โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic syndrome) เป็นกลุ่มโรคของสุนัขและแมวที่มีจมูกสั้น เกิดปัญหาที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น (Upper airway abnormalities)
โดยการตั้งชื่อ โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น หรือ Brachycephalic syndrome มาจาก Brachy หมายถึงสั้น และ Cephalic หมายถึงส่วนหัว เนื่องจากมีลักษณะกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่แต่สั้นแบน ทำให้โครงสร้างของหน้า จมูก และปากสั้น นอกจากนี้ยังสามารถเรียกชื่อโรคทางภาษาอังกฤษได้อีกหลายแบบ ได้แก่ Brachycephalic respiratory syndrome, Brachycephalic airway obstructive syndrome หรือ Congenital obstructive upper airway disease เป็นต้น
องค์ประกอบของการเกิดโรค Brachycephalic syndrome เกิดจากความผิดปกติจากหลายองค์ประกอบ สามารถพบความผิดปกติได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดความผิดปกติร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การหายใจเข้าไปยังปอดเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยลักษณะความผิดปกติที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวสัตว์ได้ มีดังนี้
ความผิดปกติที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น
- รูจมูกตีบแคบ (Stenotic nares) เป็นการเจริญผิดปกติของรูจมูก ทำให้มีรูแคบหรือยุบแฟบเข้าไปเมื่อหายใจเข้า ทำให้สัตว์หายใจติดขัดเนื่องจากมีปัญหารูจมูกตีบแคบ
- เพดานอ่อนยาวกว่าปกติ (Elongated soft palate) คือการที่มีเนื้อเยื่อเพดานอ่อนยาวเลยฝาปิดกล่องเสียง (Epiglottis) หรือยื่นเข้าไปในส่วนท่อทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางการเคลื่อนที่ของอากาศเข้าไปยังปอด หากปล่อยไว้ระยะเวลานานอาจทำให้สัตว์มีอาการรุนแรงมากขึ้น จัดเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (Life threatening) รวมถึงหากพบสัตว์แสดงอาการสำลัก, ไอ, สัตว์ไม่ออกกำลังกาย, หรือหายใจลำบากติดขัดร่วมด้วย ควรทำการผ่าตัดเพดานอ่อนที่ยาวเกินออก
- การปลิ้นออกมาของเนื้อเยื่อกล่องเสียงด้านล่าง (Everted laryngeal saccules) คือเนื้อเยื่อที่ปลิ้นออกมาบริเวณข้างหน้าเส้นเสียง (Vocal cords) ที่อยู่ภายในกล่องเสียง (Larynx) เข้าไปในท่อลม (Windpipe หรือ Trachea) ทำให้การเคลื่อนที่ของอากาศเกิดการอุดตันบางส่วนเดินทางไปยังปอดได้ไม่สะดวก
ความผิดปกติอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น
- ท่อลมตีบ (Hypoplastic trachea หรือ Tracheal collapse) คือ ท่อลมมีขนาดเล็กกว่าปกติ
- กระดูกอ่อนกล่องเสียงตีบแคบ (Laryngeal collapse) จัดเป็นผลจากการอักเสบเรื้อรัง กระดูกอ่อนด้านในแข็ง ไม่สามารถเปิดปิดได้ตามปกติและยุบตัวลง เป็นสาเหตุทำให้อากาศไม่สามารถเข้าไปยังปอดได้
- กล้ามเนื้อกล่องเสียงอัมพาต (Paralysis of the larynx)
พันธุ์สัตว์ที่เกิด โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น
สุนัข
- อิงลิช บูลด็อก (English bulldog)
- เฟรนช์ บูลด็อก (French bulldog)
- ปั๊ก (Pug)
- ปักกิ่ง (Pekingese)
- บอสตัน เทอร์เรีย (Boston terrier)
- ชิสุ (Shih Tzu)
- ชาไป่ (Shar Pei)
- บ็อกเซอร์ (Boxer dogs)
- ลาซา แอปโซ (Lhasa Apsos)
- บุลล์ แมสติฟฟ์ (Bull Mastiffs)
แมว
- แมวเปอร์เซีย (Persian cat)
- แมวหิมาลายัน (Himalayan cat)
- แมวเบอร์มีส (Burmese cat)
อาการแสดงของโรคที่พบ
เนื่องจากสัตว์เกิดความผิดปกติของบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น หากสัตว์มีความผิดปกติหลายตำแหน่ง อาการที่แสดงจะมีความรุนมากขึ้น ทำให้สัตว์แสดงอาการความผิดปกติ ดังนี้
- ได้ยินเสียงหายใจดัง ขณะสัตว์ทำการหายใจเข้า (Noisy breathing)
- ใช้ปากหายใจแทนจมูกบ่อยขึ้น
- แสดงอาการลักษณะพยายามอาเจียน (Vomiting), ขย้อน (Retching), ไอ (Coughing), สำลัก (Gagging) โดยที่ไม่มีอะไรออกมา
- ออกกำลังกายได้ไม่นาน (Exercise intolerance) หรือไม่ยอมออกกำลังกาย อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วนได้
- ลิ้นและเหงือกสีม่วง (Blue tongue and gums หรือ Cyanosis) เนื่องจากขาดหรือมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอที่จะไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- หมดสติ (Collapse) เนื่องจากสัตว์ไม่สามารถทนต่อความเครียด, การใช้พลังงานมากเกินไป, การออกกำลังกาย, หรืออยู่ในที่มีอากาศร้อนและชื้น
- ท่านอนของสัตว์ ส่วนมากจะนอนในท่าหงายหลังติดพื้น (Sleep on their back) วางคางไว้บนที่สูงเวลานอนหลับ และนอนกรน (Snore) อาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
การวินิจฉัยโรค
การเกิดความผิดปกติรูจมูกตีบแคบ เป็นความผิดปกติที่ง่ายต่อการวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจร่างกายเบื้องต้น เพราะสามารถเห็นได้จากภายนอกร่างกาย (Visual inspection)
การเกิดเพดานอ่อนยาวกว่าปกติ, การปลิ้นออกมาของเนื้อเยื่อกล่องเสียงด้านล่าง, และความผิดปกติอื่นๆที่สามารถพบได้ จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยแยกโรคในขณะสัตว์สลบและทำการส่องกล้อง เนื่องจากสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้นส่วนมากจะมีลิ้นที่หนา รวมถึงเมื่อทำการตรวจภายในปาก สัตว์จะดิ้นและ หดลิ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นกล่องเสียงขณะที่สัตว์ตื่นอยู่ได้
เมื่อสัตว์สลบ และทำการตรวจช่องคอจะสามารถเห็น เพดานอ่อนยื่นยาวเลยฝาปิดกล่องเสียง เข้าไปในส่วนท่อทางเดินหายใจ หากในกรณีรุนแรง เพดานอ่อนจะยื่นยาวเข้าไปในกล่องเสียง เป็นสาเหตุทำให้กล่องเสียงเกิดการอักเสบในลักษณะบวมและแดงขึ้น ในกรณีที่เรื้อรัง กระดูกอ่อนของกล่องเสียงจะไม่สามารถยืดหยุ่นได้แบบของสัตว์ที่ปกติ
การปลิ้นออกมาของเนื้อเยื่อกล่องเสียงด้านล่าง จะพบเป็นก้อนเนื้อเยื่ออ่อนสีฟ้าเทายื่นออกมาบริเวณข้างหน้าเส้นเสียง เข้าไปในส่วนท่อทางเดินหายใจ
นอกจากนี้สัตวแพทย์ที่ทำการดูแล จะทำการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การฉายภาพรังสีบริเวณทรวงอก (Chest x-ray) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของท่อทางเดินหายใจส่วนปลาย และปอด
การรักษา
การรักษา โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น ต้องทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น โดยจะไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น แต่สามารถป้องกันการเกิดอาการรุนแรงขึ้นได้
1.ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดแก้ไขสัตว์ จำเป็นต้องให้สัตว์อยู่ในอาการคงที่ก่อนเสมอ
การเตรียมตัวสัตว์ก่อนวางยาสลบสามารถให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) จะช่วยลดการอักเสบบริเวณทางเดินหายใจระยะสั้น และให้ออกซิเจน (Oxygen therapy) ก่อนการผ่าตัด
2.การผ่าตัด
รูจมูกตีบแคบ สามารถแก้โดยทำการขยายเนื้อเยื่อโพรงจมูกให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจได้มากขึ้น
ความผิดปกติของเพดานอ่อนยาว ควรทำการรักษาเมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคแล้ว ด้วยวิธีการผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนยาว (Staphylectomy) โดยสามารถใช้การตัดตามธรรมดาร่วมกับเครื่องจี้ไฟฟ้าหรือเครื่องจี้คลื่นความถี่วิทยุหรือใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 laser) เพื่อตัดเนื้อเยื่อเพดานอ่อนที่ยาวเกินออก
การปลิ้นออกมาของเนื้อเยื่อกล่องเสียงด้านล่าง สามารถตัดเนื้อเยื่อที่ปลิ้นออกมาออกได้เหมือนกับวิธีการผ่าตัดเพดานอ่อนยาว หรือนำเนื้อเยื่อที่ปลิ้นออกมากลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม หากสามารถดันกลับได้
การดูแลหลังการผ่าตัด และผลจากการผ่าตัด
ในกรณีที่มีอาการบวมบริเวณที่ทำการผ่าตัด อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดทางเดินหายใจจากภายนอกเข้าสู่หลอดลมบริเวณคอโดยผ่านผนังคอด้านหน้า (Temporary tracheostomy) เพื่อช่วยในการหายใจหรือดูดเสมหะ เมื่อเจาะคอแล้วจะใส่ท่อหลอดลมคอ (Tracheostomy tube) ซึ่งจะถอดท่อหลอดลมออกเมื่อบริเวณที่ทำการผ่าตัดหายบวม และสัตว์สามารถกลับมาหายใจได้ปกติ โดยรูที่เจาะบริเวณคอจะปิดได้เอง และเพื่อป้องกันการเกิดการอักเสบ หรือเลือดออกที่จะทำให้เกิดการอุดตันส่วนของทางเดินหายใจ รวมถึงสามารถพบสัตว์แสดงอาการโดยทั่วไป เช่น ไอ หรือสำลัก เป็นต้น
ในกรณีที่มีอาการเรื้อรัง หากกระดูกอ่อนของกล่องเสียงไม่สามารถกลับมายืดหยุ่นได้เหมือนปกติ ถึงแม้จะทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อเพดานอ่อนยาวกว่าปกติ และเนื้อเยื่อที่ปลิ้นออกมาของกล่องเสียงด้านล่างออกแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องรักษาด้วยการเปิดช่องทางใหม่เข้าไปในหลอดลมผ่านบริเวณคอ ด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดทางเดินหายใจจากภายนอกเข้าสู่หลอดลมบริเวณคอ (Permanent tracheostomy) โดยเย็บผนังหลอดลมกับชั้นผิวหนัง ร่วมกับการเย็บปิดกั้นทางเดินหายใจจากส่วนบน ทำให้เกิดเป็นรูเปิดถาวรที่ผิวหนังคอ
หากสัตว์ได้รับการวินิจฉัย (diagnose) ตั้งแต่อายุยังน้อย (อายุน้อยกว่า 2 ปี) และน้ำหนักตัวปกติ จะง่ายต่อการแก้ไขปัญหาทางเดินหายใจที่เกิดความผิดปกติขึ้น และลดโอกาสการเกิดภาวะหายใจลำบาก ซึ่งหากเป็นสัตว์ที่มีอายุมากและอ้วนจะยากต่อการผ่าตัดรักษา เนื่องจากสัตว์มักจะมีการเกิดความผิดปกติของแผ่นกระดูกอ่อนของฝาปิดกล่องเสียง จัดเป็นอาการเรื้องรังของโรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น มาก่อนพบสัตวแพทย์ที่ทำการรักษา
การป้องกัน
การป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจสำหรับสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้นที่เจ้าของเลี้ยง คือไม่ควรนำสุนัขหรือแมวที่มีประวัติการเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับปัญหาทางเดินหายใจเป็นพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ซึ่งทางสัตวแพทย์จะแนะนำให้ทำหมันหลังจากที่ได้รับการรักษาโรคนี้แล้ว
บทความโดย
อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital
และ
น.สพ. วิจิตร สุทธิประภา (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wichit Sutiprapa, DVM, MS, DTBVS
หน่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Surgery Unit, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen