เวลช์ คอร์กี้ (Welsh corgi) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

Welsh corgi (เวลช์ คอร์กี้) เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก คำว่า Corgi มาจากคำว่า Cor + gi ซึ่งในภาษาเวลส์ Cor (คอร์) มาจาก cur หมายถึง แคระ และ gi (กี้) มาจาก ci (ย่อมาจาก Cymreig) มีความหมายว่า สุนัข

มีถิ่นกำเนิดมาจากเเคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ The Pembroke Welsh Corgi (พ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้) และ The Cardigan Welsh Corgi (คาร์ดิแกน เวล์ช คอร์กี้) แต่ที่นิยมในบ้านเราคือพันธุ์ พ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้ โดยทั้ง 2 สายพันธุ์มีโอกาสที่จะเกิดโรคจากกรรมพันธุ์ได้น้อย การที่สุนัขพันธุ์เวล์ช คอร์กี้ ได้รับความนิยมเลี้ยงมากนั้น มาจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งพระองค์ทรงเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ไว้มากถึง 4 ตัว

Welsh corgi

เเละจากหลักฐานในคริสต์ศตวรรษที่ 11 มีการกล่าวถึงชื่อสุนัขพันธุ์เวล์ช แคทเทิล (Welsh cattle) ซึ่งถูกนำมาเลี้ยงเป็นสุนัขที่ใช้ทำงานในฟาร์มปศุสัตว์ หรือจะเรียกอีกนัยว่าเป็นบรรพบุรุษของสุนัขพันธุ์เวล์ช คอร์กี้  ในยุคปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก ด้วยเอกลักษณ์ของลำตัวที่ค่อนข้างสั้นแคระ พวกมันจึงมีข้อได้เปรียบเเตกต่างจากสุนัขพันธุ์อื่น ๆ  โดยเฉพาะการทำหน้าที่ต้อนฝูงวัว ที่สามารถหลบจากการถูกดีดหรือเตะได้ เนื่องจากมีช่วงขาที่สั้น คอร์กี้จึงมักวิ่งอยู่ข้างหลังวัว โดยถ้ามีวัววิ่งย้อนกลับมา หรือพยายามเข้าหามัน  คอร์กี้จะกระโดดกัดที่จมูกของวัว เพื่อให้วัวกลับเข้าฝูงไปเหมือนเดิม นอกจากจะใช้คุมฝูงวัวแล้ว เจ้าคอร์กี้ยังสามารถใช้คุมฝูงแกะ และม้าแคระ (Welsh ponies) ได้ หรือจะเลี้ยงไว้เป็นสุนัขเฝ้าบ้านก็เเสนฉลาดเเละน่ารัก

กระทั่งในปีค.ศ.1925 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำสุนัขพันธุ์เวล์ช คอร์กี้ มาโชว์ในงาน Ring in Wales  จนได้รับรางวัลจากบุคลิกที่โดดเด่น สามารถสร้างความประทับใจให้เเก่ผู้คนที่มาเที่ยวชมงาน ทำให้นับจากนั้นสุนัขพันธุ์นี้ ก็ได้รับความนิยมเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ลักษณะทางกายภาพ

Welsh corgi

พ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้ มีขนาดตัวเล็กกว่าคาร์ดิแกน เวล์ช คอร์กี้ มีลักษณะเด่นคือ หูตั้งชัน  ใบหน้าคล้ายสุนัขจิ้งจอก หางสั้น ลักษณะคล้ายตัดหางสุนัข (Docking) หรือ หางสั้นมาก ๆ (Bob tail) ซึ่งปัจจุบันหางของพ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้ เริ่มยาวเหมือนพันธุ์คาร์ดิแกน เวล์ช ทำให้มีคนบางกลุ่มนิยมทำการตัดหางสุนัขออก จากความโหดร้ายดังกล่าว บางประเทศจึงได้ออกกฎห้ามตัดหางสุนัข โดยเฉพาะกับสุนัขพันธุ์นี้

ส่วนสูงของ พ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้ ทั่วไปมักมีขนาด 10-12 นิ้ว หรือ 25.4-30.4 เซนติเมตร วัดจากหัวไหล่ถึงพื้น และมีน้ำหนักตัวประมาณ 28 ปอนด์ หรือ 12.7 กิโลกรัม

ในขณะที่คาร์ดิแกน เวล์ช คอร์กี้ มีขนาดตัวใหญ่ หูกว้าง หางยาว กระดูกหนา ใบหน้าคล้ายสุนัขจิ้งจอก ลำตัวมีความยาวมากกว่าความสูง หลังตรง ขนปกคลุม 2 ชั้น : ขนชั้นนอกจะหนา ค่อนข้างหยาบ และขนยาวปานกลาง, ขนขั้นในหนา นุ่ม และขนสั้น มีสีขนหลายสีปนกัน โดยขนสีขาวจัดเป็นลักษณะด้อย

ส่วนสูงของ คาร์ดิแกน เวล์ช คอร์กี้ มักอยู่ที่ประมาณ 12 นิ้ว หรือ 30.4 เซนติเมตร วัดจากหัวไหล่ถึงพื้น และมีน้ำหนักตัวประมาณ 30 ปอนด์ หรือ 13.6 กิโลกรัม

สีขน : แดง (red), น้ำตาลเข้มออกแดง (Sable), สีเทาแกมเหลือง (Fawn), สีดำ (Black), และสีแทน (Tan) อาจจะมีและไม่มีสีขาวแซม

ลักษณะนิสัย

Welsh corgi

สุนัขพันธุ์เวล์ช คอร์กี้ จัดเป็นสุนัขคล่องแคล่ว เชื่อฟัง มีความกล้าหาญ กระตือรือร้น และร่าเริงไม่ต้องการที่จะอยู่นิ่ง ๆ ถือเป็นสุนัขประจำบ้านที่ดีพันธุ์หนึ่ง โดยในตำนานกล่าวไว้ว่าเป็น “สุนัขนักรบเทพนิยาย”

พ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้ เป็นสุนัขแข็งแรง เด็ดเดี่ยว มีความอดทนในการทำงานต่อวันที่ฟาร์ม เป็นมิตร ชอบเข้าสังคม รวดเร็วว่องไว และเปลี่ยนทิศทางได้อย่างคล่องแคล่ว

คาร์ดิแกน เวล์ช คอร์กี้ เป็นสุนัขกล้าหาญ แข็งแรง กระตือรือร้น ตื่นตัวตลอดเวลา ฉลาด เด็ดเดี่ยว  และไม่กลัวคน แต่ไม่ก้าวร้าว

สุนัขพันธุ์เวล์ช คอร์กี้ จึงถูกนำมาเล่นกีฬา เช่น กีฬาวิ่งวิบาก (Agility) , กีฬาวิ่งแข่งคาบลูกบอล (Flyball) แสดงสุนัขโชว์ (Showmanship) , สุนัขสะกดรอย (Tracking) , และการแข่งขันต้อนแกะ (Herding events) เป็นต้น

โรคประจำพันธุ์

  • โรคผิวหนัง
    • โรคที่เกิดการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อและผิวหนัง (Dermatomyositis)
  • โรคระบบประสาท
    • โรคกระดูกคอเสื่อม (Degenerative myelopathy)
    • โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Intervertebral disc disease (IVDD))
  • โรคระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดชนิดเส้นเลือดแดงที่เกินผิดปกติระหว่างปอดและหัวใจ (Patent ductus arteriosus)
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    • ภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด (Portosystemic shunt (PSS))
  • โรคไตและทางเดินปัสสาวะ
  • โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
    • โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
  • โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
    • โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand’s disease (vWD))
  • โรคตา
    • โรคขนตางอกผิดปกติ (distichiasis)
    • โรคเนื้อเยื่อรูม่านตาเหลือหลังคลอด (Persistent pupillary membrane (PPM))
    • โรคต้อกระจก (cataracts)
    • โรคจอประสาทตาเสื่อม (progressive retinal atrophy)

เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่