ประวัติสายพันธุ์
สุนัขพันธุ์ มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก พบครั้งแรกในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศเยอรมนี (Germany) เป็นสุนัขที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสุนัขพันธุ์สแตนดาร์ดชเนาเซอร์ (Standard Schnauzer) กับสุนัขพันธุ์แอฟเฟนพินเชอร์ (Affenpinscher) ถูกนำมาใช้เป็นสุนัขล่าหนู (Rat hunter) ในฟาร์มเยอรมัน รวมถึงนำมาใช้คุมฝูงสัตว์ในฟาร์ม มักใช้งานคู่กับสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น สุนัขพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด (German shepherd) และสุนัขพันธุ์นี้มีความสามารถในการได้ยินเสียงในระยะไกล สามารถระบุตำแหน่งของเสียงที่ได้ยินได้
ในปี ค.ศ. 1899 สุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ ได้ถูกแยกออกจากกลุ่มสุนัขพันธุ์สแตนดาร์ดชเนาเซอร์ เนื่องจากสุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ มีหน้าตาที่เคร่งขรึม ดูไม่เป็นมิตรแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน
ในปี ค.ศ. 1933 สมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้ขึ้นทะเบียนทั้ง 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์สุนัขมินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทอร์เรีย (Terrier group) และสุนัขพันธุ์พันธุ์สแตนดาร์ดชเนาเซอร์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสุนัขทำงาน (Working dog)
การตั้งชื่อสายพันธุ์สุนัขว่า ชเนาเซอร์ ในภาษาเยอรมัน มีความหมายว่า ปาก เนื่องจากสุนัขพันธุ์นี้มีลักษณะเด่น คือบริเวณปากจะมีหนวด หรือเครา
ลักษณะทางกายภาพ
สุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ จะมีลักษณะเด่นที่พบได้ คือ จมูกยาว เป็นรูปทรงสีเหลี่ยม (Rectangular snout) และขนบริเวณหน้ายาวเป็นหนวด หรือเครา ขนปกคลุม 2 ชั้น ชั้นนอกจะหยาบ แข็งและหยิก ชั้นในขนจะอ่อน และขนมีสีเทา (Grey) หรืออาจพบสีดำ (Black) และดำเงิน (Black with blue) ได้
บริเวณหัวมีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยม มีคิ้ว หูจะพับตกมาข้างหน้าโดยธรรมชาติ แต่หากได้รับการดัดจะตั้งตรงได้
สุนัขเพศผู้มีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 12-14 นิ้ว หรือ 30.5-35.6 เซนติเมตรขณะยืน และมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 11-20 ปอนด์ หรือ 5-9 กิโลกรัม และสุนัขเพศเมียมีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 11-13 นิ้ว หรือ 28-33 เซนติเมตรขณะยืน และมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 10-15 ปอนด์ หรือ 5-7 กิโลกรัม
อายุขัย
สุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 12-14 ปี หากสุนัขมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เกิดโรคจากพันธุกรรม หรือโรคทั่วไป จะทำให้สุนัขมีอายุยืนยาวมากกว่าช่วงอายุเฉลี่ยได้
ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ เป็นสุนัขที่ฉลาด กระฉับกระเฉง ว่องไว ขี้เล่น มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบเห่า รักเจ้าของ และเป็นมิตรมากกว่าสุนัขพันธุ์ไจแอนท์ ชเนาเซอร์ (Giant Schnauzer) และสุนัขพันธุ์สแตนดาร์ดชเนาเซอร์
เป็นสุนัขที่มีความตื่นตัวไวมาก เมื่อได้ยินเสียงจากระยะไกลๆ เป็นความสามารถพิเศษที่สุนัขสายพันธุ์อื่นไม่มี ทำให้สามารถเตือนเจ้าของถึงภัยอันตรายได้
การเข้ากับเด็ก
สุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ สามารถเข้ากับเด็กได้ดี ถึงแม้ในอดีตจะถูกใช้งานอย่างหนักทำให้ดูมีนิสัยดุร้าย แต่ในปัจจุบันสุนัขมีความขี้เล่น รักใคร่เด็กและถึงครอบครัว หากในเด็กเล็กมากๆ ควรคอยสังเกตเด็กขณะเล่นกับสุนัข เนื่องจากเด็กอาจได้บาดเจ็บจากสุนัขได้
การดูแล
การออกกำลังกาย
สุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ เป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่มีพลังงานปานกลาง จำเป็นต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ประมาณ 20-40 นาทีต่อวัน เช่น การให้สุนัขเดินเร็ว หรือพาสุนัขเล่นกิจกรรม จะทำให้สุนัขมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และสุขภาพแข็งแรง
อาหาร
สุนัขพันธุ์มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนสายพันธุ์อื่น เพียงให้อาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วย โปรตีน (Protein), ผัก (Vegetables), และไขมัน (Fats) ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเมล็ดธัญพืช (Grain filters) เป็นองค์ประกอบ เช่น ถั่วเหลือง (Soy), ข้าวโพด (Corn), และข้าวสาลี (Wheat) เพราะจะทำให้ย่อยยาก และเกิดการแพ้อาหารได้
ปริมาณอาหารที่แนะนำสำหรับสุนัขพันธุ์ มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ ประมาณ 3/4 – 1 ถ้วยต่อวัน แบ่งเป็น 2 มื้อเท่ากัน
โรคประจำพันธุ์
- โรคผิวหนัง
- ต่อมไขมันและรูขุมขนอุดตัน ที่บริเวณหลังและคอ (Schnauzer comedo syndrome)
- โรคระบบประสาท
- โรควิตกกังวล (Anxiety)
- โรคกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตตั้งแต่กำเนิด (Myotonia Congenita)
- โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
- ภาวะหลอดอาหารขยายใหญ่ตั้งแต่กำเนิด (Congenital Megaesophagus)
- โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
- ภาวะนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Urolithiasis หรือ Urinary Stones)
- โรคระบบต่อมไร้ท่อ
- ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
- โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus (DM))
- โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
- โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand’s disease : vWD)
- โรคตา
- โรคต้อกระจก (Cataracts)
- โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive retinal atrophy)
- โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน (Entropion eyelids)
- โรคมะเร็ง
- เนื้องอกมาสต์เซลล์ (Mast cell tumors)
เรื่อง ทรงภูมิ อานันทคุณ