เมื่อน้องหมา-น้องแมวป่วย สิ่งที่เป็นกังวลนอกจากเรื่องเฝ้าดูอาการแล้ว เจ้าของยังมีปัญหาเรื่องการป้อนยาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาน้ำ ยาเม็ด ยาหยอด สารพัดที่เป็นปัญหาปวดหัวให้กับเจ้าของ โดยเฉพาะกับน้องหมาแสนฉลาดของเราที่คายยาเก่งเสียเหลือเกิน บ้างก็ดุจะงับมือทันทีเมื่อป้อนยา ทำเอาเจ้าของปวดหมองทุกทีสิน่า
ลองมาดูเทคนิค การป้อนยาสัตว์เลี้ยง ที่คุณหมอแนะนำกันดีกว่า น้อง ๆ จะได้กินยาครบ หายป่วยในเร็ววันค่ะ
ยาเม็ด
วิธีการป้อนยาเม็ดทำได้โดยใช้มือข้างที่ถนัดจับที่บริเวณหลังเขี้ยวคู่หน้าบนทั้งสองข้าง แล้วดึงปากส่วนบนขึ้นอย่างเบามือ ในขณะที่ปากน้องหมาเริ่มเปิดให้รีบใช้มืออีกข้างกดที่กรามล่างบริเวณริมฝีปากล่างลง และรีบวางเม็ดยาลงบนกลางโคนลิ้นแล้วปิดปากน้องหมาทันที พร้อมกับยกคางน้องหมาขึ้นสักนิดจนกว่าสุนัขจะกลืนยาลงไป ซึ่งจะสังเกตได้จากการเลียบริเวณปลายจมูกและปาก
ข้อควรระวัง หากวางเม็ดยาตื้น หรือไม่อยู่กลางโคนลิ้น น้องหมาจะคายหรือสะบัดยาออกมาได้ เมื่อน้องหมาทานยาแล้ว เจ้าของอาจให้ดื่มน้ำตามหรือให้ขนมขบเขี้ยวเป็นรางวัลสักหน่อยก็ได้นะคะ
ยาบางชนิดสามารถให้โดยผสมหรือใส่ในอาหาร เจ้าของสุนัขอาจป้อนอาหารปกติไปก่อนสัก 2-3 คำ จากนั้นค่อยป้อนยาเม็ดในอาหาร (อาจจะปั้นอาหารเป็นก้อนๆ แล้วใส่ยาเม็ดไว้ข้างใน) เมื่อป้อนยาแล้วก็ให้สุนัขกินอาหารคำปกติต่อ น้องหมาคงสงสัยว่าไอ้คำเมื้อกี้มันรสชาติประหลาดๆจัง ฮ่าๆๆๆ การป้อนยาสัตว์เลี้ยง
แต่ไม่แนะนำให้บดยา เพราะ รสชาติของยาบางชนิดมีรสขม และบางชนิดมีการเคลือบเม็ดยาไว้เพื่อให้ตัวยาค่อยๆ ถูกปล่อยออกมาในร่างกายจ้า
ยาน้ำ
การป้อนยาน้ำ ค่อนข้างจะง่ายกว่าการป้อนยาเม็ดมาก คือ ให้ใช้หลอดฉีดยาสอดเข้าข้างแก้ม สอดเข้าไปพอประมาณ ยกคางน้องหมาขึ้น และค่อยๆ ฉีดยาหรือของเหลวเข้าไปในปากอย่างช้าๆ อาจจะหยุดให้เป็นช่วงๆ เพื่อให้น้องหมาได้กลืนยาลงไป ข้อควรระวัง อย่าใช้แรงฉีดมากจนเกินไป และไม่ควรพยายามจะฉีดยาลงคอโดยตรง เพราะแรงฉีดอาจทำให้น้องหมาอาเจียน หรืออาจทำให้เกิดการสำลักยาเข้าหลอดลมได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อน้องหมานะคะ
ยาป้ายตาหรือหยอดตา
การให้ยาป้ายตาชนิด ointment ให้บีบยาออกมาเล็กน้อย แล้วป้ายลงไปที่ด้านในขอบตา ระวังอย่าให้โดนลูกตาหรือกระจกตา จากนั้นปิดเปลือกตาแล้วคลึงเบา ๆ ให้ยากระจายทั่วลูกตา แต่หากเป็นยาหยอดตาชนิดน้ำสามารถหยอดได้ทันที แต่ยาหยอดตาชนิดนี้จะถูกน้ำตาล้างออกไปได้ง่าย ส่วนใหญ่คุณหมอจึงสั่งให้หยอดหลายครั้งต่อวันจ่ะ
ยาหยอดหู
การให้ยาหยอดหูทำได้โดยการสอดยาไม่ว่าจะเป็นชนิดน้ำหรือครีม ลงไปในช่องหูส่วนที่สายตามองเห็นได้ บีบยาลงไปในช่องหูตามจำนวนที่คุณหมอสั่ง จากนั้นคลึงที่บริเวณกกหู เพื่อให้ยามีการกระจายตัว น้องหมาส่วนใหญ่จะสะบัดหัวหลังจากที่หยอดยาหยอดหูแล้ว ไม่ต้องกังวลนะคะ
ยาฉีด
สำหรับยาฉีดการให้สัตวแพทย์ช่วยจัดการให้น่าจะเป็นทางเลือกที่สะดวกกว่า แต่หากจำเป็นต้องนำกลับมาฉีดเองที่บ้านก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นยาชนิดที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยมีวิธีการคือใช้มือข้างที่ถนัดถือกระบอกฉีดยาเตรียมไว้ แล้วใช้มืออีกข้างเช็ดบริเวณผิวหนังด้วยสำลีชุบแอลกอฮอลล์ 70% จากนั้นขยุ้มผิวหนังขึ้นมาเล็กน้อย ดันยาเข้าไป สุดท้ายให้นวดคลึงสักเล็กน้อย เพื่อให้ยาสามารถดูดซึมและกระจายตัวได้ดีขึ้นค่ะ
Tips ตัวช่วยในการป้อนยา
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารและขนมที่ออกแบบให้ใส่เม็ดยาเข้าไปได้ ซึ่งเมื่อสังเกตจะพบว่าตัวผลิตภัณฑ์จะมีความเหนียว ทำให้น้องหมาไม่สามารถคายยาออกมาจากตัวผลิตภัณฑ์ได้ แต่ควรสอบถามคุณหมอก่อนในเบื้องต้นว่ายาที่ต้องป้อนให้น้องหมานั้นสามารถให้ร่วมกับอาหารได้หรือไม่ตามที่บอกไว้ข้างต้น
สำหรับเจ้าของที่ไม่เคยป้อนยาน้องหมาตัวเองมาก่อน อาจให้คุณหมอสาธิตวิธีการทำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดระหว่างการให้ยา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรลืมก็คือต้องให้ยาให้ครบตามสั่ง เพื่อป้องกันการดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นได้ หวังว่าคงช่วยเพื่อน ๆ ให้คลายกังวลลงได้บ้าง หากคราวหน้าน้องหมาป่วย และจำเป็นต้องป้อนยา เพียงทำอย่างถูกวิธีการป้อนยาก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วค่ะ
เรื่อง : ลีฬภัทร กสานติกุล