โดยปกติแล้ว สัตว์เลี้ยงมักจะใช้ปากและจมูกสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้ในบางครั้งอาจได้รับสารพิษเข้าไปแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะจากสิ่งของ และของใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร หรือยาสำหรับคน ที่ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ก็อาจจะเป็น สารพิษต่อสัตว์เลี้ยง ได้
ระดับของความรุนแรงของ สารพิษต่อสัตว์เลี้ยง ที่ทำให้เกิดอาการ และการส่งผลกระทบต่อร่างกายในส่วนต่าง ๆ ตามมานั้น ก็จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความจำเพาะของชนิดสัตว์กับสารพิษที่ร่างกายได้รับ และช่องทางการสัมผัสกับสารพิษ อย่าง ทางการกิน การหายใจ หรือการสัมผัสโดยตรง ซึ่งในประเทศไทย สัตวแพทย์ก็พบปัญหาสัตว์เลี้ยงกินสารพิษอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ระดับอาการที่เกี่ยวระบบทางเดินอาหาร อาการทางประสาท หัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จนอาจถึงขั้นโคม่า และเสียชีวิต บ้านและสวน Pets จึงมี 10 อันดับ ของใช้ภายในบ้านที่มักจะเป็นปัญหามาเตือนกันครับ
จะทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าสุนัขกินสารพิษเข้าไป
หากคุณคิดว่าสัตว์เลี้ยงของคุณได้รับสารพิษ อย่างแรก คุณต้องต้องใจเย็น ๆ จากนั้นเริ่มการปฐมพยาบาล
- เมื่อสัตว์เลี้ยงกินสารพิษเข้าไปเกิน 1 ชั่วโมง ให้กระตุ้นสัตว์เลี้ยงให้อาเจียนออกมา โดยป้อนไข่ขาวดิบ หรือนม หรือป้อนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% 1-2 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ป้อนผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) เพื่อช่วยดูดซับสารพิษ
- รีบพามาพบสัตวแพทย์ โดยคิดทบทวนว่า อะไรน่าจะเป็นสารพิษที่ได้รับเข้าไป จากนั้นให้นำภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ของสารพิษ และตัวอย่างอาเจียน(ถ้ามี) มาให้สัตวแพทย์ด้วยทุกครั้ง
*** แต่เราจะไม่กระตุ้นให้สัตว์เลี้ยงอาเจียน
- ในกรณีที่สารพิษมีความเป็นกรดหรือด่างอย่างแรง ทำลายหลอดอาหารเมื่ออาเจียนได้
- เมื่อสัตว์รู้สึกตัวไม่สมบูรณ์ หมดสติ หรืออ่อนแรง เพราะ อาเจียนที่ออกมา อาจไหลกลับลงไปที่หลอดลม เกิดเป็นปอดอักเสบได้
- สารที่มีองค์ประกอบของพาราฟิน น้ำมันปิโตรเลียม สารระเหย ถ้าอาเจียนออกมาก็จะเข้าปอด ทำให้เป็นปอดอักเสบได้
- สารที่มีองค์ประกอบผงซักฟอก อาจสำลักเข้าปอดได้
การป้องกันการพิษ : สัตว์เลี้ยงเมื่อสำรวจบ้าน
ทางที่ดีที่สุด คือ การลดโอกาศที่สุนัขจะกลายเป็นเหยื่อของสารพิษ โดยการป้องกันการได้รับสารประกอบที่เป็นอันตราย
- เก็บยาต่าง ๆ ให้มิดชิด เช่นในขวด หรือ ในตู้ทีสัตว์เลี้ยงเข้าถึงได้ยาก และเมื่อใดที่ทำยาตกลงที่พื้น ต้องรีบมองหาและเก็บในทันที หรือช่วยผู้สูงที่ใช้ระมัดระวังเรื่องดังกล่าว
- ปฏิบัติตามข้อแนะนำของงการใช้ผลิตภัณท์กำจัดเห็บหมัด
- คุณยังสามารถให้อาหารคนแก่สัตว์เลี้ยงได้ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นพิษต่าง ๆ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามสัตวแพทย์ เพื่อความปลอดภัยในการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง
- จำเป็นอย่างยิ่งว่าควรเก็บยาฆ่าแมลงต่างๆไว้ในที่ที่ปลอดภัย ในตู้เหล็ก หรือตู้สูงๆที่สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเข้าถึงได้ จำไว้เสมอว่ายาฆ่าแมลงเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงของคุณที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรอ่านข้อระวังในการใช้ผลิตภัณท์เหล่านี้ รวมถึงบอกเพื่อนบ้านของคุณ เพื่อช่วยระวังการใช้สารพิษเหล่านี้ เพื่อช่วยในการปกป้องสัตว์เลี้ยงของพวกเรา
- ในเวลาที่คุณซื้อพืชพันธุ์เข้าบ้าน เลือกในสิ่งที่จะไม่ก่อพิษแก่สัตว์เลี้ยงของคุณในเวลาที่เขากัดแทะ
- เก็บสารเคมีต่าง ๆ รวมถึงน้ำยาทำความสะอาดไว้ในพื้นที่ที่คุณมั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะเข้าถึงไม่ได้
10 อันดับสารพิษต่อสัตว์เลี้ยง
อันดับที่ 1 ยาที่ไม่จำเป็นต้องสั่งโดยแพทย์ (Over-the-counter medications)
จำพวก เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ เช่น acetaminophen(paracetamol), ibuprofen และ naproxen และ ยังรวมถึง สมุนไพร และอาหารเสริมอื่น ๆ อีกด้วย
- Paracetamol (acetaminophen)
ในแมว ปัจจุบันสังคมสัตว์เลี้ยงของไทยรู้ในวงกว้างว่า “ห้ามให้ paracetamol กับแมว เพื่อแก้ปวดและลดไข้กับแมว” แต่อย่างไรก็ดีเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางท่านก้ยังให้ยาเองกับสัตว์เลี้ยง ผลที่เกิดจากพิษของ paracetamol ทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเสียหายที่ตับอีกด้วย อาการที่พบในแมว คือ ซึม อาเจียน อุณหภูมิร่างกายต่ำ หายใจลำบาก เหงือกม่วง และบวมน้ำบริเวณหน้าและอุ้งเท้า และมักจะพบเลือดจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ดีซ่านร่วมด้วย
ในสุนัขอวัยวะเป้าหมายของการเกิดพิษจาก paracetamol คือ ตับ โดยอาการที่พบในสุนัข คือ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง หายใจเร็วและแรง หัวใจเต้นเร็ว ดีซ่านและทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ การมี Methaemoglobin สูงในกระแสเลือด สามารถพบได้ในสุนัขที่ได้รับ paracetamol ในขนาดที่สูงมากกว่า 200 mg/kg
คุณหมอขอใช้พื้นที่ตรงนี้แจ้งอีกครั้งครับว่า ไม่ควรให้ยากับสัตว์เลี้ยงด้วยตัวเองโดยเฉพาะยาพาราและยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ที่ใช้ในคนกับสัตว์เลี้ยงเอง (เช่น ibuprofen) ถ้าสัตว์เลี้ยงมีไข้ การปฐมพยาบาลที่ปลอดภัยสุดคือ การเช็ดตัวสัตว์โดยเฉพาะบริเวณใต้อด รักแก้ ขาหนีบ ท้องในส่วนที่ไม่มีขนด้วยผ้าชุบน้ำย็นก่อนนำมาพบสัตวแพทย์
- ยาแก้แพ้ (Antihistamine)
อาการของสัตว์เมื่อกินเข้าไปในปริมาณมากมักจะปรากฎภายใน 30 นาทีหลังจากกิน อาการส่วนใหญ่จะเป็นอาการจากระบบประสาท ทำให้สัตว์มีอาการซึม ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นโคม่าและหายใจลำบากอย่างรุนแรง แต่หากกินเข้าไปในปริมาณมาก โดยเฉพาะในลูกสัตว์อาจแสดงอาการ เยื่อเมือกแห้ง ผ่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว และอาจพบอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย
- วิตามินดี (Vitamin D)
อาการของสุนัขที่ได้รับวิตามินดี มักจะเป็นพิษมาจากการที่มีระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูง เนื่องจากมีการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็กมากขึ้น ซึ่งได้มาจากการสลายแคลเซียมจากกระดูกและเพิ่มการดูดกลับของแคลเซียมที่ท่อไตส่วนต้น โดยอาการที่พบมักปรากฎภายใน 12-36 ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไป คือ อาเจียน ความดันเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่สัตว์ได้รับพิษจากวิตามินดีคือ มาจากวิตามินดีที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในยาเบื่อหนู
อันดับที่ 2 ยาคนที่สั่งจ่ายโดยแพทย์
ยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลในการรักษาต่อคน แต่อาจให้ผลในตรงกันข้ามในสัตว์เลี้ยง แม้ว่าจะไม่ได้รับในปริมาณมากก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายสัตว์ที่ร้ายแรงได้
ยาในกลุ่มที่เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น หรือ Attention deficit hyperactivity disorder (ADHD), ยาคลายเครียด(antidepressants) และยากลุ่มโรคหัวใจ เป็นยากลุ่มที่สัตว์เลี้ยงชอบกินเข้าไป อย่างไรก็ตามสัตว์เลี้ยงของท่านสามารถแสดงอาการข้างเคียงอย่างชัดเจนหลังจากกินยาสำหรับคนเข้าไป จึงควรเก็บยาทุกอย่างทั้งยาสามัญทั่วไปและยาสำหรับใช้ในคนในที่ที่ปลอดภัยภายในกล่องยาหรือไว้ในชั้นสูง ๆ ที่สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเอื้อมถึง และควรบอกทุกคนที่เข้ามาในบ้านให้เก็บยาให้ดี
- ยาลดปวด ลดอักเสบ (Prescription anti-inflammatory and pain medications)
ทำให้เกิดแผลหลุม (Ulcer) ในระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้ และอาจทำให้เกิด ไตวาย (Kidney failure) ได้อีกด้วย
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
อาจให้เกิด อาเจียนหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ เช่น รบกวนการทำงานของ Seratonin ที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
อันดับที่ 3 อาหารคน
แม้ว่าความน่ารักของสัตว์เลี้ยงในเวลาที่เขานั่งรอ จะทำให้คุณใจอ่อนอยากแอบยื่นช็อกโกแลตเค้กในมือ รวมถึงขนมอื่น ๆ ให้ จงใจแข็งไว้ครับ เพราะถือเป็นการปกป้องสัตว์เลี้ยงที่คุณรักที่ดีที่สุด เนื่องจากระบบเผาผลาญของสัตว์เลี้ยงนั้น แตกต่างจากของมนุษย์ แม้ว่าอาหารบางอย่างที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างมนุษย์ เช่น กระเทียม หัวหอม อาจให้ผลตรงกันข้ามต่อร่างกายของสัตว์เลี้ยง และอาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้
- ถั่วแมคคาเดเมีย ทำให้เกิดอาการซึม อาเจียน ตัวสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
- หัวหอม ทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตก มีปัญหาโลหิตจาง
- กระเทียม ทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตก มีปัญหาโลหิตจาง
- เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม กาแฟ ทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ตัวสั่น อุณหภูมิร่างกายสูง ชักและหมดสติได้
- ยีสย์ดิบ (Raw yeast dough) เมื่อสุนัขกินเข้าไปจะเกิดการหมักของยีสต์ภายในกระเพาะ ทำให้กระเพาะขยายขนาดและกระเพาะที่ขยายขนาดจะกดกระบังลมทำให้หายใจลำบาก อาจะก่อให้เกิดโรคกระเพาะบิดได้ (Gastric Dilatation and Volvulus) การหมักของยีสต์ทำให้เกิดแอลกอฮอล์ อาการของพิษจากแอลกอฮอล์ก็จะเกิดขึ้น
- แอลกอฮอล์ อาการเมื่อสัตว์ได้รับสารพิษจากแอลกอฮอล์ อาการจะเหมือนกับคล้ายมนุษย์ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เช่น อาเจียน ปัญหาทางระบบหายใจ โคม่า และรายที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด
- เนื้อดิบ สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงท้องเสีย อาเจียนจากการติดพยาธิและแคทีเรียกลุ่ม Salmonella ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความ อาหาร BARF (Bone and Raw Food) ชัวร์หรือมั่วนิ่ม
- อโวคาโด หลายคนอาจจะคิดว่าอะโวคาโดเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ แต่เนื่องจากมันมีสารที่เรียกว่า เปอร์ซิน (persin) ที่ส่งผลคล้ายสารพิษสำหรับสุนัข คือ ส่งผลให้อาเจียนและท้องเสีย
- องุ่นและลูกเกด ทำให้อาเจียนและท้องเสีย ตามมาด้วยไตวายได้ในสุนัขได้
- ไซลิทิล(Xylitol) สารให้ความหวานชนิดนี้ พบได้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ รวมถึงหมากฝรั่งไร้นำตาล และลูกอม ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น อ่อนแรง ชัก รวมถึงยังมีรายงานพบตับวายในสุนัขอีกด้วย
นอกจากนี้ อาหารอื่น ๆ ที่ควรเก็บให้ห่างจากสัตว์เลี้ยงของคุณ ได้แก่ มะเขือเทศ เห็ด และถั่วต่าง ๆ ดังนั้น ไม่ควรทิ้งอาหารเหล่านี้ไว้ในที่ที่สัตว์เลี้ยงเข้าถึงได้ และควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกครัว เมื่อมีเด็กกำลังรับประทานอาหารอยู่ เพราะสัตว์เลี้ยงอาจไปแอบกินเศษอาหารที่เด็ก ๆ ทำหล่นไว้ก็ได้ครับ
อันดับที่ 4 ช็อกโกแลต
แม้ว่าช็อกโกแลตไม่ได้ส่งผลอันตรายอันใดกับมนุษย์ แต่ในช็อกโกแลตนั้นมีสารที่เรียกว่า เมธิลแซนทีน(metylxanthines) ที่ส่งผลทำให้ อาเจียน กรณีได้รับในปริมาณน้อยและเสียชีวิตได้ในกรณีที่ได้รับในปริมาณมาก ซึ่งปริมาณที่ก่ออันตรายแก่ร่างกายสุนัข ดาร์กช็อกโกแลต มีปริมาณเมธิลแซนทีนมากกว่าไวท์ช็อกโกแลต สำหรับปริมาณช็อกโกแลตที่อาจทำให้เสียชีวิต ขึ้นชนิดของช็อกโกแลต และขนาดของตัวสัตว์ ในสุนัขสายพันธุ์ขนาดเล็ก เพียงแค่ครึ่งออนซ์ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ในขณะที่สุนัขสายพันธุ์ขนาดใหญ่เมื่อได้รับ 4-8 ออนซ์อาจจะไม่ส่งผลถึงชีวิต แต่หากได้รับมากกว่า 8 ออนซ์ก็อาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้สารพิษชนิดนี้ยังพบได้ในกาแฟด้วยเช่นกัน ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้จาก อันตรายจากช็อตโกแลต (Chocolate toxicity) ที่มีผลต่อสัตว์เลี้ยง
อันดับที่ 5 ผลิตภัณฑ์ทางสัตวแพทย์
ซึ่งรวมถึง ยา เช่น กำจัดเห็บ หมัด เช่นเดียวกับมนุษย์ที่เกิดโทษได้ทั้ง ๆ ที่เราได้ใช้ประโยชน์จากสรรพคุณของยา มีรายงานในสัตว์ที่รับพิษจากการใช้ยาทางสัตวแพทย์อยู่บ้างและยังมีรายงานเกี่ยวการได้รับพิษที่เกิดจากการใช้ยาระงับปวด และ ยาถ่ายพยาธิ อยู่เป็นปกติ การให้ยาในปริมาณที่ไม่เหมาะสมเป็นการให้สารพิษแก่สัตว์เลี้ยงโดยไม่ตั้งใจด้วย
ยาที่ใช้สำหรับสัตว์ส่วนใหญ่มักเติมรสชาติเพื่อให้สัตว์กินง่ายขึ้น ซึ่งทำให้สัตว์เข้าใจผิดและกินเข้าไปมากกว่าปกติ สุนัขที่อยากรู้อยากเห็นอาจจะกินยาเม็ดเข้าไป ถึงแม้ว่าจะไม่มีรสชาติ ดังนั้นควรเก็บยาทุกชนิดให้อยู่ห่างไกลจากสัตว์เลี้ยง อย่าลืมว่าสัตว์เลี้ยงสามารถกัดทะลุขวดพลาสติกได้ ดังนั้นบางทีการมีอะไรหุ้มอาจจะไม่สามารถป้องกันสัตว์เลี้ยงได้
อันดับที่ 6 ผลิตภันฑ์ที่ใช้ภายในบ้าน
ผลิตภัณฑ์ เช่น สีทาบ้าน, กาวและน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ มีข้อสันนิษฐานว่าสัตว์เลี้ยงจะไม่กินสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากมันมีส่วนผสมที่ทำให้รสชาติไม่ดี แต่บางครั้งสัตว์เลี้ยงก็เลียในสิ่งที่เป็นของเหลว เพราะมันชอบและมีผิวสัมผัสที่น่าสนใจ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านมักมีส่วนผสมที่เป็นสารเคมีอันตรายและกาวบางชนิด สามารถเคลื่อนที่กระจายภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หรือแค่เพียงน้ำยาทำความสะอาด ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ก็เป็นอันตรายต่อสัตว์ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความเสียหายที่กระเพาะอาหาร รวมถึงระบบทางเดินหายใจด้วย เนื่องด้วยสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของพวก antifreez,paint thinner และ สารเคมีที่ใช้ในสระว่ายน้ำ ล้วนแล้วแต่เป็นพิษสุนัขทั้งสิ้น อาการที่พบเมื่อสัตว์ได้รับสารพิษ คือ ปวดท้อง ซึม เนื้อเยื่อเสียหายจากการเผาไหม้ของสารเคมี ไตวาย และ เสียชีวิตในที่สุด
อันดับที่ 7 ยาเบื่อหนู
ยาเบื่อหนู เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับฆ่าหนู ซึ่งมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง โดยลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ใช้มักใช้เป็นตัวล่อเพื่อให้หนูและหนูท่อมากิน ไม่ว่าจะเป็นก้อนเหมือนอิฐ ก้อนกลม หรือ ก้อนกลมขนาดเล็ก ยาเบื่อหนูเหล่านี้ฆ่าหนูได้โดยทำให้เกิดการตกเลือกที่อวัยวะภายในเนื่องจากการรบกวนการทำงานของปัจจัยการแข็งตัวของเลือด, เพิ่มระดับแคลเซียมในเลือด, สมองบวม หรือ สร้างแก็สที่เป็นพิษ ไม่ควรวางเหยื่อล่อหนูไว้ในที่ที่สัตว์เลี้ยงสามารถเจอและให้สุนัขวิ่งเล่นในสวนในบริเวณที่จำกัดเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของท่านไปกินยาเบื่อหนูของเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ายาเบื่อหนูจะดูน่ากินสำหรับสัตว์เลี้ยงของเรา เมื่อสัตว์เลี้ยงกินเข้าไป ทำให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงตามมาได้ อาการเมื่อได้รับสารพิษนั้นก็ขึ้นกับคุณสมบัติของสารพิษที่แตกต่างกันไป เมื่อสัตว์กินสารพิษเหล่านี้เข้าไป อาจจะไม่แสดงอาการในหลายวันหลังบริโภค เช่น เมื่อสัตว์เลี้ยงกินยาเบื่อหนูก็อาจไม่ได้แสดงอาการที่บ่งบอกถึงความเป็นพิษทันที คุณหมอจะทำการแอดมิตสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ยาต้านพิษและตรวจดูอาการประมาณ 1 อาทิตย์
อันดับที่ 8 ยาฆ่าแมลง
เช่น สเปรย์พ่นแมลง มด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้ง่ายที่สุด ก่อนใช้ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดและไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าใกล้ในช่วงที่มีการใช้และหลังการใช้งาน ควรเก็บผลิตภัณฑ์ไว้บนชั้นสูงห่างจากสัตว์เลี้ยง ยาฆ่าแมลงหลายกลุ่มมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลงและสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงจะมีอาการน้ำตาไหล น้ำลายไหล อาเจียน ถ่ายท้อง เกร็ง ชัก หายใจลำบาก
อันดับที่ 9 พืช
ภายนอกพืชพันธุ์ที่สวยงาม แต่ส่งผลร้ายกับสัตว์เลี้ยงของคุณมากกว่าที่คิด พืชเหล่านั้นพบได้ในแปลงดอกไม้, สวนผัก และเรือนปลูกดอกไม้ ซึ่งทุกอย่างที่ปลูกอาจเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงได้ แมวซึ่งเป็นสัตว์ที่ชื้นชอบในสีเขียวมาก มันจะมีความไวต่อพืชบางชนิด แต่ในสุนัขก็เสี่ยงไม่แพ้กัน หากสัตว์เลี้ยงของคุณกินใบ ดอก เกสร ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลสัตว์พร้อมตัวอย่างของพืชในทันที
- ดอกบัวดินฝรั่ง (Autumn crocus) ทำให้น้ำลายไหล อาเจียน ท้องเสีย
- ดอกกุหลาบพันปี (Azalea) ทำให้อาเจียน ท้องเสีย โคม่า และอาจเสียชีวิตได้
- ดอกไซคลาเมน (Cyclamen) ทำให้น้ำลายไหล อาเจียน ท้องเสีย
- สาวน้อยปะแป้ง (Dieffenbachia) ทำให้เยื่อเมือกบริเวณปากบวมอักเสบ อาเจียน ท้องเสีย
- ดอกไฮยาซิน (Hyacinth) ทำให้ซึม อาเจียน ท้องเสียรุนแรงอาจถึงขั้นท้องเสียเป็นเลือด กล้ามเนื้อสั่น
- กุหลาบหิน (Kalanchoe) ทำให้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
- ดอกลิลลี่หุบเขา (Lily of the valle)y ทำให้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะและชัก
- ดอกลิลลี่(Lilies) ทำให้น้ำลายไหล อาเจียน ท้องเสีย
- ต้นยี่โถ (Oleander) ทำให้เกิดอาการระบบไหลเวียนโลหิตคือ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ อาการระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย และกล้ามเนื้อสั่นจนถึงชักได้
- ต้นสาคู (Sago palm) แค่เพียงไม่กี่เมล็ดที่กินเข้าไป ทำให้อาเจียน ชักและตับวาย
- ดอกทิวลิป (Tulips) และดอกดารารัตน์ (daffodils) ส่วนที่เป็นกระเปาะของดอกไม้เหล่านี้ เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ระบบหายใจ ทำให้หายใจลำบาก และระบบไหลเวียนโลหิต คือ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ
อันดับที่ 10 ผลิตภัณฑ์ในสวน (Lawn and garden products)
หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ใน สนามหญ้า สวน และกระถางต้นไม้ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดพิษแก่สัตว์เลี้ยง ปุ๋ยหมักที่หมักจากเศษกระดูกและเศษอาหาร ล่อความสนใจแก่สัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ของอาการตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) หรือ เกิดการเกาะกลุ่ม จนเกิดการอุดตันของกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึง ปุ๋ยอื่น ๆ ยาฆ่าแมลงที่มีส่วนผสมของสารประกอบเคมี
บทความโดย
อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ อว.สพ. ศัลยศาสตร์
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital