ด้านหนึ่งของเจ้าเหมียว คือ สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก อ่อนโยน น่าทนุถนอม แต่อีกด้านหนึ่ง คือ นักล่าตัวฉกาจ ซึ่งเจ้าเหมียวเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีประสาทสัมผัสอันแสนพิเศษ เป็นตัว การรับรู้ความรู้สึกของแมว ที่มีต่อโลกใบนี้
ซึ่งประสาทสัมผัสเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ การรับรู้ความรู้สึกของแมว สอดคล้องกับกิจกรรมในการเป็นนักล่า หากเราจะสังเกตด้านสรีระของเจ้าเหมียวแล้ว ต้องยอมรับว่า ธรรมชาติออกแบบรังสรรค์ให้มีประสิทธิภาพในการเป็นสุดยอดนักล่าอย่างแท้จริง
วันนี้ บ้านและสวน Pets จะพาไปรู้จักกับการทำงานของระบบการรับรู้ความรู้สึกที่สำคัญในแมวกัน
1.ระบบการมองและการรับภาพ
- ลูกแมวจะเริ่มเปิดตาเมื่ออายุประมาน 5-14 วัน (เฉลี่ย 8 วัน)
- ลูกแมวสามารถมองเห็นได้อย่างคมชัดที่อายุ 25 วัน
- การมองภาพได้ดีในแบบ Binocular (ใช้สองตาในการมองเห็น) ที่อายุ 47 วัน
- ความสามารถในการมองเห็นสมบูรณ์เมื่ออายุประมาน 60 วัน
- ดวงตาของแมวทำงานได้ดีอย่างยิ่งในที่มืด เนื่องจากแมวมี Tapetum lucidum เป็นเนื้อเยื่อชั้นถัดจากจอประสาทตา มีหน้าที่ในการสะท้อนแสง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในที่มืด
- แมวสามารถรับสี และ แยกแยะการมองเห็นสีได้ต่ำ โดยตอบสนองได้ดีต่อสีน้ำเงิน
การมองเห็นในสุนัขและแมว แตกต่างจากการมองเห็นของมนุษย์อย่างไร
2.ระบบการรับกลิ่นในแมว
- อวัยวะรับกลิ่นของแมว พัฒนาสมบูรณ์ตั้งแต่แรกเกิด
- ในช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอด แมวจะใช้การสัมผัส รับกลิ่นเพื่อเข้าหาเต้านม และความอบอุ่น ความสามารถเหล่านี้จะลดลงเมื่อแมวเริ่มโตขึ้น
- ในทางพฤติกรรมแมวใช้การรับกลิ่นเพื่อการสื่อสาร เป็นการบอกถึงความเป็นตัวเอง เช่น การสำรวจด้วยการดมหน้าและดมก้น ประกาศอาณาเขตจากการข่วนสิ่งต่าง ๆ การปัสสาวะเพื่อทำเครื่องหมาย และการรับกลิ่นเพื่อพฤติกรรมการสืบพันธุ์
- การรับกลิ่นที่จากการเคี้ยว ดม เลีย พืชบางชนิด แล้วแสดงอาการคล้ายเมายา เช่น Catnip พฤติกรรมนี้คงอยู่นาน 5-15 นาที
3.ระบบการรับฟังเสียง
- รูหูจะเปิดเมื่อลูกแมวอายุประมาน 8-14 วัน
- แมวสามารถคลานตามเสียงที่กระตุ้นได้เมื่ออายุ 7 วัน
- ความสามารถในการจำเสียงพี่น้องและคนเกิดขึ้นที่อายุ 3-4 สัปดาห์
- การฟังเสียงจะสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่อายุประมาน 5 สัปดาห์
- ความสามารถในการได้ยินเกิดขึ้นควบคู่กับการมองเห็นที่ดีในแมว
- การได้ยินของแมวจะอยู่ในช่วงความถี่ต่ำประมาน 20-55 Hz และความถี่สูงประมาน 1-20 kHz
4.ระบบการรับรสและการรับสัมผัสการเคลื่อนไหว
- แมวโตเต็มที่สามารถรับรสได้ดี สามารถแยกรส เค็ม เปรี้ยว ขม
- แมวตอบสนองต่อรสหวานน้อย
- การรับสัมผัสการเคลื่อนไหวของแมวพัฒนาดีตั้งแต่แรกเกิด
- การรับสัมผัสการเคลื่อนไหวของแมวดีเพราะมีขน Tactile vibrissae อยู่ตามหน้าและเท้า
- หนวดเป็นอวัยวะรับสัมผัสและแสดงอารมณ์ของแมว
- แมวมีความสามารถในการกลับบ้านได้ถูกต้องโดยไม่เกี่ยวข้องกับความจำ
บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets