ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สุนัขที่มีอาการกลัวเสียงฟ้าร้อง พลุ และประทัด สาเหตุเกิดมาจากสุนัขมีอารมณ์ไม่มั่นคง ขี้ระแวง ไม่ไว้ใจ มักจะกลัวเสียงแปลกๆ ที่ไม่คุนชิน และเสียงที่ดังเกินไป ไม่เว้นแม้แต่คนเราเอง ที่บางทีก็ตกใจกลัวกับเสียงที่ไม่คาดคิด หรือเสียงที่มีความถี่สูงๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
โดยปกติมนุษย์จะมีพิสัยการได้ยินอยู่ระหว่าง 20 – 20 kHz แต่ในภาวะอุดมคติของห้องทดลอง มนุษย์อาจได้ยินเสียงที่มีความถี่ต่ำถึง 12 kHz และความถี่สูงถึง 28 kHz คือสามารถได้ยินเสียงที่ค่อยที่สุดและดังที่สุดได้ในช่วงความถี่นั้น ทั้งนี้พิสัยการได้ยินของแต่ละคนจะลดลงไปตามช่วงวัยที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับสภาพทั่วไปของหูและระบบประสาทด้วย ส่วนสมรรถภาพการได้ยินของสุนัขปกติจะอยู่ที่ราว ๆ 67 – 45 kHz ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุ สุนัขบางพันธุ์มีพิสัยการได้ยินที่ลดลง เมื่ออายุมากขึ้น เช่น เยอรมันเชเพิร์ด และ พูเดิ้ลแคระ สุนัขที่มีอาการกลัวเสียงฟ้าร้อง
เมื่อได้ยินเสียงต่าง ๆ สุนัขจะขยับใบหูไปทางแหล่งเสียงเพื่อให้รับเสียงได้ดีที่สุด ลักษณะใบหูสุนัขจึงมีกล้ามเนื้ออย่างน้อย 18 มัด ทำให้เอียงและหมุนหูได้ อีกทั้งรูปร่างของใบหูยังช่วยให้ได้ยินเสียงดีขึ้น อย่างในสุนัขหลายพันธุ์มักจะมีหูตั้งตรง หรือตั้งโค้ง เพื่อช่วยส่งและขยายเสียง เพราะสุนัขได้ยินเสียงสูงกว่ามนุษย์จึงมีโลกการได้ยินที่ต่างจากมนุษย์ เสียงที่มนุษย์ฟังแล้วรู้สึกแค่ดังเฉย ๆ อาจมีความถี่สูงที่ทำให้สุนัขตกใจกลัวจนวิ่งหนีไปเลย ยกตัวอย่างการใช้เสียงที่เหมาะกับสุนัข อย่างนกหวีดที่ส่งเสียงอัลตราโซนิก หรือบางครั้งเรียกว่านกหวีดสุนัข สามารถใช้ฝึกสุนัขได้เพราะสุนัขตอบสนองต่อเสียงระดับนี้ได้ดี และในธรรมชาติสุนัขใช้การได้ยินระดับนี้เพื่อการล่าสัตว์และหาอาหาร
ในช่วงเทศกาลสังสรรค์รื่นเริงที่มนุษย์มักมีความสุขอยู่กับการเฉลิมฉลอง จนลืมไปว่าสัตว์โลกไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้น และแน่นอนการจุดพลุ หรือประทัดได้นำมาซึ่งอาการหวาดกลัว จิตตก สติแตก จนสุนัขหลาย ๆ ตัวมีพฤติกรรมก้าวร้าว ขู่ กัดเจ้าของและผู้อื่น บางเคสอาจรุนแรงถึงขั้นตกใจกลัวจนหนีออกจากบ้าน หายไปจากเจ้าของตลอดกาล หรือแม้แต่ถึงกับเสียชีวิตเพราะหัวใจวายก็มีให้เห็นกันมากมาย
และสำหรับเดือนสุดท้ายแห่งปีแบบนี้ ถ้าหากเพื่อน ๆ มีสัตว์เลี้ยงด้วยแล้วละก็ ควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้ ด้วยการเรียนรู้เพื่อปกป้องพวกเขาจากอาการต่าง ๆ ที่น้องหมาแสดงออกจากการหวาดกลัวเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นอาการหางจุกก้น เดิน วิ่งวนไปมา ตัวสั่น หอบ หาที่หลบตามมุม หรือใต้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในบางตัวอาจจะปัสสาวะ อุจจาระราด กัดมือเท้า หรือหางตัวเอง น้ำลายไหล ช็อก เกร็งขยับไม่ได้ โดยแต่ละตัวจะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป
5 ข้อห้าม
“ห้ามปลอบ ห้ามโอ๋ ห้ามกอด ห้ามใช้เสียงสอง ห้ามสัมผัสแบบปลอบประโลมโดยเด็ดขาด”
แล้วต้องทำยังไง ???
1.ฝึกให้เข้มแข็ง
สิ่งสำคัญที่สุดในการปรับพฤติกรรมสุนัข คือ เจ้าของ
เจ้าของต้องไม่คิดแทนสุนัข เช่น “อุ๊ยยยยยย…ฝนตก ฟ้าร้อง เดี๋ยวลูกจะกลัวไหม โอ๋ ๆ ๆ ๆ ไม่กลัวนะค้าาา” แล้วก็นั่งอุ้ม นั่งกอดปลอบเขา หรือตัวเจ้าของก็ตกใจและกลัวเอง เจ้าของต้องทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเขากลัวก็บอกไปด้วยโทนเสียงเรียบ ๆ ว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย หรือไม่มีอะไร เก่ง ๆ พร้อมตบไหล่เบา ๆ แบบแมน ๆ ไปเลย
2.หาสายจูงมาใส่ไว้
เริ่มฝึกโดยการหาสายจูงมาใส่ไว้เพื่อกันไม่ให้เขาวิ่งเตลิด หรือวิ่งไปหลบ หมุดใต้โต๊ะ ใต้โซฟา หรือซุกตามมุมประจำที่เขาคุ้นเคย แต่ถ้าเขาหลุดไปก็ให้พยายามพาเขาออกมาแล้วให้ขนมเป็นรางวัล แต่ห้ามให้กระโดดขึ้นตัก หรือปลอบประโลม และห้ามทำอะไรที่ทำให้เขาเข้าใจว่าเราเห็นด้วยกับการกระทำนี้โดยเด็ดขาด
5 ขั้นตอนง่ายๆ กับ การฝึกใช้สายจูงให้น้องหมา
3.เสริมความมั่นใจ
ทำได้โดยการฝึกท่าพื้นฐานง่าย ๆ เช่น ท่านอนตะแคง เพราะท่านี้เป็นท่าที่สุนัขจะทำต่อเมื่อรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ หรือ ต้องการอ้อนเจ้าของเท่านั้น ดังนั้นการฝึกให้เขาทำท่านี้บ่อย ๆ จะเป็นการสร้างความเชื่อใจให้เขารู้จักผ่อนคลายเวลามีเสียงดังเกิดขึ้น และในขณะที่ฝึกอาจลองใช้เสียงแปลก ๆ เสียงดัง หรือใช้วิธีอัดเสียงมาเปิดเพื่อจำลองสถานการณ์ โดยเจ้าของต้องให้สุนัขคงอยู่ในท่านอน แล้วผ่อนคลายเขาด้วยการเกา หรือนวดไปด้วย
4.ฝึกให้ชินกับเสียง
สร้างความคุ้นชินกับเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ด้วยการเปิดเสียงเหล่านี้ให้เขาฟัง โดยเริ่มจากระดับเสียงที่เบา ๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มให้ดัง ขึ้น สลับกับเสียงเพลง ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ พอของจริงมา เขาก็จะไม่แสดงอาการตื่นกลัว
5.สัมผัสบำบัด
ไม่ว่าจะมนุษย์ หรือสัตว์ชนิดไหน ๆ ย่อมต้องการการสัมผัส เพื่อช่วยให้รู้สึกปลอดภัยและคลายกังวล สำหรับสุนัขตั้งแต่แรกเกิดแม่สุนัขจะใช้ลิ้นเลียอย่างอ่อนโยน สัมผัสจากความอุ่นและน้ำหนักบนลิ้นของแม่จะสามารถช่วยคลายกังวลได้เป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจที่น้องหมาจะชื่นชอบการสัมผัส นั่นเป็นเพราะจะช่วยให้พวกเขาสงบลงได้และรู้สึกมั่นคง เพียงแค่เมื่อโตขึ้นเราต้องสัมผัสพวกเขาให้ถูกจุดเท่านั้นเอง
วิธีการ : ในขณะที่น้องหมาตัวสั่นและกลัว ให้เราเข้าไปนั่งใกล้ ๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ หรือส่งเสียงปลอบโยน ให้ใช้ความสงบของเราช่วยให้พวกเขาสงบลง จากนั้นให้เราวางมือที่บริเวณหัวไหล่ หรือหน้าอกของน้องหมานิ่ง ๆ ถ้าจะลูบก็ให้ลูบลงช้า ๆ ซึ่งในช่วงแรกน้องหมาอาจจะยังตื่นกลัวอยู่ แต่สักพักก็จะรู้สึกวางใจขึ้นเอง และถ้าเป็นไปได้ให้เปิดเพลงดนตรีเบา ๆ หรือใช้กลิ่นวานิลลาช่วยบำบัดร่วมด้วย และในขณะเดียวกันเจ้าของควรอยู่ในอารมณ์สงบ ผ่อนคลาย แต่มั่นคง เพราะถ้าเราตื่นกลัวไปกับเขา โอ๋ หรือ สงสาร ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เขาวิตกกังวล หรือเรียกร้องความสนใจมากยิ่งขึ้น
6.ปรึกษาสัตวแพทย์
หากลองทุกวิธีที่บอกมาแล้ว ยังไม่ได้ผล ลองปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับพฤติกรรม เพราะคุณหมออาจจะมองลึกลงไปในเรื่องระบบประสาท ความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ หรือการให้ยาคลายเครียด นอกจากนี้อาจพึ่งพาแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การนวดคลายเครียด แต่อย่าพาสุนัขไปสปา เพราะสุนัขอาจเกิดอาการแพ้ กลิ่นน้ำหอมแรง ๆ อาจทำให้ขนร่วง หรือเกิดอาการคัน บวม แดงได้
สุดท้าย การฝึกแบบบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอจะสามารถช่วยให้ สุนัขที่มีอาการกลัวเสียงฟ้าร้อง ค่อย ๆ ปรับอารมณ์และพฤติกรรม แล้วจะดีขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้การปรับพฤติกรรมสุนัขจะอยู่ที่เจ้าของเป็นหลัก ในกรณีที่ยากและไม่แน่ใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อย่าลืมว่าเจ้าของสุนัขเองเป็นตัวแปรสำคัญในการชี้เป็นชี้ตายให้กับชีวิตของสุนัข
การเลือกวิธี หรือการเชื่อที่จะทำเป็นการให้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าของพวกเขาหรือไม่นั้น มีคุณเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด
เมื่อเจ้าของพร้อม สุนัขเปลี่ยน มาเริ่มปรับทัศนคติของคุณกันนะ
Jojo House Dog Master
www.facebook/jojo house dog master
Tel. 081-554 6999