ส่วนแรกที่ควรทำความเข้าใจก่อนเกี่ยวกับ นิ่วในสุนัข คือกระบวนการการเกิดขึ้นของนิ่ว เพื่อที่จะได้เข้าใจบทบาทของอาหารในการช่วยรักษานิ่วอย่างชัดเจนมากขึ้น
สาเหตุของนิ่ว
นิ่วเกิดจากการรวมตัวกันของสารก่อนิ่วที่อยู่ในปัสสาวะ โดยต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเกิดนิ่ว ได้แก่
1. ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ : นิ่วแต่ละชนิดมีความสามารถในการละลาย และรวมตัวกันของสารก่อนิ่วในสภาวะความเป็นกรดด่างที่แตกต่างกัน
2. ความเข้มข้นของปัสสาวะ : การเกิดนิ่วอาศัยหลักการคล้ายการตกผลึก ยิ่งปัสสาวะเข้มข้นมาก นิ่วยิ่งมีโอกาสตกผลึกเป็นนิ่วได้ง่ายขึ้น
3. ปริมาณของสารก่อนิ่วที่อยู่ในปัสสาวะ : ยิ่งสารก่อนิ่วมีปริมาณเยอะในปัสสาวะ ยิ่งทำให้โอกาสในการรวมตัวกันเป็นนิ่วเพิ่มขึ้น
ประเภทของนิ่วกับการรักษา
ในการรักษานิ่ว เรามีเป้าหมายเพื่อลดปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งอาหารมีส่วนช่วยอย่างมากในการบรรลุเป้าหมาย หรือช่วยลดโอกาสในการเกิดนิ่วเพิ่ม ซึ่งนิ่วมี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือนิ่วที่สามารถสลายได้ด้วยการปรับอาหาร และนิ่วที่ไม่สามารถสลายได้
1. นิ่วที่สามารถสลายได้ด้วยอาหาร : นิ่วที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ได้แก่นิ่วสตรูไวท์ (struvite) หรือนิ่วแมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต (MAP) ซึ่งส่วนใหญ่จะโน้มนำจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น และสภาวะในกระเพาะปัสสาวะเหมาะกับกับการรวมตัวของสารก่อนิ่วชนิดนี้ เกิดการรวมตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้น อาหารที่ใช้ในการสลายนิ่วชนิดนี้ อาศัยหลักการที่จะทำให้ปัสสาวะเป็นกรดมากพอที่จะทำให้นิ่วชนิดนี้สลายได้
2. นิ่วที่ไม่สามารถสลายได้ด้วยอาหาร : นิ่วในกลุ่มนี้มีหลายชนิด แต่ที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ นิ่วแคลเซียมออกซาเลท (Calcium oxalate) เมื่อนิ่วชนิดนี้ไม่สามารถรักษาได้โดยการสลายได้ด้วยอาหาร วิธีการรักษาในขั้นแรกคือการผ่าตัดเอานิ่วออกก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงใช้อาหารในการควบคุมไม่ให้นิ่วกลับมาเกิดซ้ำ โดยคุณสมบัติของอาหารสำหรับนิ่วในกลุ่มนี้คือ มีการควบคุมปริมาณของสารตั้งต้นที่จะก่อให้เกิดนิ่วในปริมาณต่ำ ทำให้ลดโอกาสในการเกิดนิ่วซ้ำได้ เช่นจำกัดปริมาณแคลเซียม และ ออกซาเลทในอาหาร ช่วยควบคุมความเป็นกรดด่างของปัสสาวะเพื่อไม่ให้เอื้อต่อการเกิดนิ่วเพิ่ม มีการเสริมสารยับยั้งการเกิดนิ่ว รวมถึงอาหารนิ่วบางยี่ห้อมีผลช่วยกระตุ้นการกินน้ำของสัตว์ทำให้ปัสสาวะเจือจางอีกด้วย นอกจากยังมีนิ่วอื่นๆอีกที่ไม่สามารถสลายได้ด้วยอาหาร แต่ในบทความนี้ขอกล่าวถึงแค่นิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลท
อาหารสำหรับรักษานิ่ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- อาหารสำหรับสลายนิ่ว
จะใช้แค่กับนิ่วที่สามารถสลายได้ด้วยอาหารเท่านั้น แต่ถ้าหากนิ่วมีขนาดใหญ่มาก หรือมีแนวโน้มที่จะรบกวนการใช้ชีวิตของสัตว์ เช่น ก่อให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบจนคุมไม่ได้ หรือ อุดตัน ขัดขวางทางเดินปัสสาวะ ก็อาจจะต้องผ่าตัดเอาออก แทนที่จะใช้อาหารสลายนิ่ว หากเลือกที่จะใช้วิธีการสลายนิ่วด้วยอาหารแล้ว ต้อง strict และจริงจังกับการคุมอาหารมากๆ เนื่องจากการให้อาหารอื่นเข้าไปในช่วงที่กินอาหารสลายนิ่ว จะมีผลรบกวนต่อความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ และอาจทำให้นิ่วไม่สลายตามระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้การรักษาไม่ประสบผลสำเร็จได้ นอกจากนี้การสลายนิ่วนั้นจะต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ จะขึ้นกับขนาดของก้อนนิ่ว และความสามารถในการควบคุมอาหารของเจ้าของ รวมถึง ปริมาณน้ำที่สัตว์กินต่อวัน อีกทั้งยังต้องควบคุมการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบให้ได้ด้วย หากทำได้ตามนี้นิ่วจึงจะสามารถสลายได้
อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญในการใช้อาหารสลายนิ่ว คือ การเริ่มต้นใช้อาหารสลายนิ่วนั้น แปลว่าสัตวแพทย์ที่ทำการรักษา มีข้อสันนิษฐานว่าสัตว์ป่วยที่กำลังรักษา มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นนิ่วชนิดที่สามารถสลายได้ด้วยอาหาร จากการตรวจปัสสาวะ และพิจารณารูปร่างของนิ่วจากภาพถ่ายเอกซเรย์ แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์โดยการส่งก้อนนิ่วไปตรวจ ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ว่าหลังจากที่กินอาหารสลายนิ่วแล้ว ชนิดของนิ่วที่กำลังทำการรักษาอาจจะมีส่วนประกอบของนิ่วที่สลายไม่ได้ ทำให้สลายไม่ได้ทั้งหมด สุดท้ายก็ยังต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดเช่นเดียวกัน
เมื่อกินอาหารสลายนิ่วจนสลายหมดแล้ว ยังต้องทานอาหารสลายนิ่วต่อเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่า ผลึกของนิ่วที่เรามองไม่เห็นจากภาพเอกซเรย์จะหายไปหมดด้วย เมื่อสำเร็จดังนั้นแล้วจึงจะนับว่าเสร็จขั้นตอนการรักษา หลังจากนั้นสัตวแพทย์จะนัดดูอาการ และตรวจปัสสาวะซ้ำเรื่อยๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้ว นิ่วชนิดนี้เกิดจากการอักเสบติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ การควบคุมและติดตามการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนิ่วชนิดนี้ ในสุนัขเมื่อสลายนิ่วแล้ว ถ้าควบคุมการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ สามารถเปลี่ยนไปทานอาหารชนิดอื่นได้ ส่วนในแมวส่วนใหญ่จะไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่จะเกิดจากตัวสัตว์เอง ดังนั้น ต้องควบคุมให้กินอาหารควบคุมนิ่วไปตลอดชีวิต
- อาหารสำหรับควบคุมนิ่ว
อาหารชนิดนี้ใช้สำหรับควบคุมการเกิดนิ่วเพิ่ม หรือการกลับมาเกิดนิ่วซ้ำ โดยจะใช้กับนิ่วที่ไม่สามารถละลายได้ด้วยอาหาร เช่น แคลเซียมออกซาเลท หรือนิ่วที่ละลายได้ยาก เช่นนิ่วซิสทีน หรือ ยูเรท หรือนิ่วที่สามารถละลายได้หลังจากที่ได้รับการผ่าตัดเอาออกไปแล้ว
ความสำคัญของการให้อาหารควบคุมนิ่ว คือต้องกินแค่อาหารควบคุมนิ่วเพียงอย่างเดียว ไม่ควรเสริมอาหารอื่นๆเพิ่ม เพราะจะทำให้ความเป็นกรดด่างของอุจจาระเปลี่ยน และไม่สามารถคุมการเกิดนิ่วเพิ่มได้ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่สัตว์กินต่อวัน มีความสำคัญมาก เพราะถ้าปัสสาวะเข้มข้น ก็จะมีความเสี่ยงที่สารก่อนิ่วจะรวมตัวกัน แล้วกลายเป็นนิ่วได้มากขึ้น
เรื่องที่น่าเศร้าสำหรับนิ่ว คือนิ่วเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่โรคที่เป็นเดี่ยวๆ หากเราไม่สามารถคุมปัจจัยเกี่ยวกับตัวสัตว์ หรือโรคประจำตัวบางอย่างที่สัตว์เป็นอยู่ ปัจจัยเหล่านั้นจะโน้มนำให้สัตว์มีโอกาสกลับมาเป็นนิ่วซ้ำได้เรื่อยๆ ทั้งๆที่คุมอาหารอย่างดีแล้ว
ตัวอย่างของภาวะที่โน้มนำดังกล่าว เช่น
- สายพันธุ์ของสัตว์ เช่น สุนัขพันธุ์ miniature schnauzer ที่มีการขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วแคลเซียม, สุนัขพันธุ์ dalmatian ที่มีความผิดปกติของเอนไซม์บางตัว ส่งผลให้มีกรดยูริกในปัสสาวะมากกว่าสายพันธุ์อื่น ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วยูเรท เป็นต้น
- ความอ้วน ในสัตว์ที่อ้วนจะส่งเสริมให้มีปัญหาในการปัสสาวะ รวมถึงการเคลื่อนไหวของสัตว์จะลดลง ทำให้มีการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น โอกาสในการเกิดนิ่วก็จะเพิ่มขึ้น
- สัตว์ที่มีความผิดปกติในการควบคุมการปัสสาวะ เช่น สัตว์ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทไขสันหลัง หรือมีปัญหาเชิงกราน สัตว์ในกลุ่มนี้จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะวนไปวนมา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถเกิดนิ่วจากการติดเชื้อวนไปเรื่อยๆได้
- สัตว์ป่วยที่มีโรคทางระบบร่างกายที่โน้มนำให้มีการขับสารก่อนิ่วออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น เช่น Cushing’s syndrome ทำให้มีการขับแคลเซียมออกมาในปัสสาวะมากขึ้น หรือโรคความผิดปกติของหลอดเลือดที่ตับ portosystemic shunt ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดกรดยูริกได้อย่างปกติ ทำให้มีกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น และถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้มากขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ทำให้การควบคุมการเกิดนิ่วยากขึ้น นอกจากปัจจัยเหล่านี้ยังมีปัจจัยเรื่องการเลี้ยงดูอื่นๆ เช่น การให้ขนมขบเคี้ยว การเสริมแคลเซียมให้สัตว์อย่างไม่เหมาะสม การให้ผัก-ผลไม้บางอย่างที่มีส่วนประกอบของสารก่อนิ่วในระดับสูง และการได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อวัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้กลับมาเป็นนิ่วใหม่ได้ทั้งสิ้น
ดังนั้น เราจึงไม่สามารถมองว่านิ่วเป็นโรคเพียงโรคเดียวได้ หากแต่ต้องมีการประเมินอาการป่วยอื่นๆของสัตว์ ประวัติการป่วย และปัจจัยเกี่ยวกับตัวสัตว์ร่วมด้วยเสมอ และทำการรักษาควบคู่กันไปเท่าที่ควบคุมได้ เช่น ต้องลดน้ำหนักควบคู่ไปด้วยในรายที่อ้วน หรือผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดที่ผิดปกติ ก็จะช่วยให้ควบคุมการเกิดนิ่วซ้ำได้ อย่างไรก็ตามปัจจัยบางอย่างอาจจะคุมไม่ได้ เนื่องจากเป็นปัจจัยเกี่ยวกับตัวสัตว์เอง เช่นการขับแคลเซียมออกมากับปัสสาวะมากกว่าปกติ หรือภาวะหลอดเลือดผิดปกติที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ สิ่งเหล่านี้อาหารจะช่วยชะลอการเกิดนิ่วได้ แต่อาจจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่กลับมาเป็นอีก เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด และตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาร่วมกัน
สำหรับคำถามที่ผู้เขียนได้รับบ่อย ๆ คือของกินเล่นที่สามารถกินได้ ในสัตว์ป่วยโรคนิ่ว ทั้งนี้ของกินเล่นที่กินได้นั้น ขึ้นกับชนิดของนิ่วที่สัตว์เลี้ยงเป็น นิ่วแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป บทความนี้จะทำให้เจ้าของเข้าใจถึงบทบาทของอาหารในการรักษานิ่วมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้กับสัตว์เลี้ยงของท่านได้ค่ะ
บทความโดย
สพ.ญ. ฐิตา เตโชฬาร
Thita Taecholarn DVM, MS
คลินิกทางเดินปัสสาวะ หัวใจ และเบาวหวาน
Urology clinic , Cardiology clinic and Diabetic clinic
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Small Animal Teaching Hospital , Chulalongkorn University