อาหารปรุงเองสำหรับสัตว์ป่วยโรคไต
โรคความดันสูง (Systemic hypertension) ในสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด