โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง หรือ Pyoderma เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในสุนัข ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังและรูขุมขน
โดยการอักเสบหรือเกิดบาดแผล จะทำให้สภาพแวดล้อมบนผิวหนังบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความชื้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้แบคทีเรียประจำถิ่น หรือจุลินทรีย์ประจำถิ่น (Normal flora) ที่ทำหน้าที่สร้างภูมิต้านทานให้แก่ผิวหนังบริเวณนั้นอ่อนแอลง แบคทีเรียกลุ่มที่ก่อโรคจึงเจริญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดเป็น โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง
แบคทีเรียก่อโรคชนิดแกรมบวกที่พบได้มากในสุนัขที่เป็นโรคนี้ คือกลุ่ม Staphylococcus intermedius และยังพบแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureus และ Staphylococcus hyicus อีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวสามารถพบได้ทั้งในสุนัขและแมวทั่วไปที่มีสุขภาพผิวหนังดี แต่จะพบในปริมาณที่ต่ำมาก และอยู่แบบชั่วคราวมากกว่าถาวร นอกจากนี้แบคทีเรียกลุ่มนี้ยังอาศัยอยู่บริเวณเยื่อเมือกของทวารหนักจมูก ปาก ตาขาว และอวัยวะสืบพันธุ์อีกด้วย เมื่อสัตว์เลียขน หรือกัดแทะผิวหนัง ก็สามารถพบเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้บนผิวหนังและขุมขนได้เช่นกัน หากมีบาดแผลหรือการอักเสบบริเวณที่เลียก็จะก่อให้เกิดบาดแผลอักเสบ และติดเชื้อเป็นหนองในเวลาต่อมา
สาเหตุ (Cause)
ช่วงอายุของสุนัขที่มักเกิดโรคและระยะเวลาการเกิดโรคนั้นขึ้นอยู่กับ สาเหตุแท้จริง (underlying cause) หรือสาเหตุเริ่มต้น (Primary cause) ที่ทำให้เกิดโรค ล้วนแล้วเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบหรือเกิดบาดแผลจนทำให้เกิด โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง มีหลายสาเหตุด้วยกัน แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
1. ช่วงอายุแรกเกิด จนถึงวัยเด็ก (แรกเกิด – 1 ปี)
– ปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไร ขี้เรื้อน
– โรคภูมิแพ้ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือ โรคแพ้อาหาร (food allergy)
– ผิวหนังอักเสบของต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis) รวมถึงโรคทางรูขุมขน และโรคของต่อมไขมันอื่น ๆ (follicular or sebaceous gland diseases)
2. ช่วงโตเต็มวัย (1 ปี – 7 ปี)
– ปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไร ขี้เรื้อน
– โรคทางฮอร์โมน เช่น โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (hypothyroidism) หรือ โรคคุชชิ่ง (Cushing’s disease หรือ hyperadrenocorticism)
– โรคภูมิแพ้ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือ โรคแพ้อาหาร (food allergy)
– ผิวหนังอักเสบของต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis) รวมถึงโรคทางรูขุมขน และโรคของต่อมไขมันอื่น ๆ (follicular or sebaceous gland diseases)
– ต่อมขนผิดปกติ (follicular dysplasias)
3. ช่วงชรา (7 ปี ขึ้นไป)
– โรคทางฮอร์โมน เช่น โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (hypothyroidism) หรือ โรคคุชชิ่ง (Cushing’s disease หรือ hyperadrenocorticism)
– ผิวหนังอักเสบของต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis) รวมถึงโรคทางรูขุมขน และโรคของต่อมไขมันอื่นๆ (follicular or sebaceous gland diseases)
อีกทั้งยังมีโรคที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงทางด้านกายภาพ (anatomic predispositions) เช่น รอยพับตามผิวหนัง (skin folds) มักเกิดในสุนัขวัยเจริญพันธุ์ขึ้นไปจนถึงสุนัขแก่ ซึ่งโรคนี้จะขึ้นกับลักษณะผิวและสายพันธุ์มากกว่า เช่น เฟรนช์ บูลด็อก , อิงลิช บูลด็อก, ปั๊ก, ชาเป่ย และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น การกระทบกระแทกจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ การติดเชื้อราบนผิวหนัง เป็นต้น นอกจากนี้การติดเชื้อที่เกิดขึ้นยังสามารถเกิดได้จากแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งมักเกิดในชั้นลึกใต้ผิวหนังลงไปได้อีกด้วย
ลักษณะอาการ
โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองอาจมีพยาธิสภาพเนื้อเยื่อและลักษณะทางคลินิกแตกต่างกัน อาการที่พบบ่อยคือ พบตุ่มหนอง แดงอักเสบบนผิวหนัง บางครั้งพบว่ามีการติดเชื้อเฉพาะบริเวณผิวชั้นนอกหรือมีการติดเชื้อของผิวหนังชั้นในลึกลงไป โดยจะพบลักษณะรอยโรคที่เรียกว่า Hot Spot ซึ่งมีลักษณะเป็นแผลอักเสบเป็นวงกลม เป็นแผลแฉะ มีน้ำเยิ้ม ๆ อาจจะเป็นแผลตื้นหรือแผลลึกก็ได้ สุนัขจะรู้สึกเจ็บและคัน ทำให้สุนัขเลีย กัด เกา บริเวณที่เป็นแผลจนทำให้เกิดการอักเสบและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว แผลจะขยายขนาดได้ไวมาก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแบบนี้มาจากความอับชื้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดู แต่ว่าจะพบมากในช่วงที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูง นอกจากนี้ยังสามารถพบรอยโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้
• ตุ่มแดง (papule)
• ตุ่มหนอง (Pustules)
• ตุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่มีเลือดออก (Hemorrhagic bullae)
• สะเก็ดลอก (Crusts)
• ขอบวิการลอก (Epidermal collarettes)
• ผื่นแดงหรือผื่นที่มีลักษณะสีเข้ม (Circular erythematous or hyperpigmented spots)
• ผื่นแดงคล้ำตรงกลางมีสีเข้ม วงรอบนอกมีสีจางกว่า และริมสุดสีแดงลักษณะคล้ายเป้าธนู (Target lesions)
• ขนร่วง (Alopecia)
• เป็นขุยหรือแผ่นสะเก็ดบาง ๆ (Scaling)
• ผื่นแห้งหนา (Lichenification)
• ก้อนฝีหนอง (Abscess)
• รูขุมขนอักเสบ หรือเป็นฝี Furunculosis, เซลล์เอเยื่ออักเสบ (cellulitis)
สามารถจำแนกกลุ่มตามชั้นผิวหนังที่เกิดวิการได้ 2 ชนิด จำแนกได้ดังนี้
1. Surface pyoderma หรือ Superficial pyoderma เป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะชั้นผิวส่วนนอก พบได้บ่อย สาเหตุมักจะเกิดจากการระคายเคืองหรือคันตามผิวหนังบริเวณที่มีปรสิตโดยเฉพาะเห็บและหมัด ทำให้สุนัขกัดแทะและเกาบริเวณผิวหนังที่คันอย่างรุนแรง จนทำให้ขนหลุดร่วง ผิวหนังถลอก อักเสบ และเกิดบาดแผลขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นหนองตามมา อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการเกิด Superficial pyoderma คือความชื้นและอุณหภูมิที่อุ่นจนทำให้แบคทีเรียบริเวณนั้นเจริญเพิ่มจำนวนได้อย่างดี ซึ่งมักเกิดบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยพับต่างๆ เช่น รอยพับริมฝีปาก, รอยพับใบหน้า, รอยพับคอ, บริเวณรักแร้, บริเวณด้านหลังหรือฝ่าเท้า หรือระหว่างนิ้วเท้า, รอยพับบริเวณช่องคลอด และรอยพับบริเวณโคนหาง แบคทีเรียที่พบบ่อยในกลุ่มที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะชั้นผิวส่วนนอกคือกลุ่ม Staphylococcus โดยแผลจะแดงอักเสบเป็นตุ่มหนองขยายกว้างอย่างรวดเร็ว
2. Deep pyoderma เป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในส่วนลึกของผิวหนังตั้งแต่ระดับขุมขนจนถึงหนังแท้ (dermis) และใต้ผิวหนัง(subcutaneous tissue) มักจะมีสาเหตุหลายประการ แต่ที่พบในคลินิกได้บ่อยมักจะเป็นปรสิตที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อนทั้งตัว เนื่องจากตัวเรื้อนจะฝังตัวอยู่ลึกถึงชั้นรูขุมขน(Hair follicle) อาการค่อนข้างรุนแรง คันมาก ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ลักษณะเด่นของการติดเชื้อแบคทีเรียในส่วนลึกของผิวหนังในสุนัขคือ สุนัขมีความเจ็บปวดมาก ผิวอักเสบหลุดหลอก มีกลิ่น มีหนองและเลือดไหลเยิ้มออกมา เห่อแดง บวมน้ำ มักพบแผลหลุม (ulcer) หรือแผลรูลึก (fistulas) ร่วมด้วยเสมอ
นอกจากนี้ในบางรายอาจพบผิวหนังอักเสบเป็นหนองเทียม (Pseudopyoderma) ที่ไม่ใช่อาการของโรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง ที่แท้จริงเป็นเพียงอาการแทรกซ้อนและไม่สามารถรักษาด้วยยาต้านการติดเชื้อได้
การวินิจฉัย (Diagnosis)
สังเกตจากลักษณะแผล เก็บตัวอย่างจากผิวหนังมาย้อมสี (Skin cytology) เพื่อดูกลุ่มแบคทีเรีย, ยีสต์ หรือเซลล์ต่างๆ โดยวิธีการเก็บตัวอย่างสามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีกดทับบนสไลด์ (impression smear), วิธีกดทับบนเทปใส (tape impression smear), ป้ายด้วยไม้พันสำลีปราศจากเชื้อ (swab smear) หรือ ขูดเก็บตัวอย่าง (scraping) โดยการดู skin cytology เป็นกุญแจสำคัญในการวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง ซึ่งจะพบแบคทีเรียกลุ่มรูปร่างวงกลม (Cocci) และเซลล์อักเสบ อันได้แก่ เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลล์ (Neutrophil) เป็นปริมาณมากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบและการติดเชื้อของสุนัขตัวนั้น
นอกจากนี้ การเพาะเชื้อและการหาความไวของยาปฏิชีวนะ (Bacterial culture and Drug sensitivity) ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อทดลองหาเชื้อสาเหตุ และยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อหรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนั้นได้อย่างเหมาะสม โดยการเพาะเชื้อจากหนองของสุนัขที่ในโรคนี้ มักพบเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus intermedius ส่วนเคสที่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในส่วนลึกของผิวหนัง มักพบแบคทีเรียแกรมลบ (gram-negative organisms) เช่น Escherichia coli, Proteus spp. และ Pseudomonas spp. เป็นต้น
การวินิจฉัยเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุแท้จริง (underlying cause) ของการเกิดโรค เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง(Intradermal allergy testing), การเปลี่ยนอาหารเป็นสูตรสำหรับสุนัขแพ้อาหาร เพื่อทดสอบภูมิแพ้ทางอาหาร (hypoallergenic food trial), การทดสอบการทำงานของต่อมไร้ท่อต่าง ๆ (endocrine tests) และการตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังส่งตรวจ (Skin biopsy)
การรักษา (Treatment)
จากที่กล่าวข้างต้น แบคทีเรียสามารถพบได้ที่ผิวหนังสุนัขอยู่แล้ว การติดเชื่อแบคทีเรียที่ผิวหนังจะเป็นโรครอง (secondary disease) ดังนั้นสัตวแพทย์ต้องรักษาสาเหตุแท้จริง (primary disease) ของการเกิดโรค เช่น โรคภูมิแพ้ โรคปรสิตภายนอก และโรคฮอร์โมน
กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะชั้นผิวส่วนนอก สามารถรักษาให้หายขาดได้
– ใช้แชมพูยาที่มีส่วนผสมของ Benzoyl peroxides (2.5%–3%) หรือ Chlorhexidine (2%–4%) เริ่มต้นด้วยการโกนขนและทำความสะอาดบริเวณการติดเชื้อ ขลิบเศษเนื้อเยื่อออก ขัดนำคราบหนองคราบเนื้อเยื่อที่ลอกหลุดออก ตามด้วยการทายาฆ่าเชื้อหรือยาที่สามารถสมานแผลและระงับอาการคันตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ การใช้แชมพูต้องทำการหมักบนตัวสัตว์ประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงล้างออก โดยส่วนใหญ่จะให้ใช้ทำการอาบและฟอกอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และครั้งทำการหมักและล้างออก 2 รอบ
– สามารถใช้ยาปฏิชีวนะทั้งแบบทาภายนอก แบบกิน หรือแบบฉีดได้ตามลักษณะ และความรุนแรงของแผล ตามการพิจารณาของสัตวแพทย์
– ยาปฏิชีวนะควรใช้ติดต่อกันจนกว่าแผลจะไม่มีหนอง ไม่มีการติดเชื้อ หรือจนกว่าสัตวแพทย์จะแนะนำให้หยุด ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะชั้นผิวส่วนนอก โดยปกติใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันจนแผลหายไปทั้งหมดและใช้ต่ออีกอย่างน้อยที่สุด 14 วันเพื่อป้องกันการดื้อยา
กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในส่วนลึกของผิวหนัง สามารถรักษาให้หายขาดได้ยาก มักกลับมาเกิดซ้ำใหม่ได้เสมอ และมีโอกาสดื้อยาปฏิชีวนะสูง
– ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ Benzoyl peroxides (2.5%–3%) หรือ Chlorhexidine shampoos (2%–4%) ทำความสะอาดบริเวณบาดแผล ขลิบเศษเนื้อเยื่อออก ขัดนำคราบหนองคราบเนื้อเยื่อที่ลอกหลุดออก หากมีโพรงด้านใต้ให้ทำความสะอาดในโพรงด้านใต้ด้วย ฟลัชล้างให้สะอาด ตามด้วยการทายาฆ่าเชื้อหรือยาที่สามารถสมานแผลและระงับอาการคันตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ โดยความถี่ในการทำแผล สัตวแพทย์ผู้ดูแลจะพิจารณาจากความรุนแรง และการติดเชื้อของแผลเป็นหลัก
– อาจมีการใส่ท่อระบายหนองจากชั้นใต้ผิวหนังเพื่อลดการสะสมเชื้อ ช่วยให้แผลสะอาดและหายเร็วขึ้น
– การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะสามารถใช้ได้ทั้งแบบทาภายนอก แบบกิน หรือแบบฉีดตามลักษณะ และความรุนแรงของแผล ตามการพิจารณาของสัตวแพทย์ โดยให้อิงจากการเพาะเชื้อและการหาความไวของยาปฏิชีวนะ (Bacterial culture and Drug sensitivity) เป็นหลัก
– ยาปฏิชีวนะควรใช้ติดต่อกันจนกว่าแผลจะไม่มีหนอง ไม่มีการติดเชื้อ หรือจนกว่าสัตวแพทย์จะแนะนำให้หยุด ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในส่วนลึกของผิวหนัง โดยปกติใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันจนแผลหายไปทั้งหมดและใช้ต่ออีกอย่างน้อยที่สุด 14 วัน เพื่อป้องกันการดื้อยา
พิจารณาการรักษาด้วยการศัลยกรรม (SURGICAL CONSIDERATIONS)
– ในรายที่มีสาเหตุมาจากรอยพับของผิวหนังที่บริเวณต่าง ๆ เช่น โคนหาง สามารถศัลยกรรมปรับลักษณะทางกายภาพของรอยพับเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นผิวหนังอักเสบเป็นหนองซ้ำใหม่ได้
– ในรายที่เป็นการติดเชื้อชั้นลึกใต้ผิวหนัง จนทำให้เกิดลักษณะของแผลรูลึกเป็นโพรง (Fistula tract) รักษาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานด้วยยาและการทำแผลแล้วไม่หาย หรือกลับมาเป็นซ้ำใหม่ ควรมีการศัลยกรรม เพื่อเลาะนำผิวหนังบริเวณที่เกิดวิการบ่อยครั้งออก บางรายก็สามารถหายขาดได้ แต่ในบางรายก็ยังกลับมาเกิดใหม่ได้เช่นกัน
ข้อควรระวัง
ควรระวังในการใช้ยาลดอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroidal anti-inflammatory drugs) เนื่องจากยากลุ่มนี้สามารถทำให้เกิดเชื้อดื้อยา และสามารถทำให้กลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้ควบคู่กับยาปฏิชีวนะร่วมด้วยก็ตาม
บทความโดย
สพ.ญ. เณศรา ชมวิวัฒน์
Nessara Chomwiwat, DVM
โรงพยาบาลสัตว์จัสโก้ รัชดา
Jusco Ratchada Animal Hospital