โรคหัวใจสุนัข

โรคหัวใจในสุนัข (Heart Disease)

โรคหัวใจ (Heart Disease) สามารถพบได้ตั้งแต่เกิด หรือมีอาการหลังเกิด แต่โดยทั่วไปจะเจอว่าโรคหัวใจในสุนัขมีการพัฒนาขึ้นในช่วงกลางๆ ชีวิต คือโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังมักเป็นในสุนัขที่มีอายุมาก (acquired heart disease) เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด

โรคหัวใจในสุนัขแบ่งเป็น 2 ชนิด

  1. โรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด มักพบในสุนัขเด็ก คือมีอายุประมาณ 1 เดือน ไปจนถึง 1 ปี มีอาการผนังกั้นห้องหัวใจเป็นรู, การคงอยู่ของหลอดเลือด ductus arteriosus, การตีบแคบบริเวณลิ้นหัวใจ Aortic ฯลฯ
  2. โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง มักพบในสุนัขกลางวัยไปจนถึงอายุมาก โดยพบในอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 6 – 8 ปีขึ้นไป หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน และอาจพบได้ในน้องหมาที่มีการออกกำลังกาย หรือใช้ร่างกายอย่างหักโหม ซึ่งโรคหัวใจประเภทนี้มักมีพัฒนาการขึ้นมาในช่วงกลางของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาวะลิ้นหัวใจอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, หัวใจโต ฯลฯ โดยมักพบได้ 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
    1. โรคลิ้นหัวใจรั่ว (chronic valvular heart disease, CVHD) โดยปกติหัวใจทำการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วทั้งร่างกาย จะมีลิ้นกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปทางเดียว แต่ในกรณีของโรคลิ้นหัวใจรั่ว จะทำให้ลิ้นหัวใจที่ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีเลือดไหลย้อนกลับมาในห้องหัวใจก่อน ส่งผลให้เวลาน้องหมาทำอะไร ก็จะดูเหนื่อยง่าย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษา
    2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดขึ้นได้เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัวกว่าปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy: HCM) หรือบางตัวกว่าปกติ (Dilated Cardiomyopathy: DCM) เมื่อผนังของหัวใจมีความผิดปกติเกิดขึ้น ส่งผลให้หัวใจมีการบีบตัวที่ลดลง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เมื่อเวลาผ่านไปและมีอาการรุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดภาวะ “หัวใจล้มเหลว” (Heart Failure) ทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้ในที่สุด

วิธีสังเกตอาการ

อาการของโรคหัวใจในสุนัขค่อนข้างไม่แน่นอน มีได้ตั้งแต่ประเภทที่ไม่สามารถสังเกตอาการ จนถึงสามารถสังเกตพบอาการได้ แต่อาการจะมีความเด่นชัด หรือมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อการพัฒนาของโรคหัวใจมีมากขึ้น อาการโรคหัวใจในสุนัขที่พบได้ส่วนใหญ่ได้แก่ มีอาการเหนื่อยง่าย หอบง่ายกว่าที่เคยเป็น เช่น การเดินขึ้นบันได, ออกกำลังกายได้สักพักแล้วเหนื่อย หรือขาดพลังงาน (lack of energy) หายใจลำบาก ไม่กินอาหารและน้ำหนักตัวลดลง มีการไอบ่อยๆ จาม อ่อนแอ เป็นลม (fainting) ท้องบวมโต หรือที่เรียกว่าท้องมาน ท้องขยายใหญ่ (abdominal swelling) มีเหงือกซีดเขียวอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดอาการบวมน้ำที่บริเวณอุ้งเท้าหน้าและขาหลัง หรืออาจเกิดขึ้นใต้ผิวหนังทั่วไป เมื่อคลำชีพจรของน้องหมา พบว่ามีการเต้นเร็วกว่าปกติ แต่แผ่วเบา หรือเต้นแรงมากกว่าปกติ

การรักษาและวิธีการป้องกัน

การนำสุนัขไปตรวจสุขภาพประจำปีหรือการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อตรวจร่างกาย เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ตรวจพบปัญหาทางสุขภาพ หรือโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นได้ หากเริ่มพบว่ามีอาการโรคหัวใจอาจจะต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยโรคที่จำเพาะมากขึ้น การตรวจนับเม็ดเลือดและค่าเคมีในเลือด ตรวจปัสสาวะ การถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ การตรวจวิเคราะห์น้ำในช่องอกและช่องท้องการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การฉีดสีเข้าหัวใจเพื่อดูการตีบแคบของลิ้นหัวใจ การรักษาโรคหัวใจสุนัขขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง โรคหัวใจในน้องหมาเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่การตรวจพบปัญหาโรคหัวใจในระยะแรกๆจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตสุนัขให้อยู่ได้ยืนยาวขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สุนัขพันธุ์เสี่ยง

โรคลิ้นหัวใจรั่วมีแนวโน้มที่จะพบในสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่า ได้แก่
Boston Terrier, Cavalier King Charles Spaniel, Chihuahua, Fox Terrier, Miniature Pinscher, Miniature and Toy Poodles, Miniature Schnauzer, Pekingese, Pomeranian, Whippet