Stem cell therapy หมายถึง การรักษาโดยการใช้เซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ในการรักษาโรค เซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่มีศักยภาพที่จะแบ่งตัวและพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดอื่น ๆ ได้เพื่อใช้ในการทดแทน และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือเสื่อมได้
สาขาวิชาที่ศึกษาการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาเรียกว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) คือ การรักษาแขนงใหม่ที่มุ่งเน้นการทดแทน การซ่อมเสริม การฟื้นฟูเซลล์ เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่เสื่อมถอย หรือได้รับบาดเจ็บทั้งจากความแก่ตามธรรมชาติ และโรคภัยไข้เจ็บโดยการใช้เซลล์ต้นกำเนิด
อวัยวะที่เสื่อมสภาพจากโรคและความชรา ในทุก ๆวัน ร่างกายจะมีการตายของเซลล์เกิดขึ้น เช่น เม็ดเลือดแดงที่มีอายุเพียง 120 วันในคนและสุนัข สำหรับแมวเม็ดเลือดแดงมีอายุ 65 วัน ในคนและสัตว์ที่มีอายุน้อยเซลล์ต้นกำเนิดก็จะสามารถแบ่งตัวมาทดแทนเซลล์ที่ตายเหล่านี้ได้ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดที่มีอยู่ก็จะน้อยลง หรือมีการเสื่อมสภาพไปเช่นเดียวกันกับผู้เป็นเจ้าของ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเสื่อมในทุกอวัยวะและโรคในผู้สูงอายุและสัตว์สูงวัยเนื่องจากปราศจากการซ่อมแซมจากเซลล์ต้นกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ
การรักษาโดยเซลล์ต้นกำเนิดในมนุษย์ได้มีตั้งแต่ปี 1950-1970 โดยเป็นการศึกษาการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก การศึกษาการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในสัตว์ก็เริ่มต้นในช่วงเวลาเดียวกัน การรักษาโดยเซลล์ต้นกำเนิดเชิงพาณิชย์ในสัตวแพทย์เริ่มต้นมามากกว่า 15 ปีที่แล้วในต่างประเทศ จากวันนั้นถึงวันนี้บริษัท พรีซีชั่น เวท จำกัด ห้องแลปเซลล์ต้นกำเนิดของสัตวแพทย์ไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นทำให้สัตวแพทย์ในประเทศไทยสามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบันที่ทำอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด ดังนั้นวันนี้คุณหมอจะมาทำการรีวิวให้ผู้อ่านรู้จักกับการใช้เซลล์ต้นเนิดในสัตว์เลี้ยงในต้นทศวรรษ 2020 กันครับ
คุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดและที่มา
เซลล์ต้นกำเนิดที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้คือ
- Homing หมายถึง เซลล์ต้นกำเนิดจะมีการวิ่งไปยังตําแหน่งที่มีความเสียหายหรือมีการอักเสบเกิดขึ้นได้เอง
- Differentiation หมายถึง เซลล์ต้นกำเนิดสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นเซลล์ที่จําเพาะต่อบริเวณที่มี ความเสียหายได้ แบ่งตัวได้อยู่เสมออย่างไม่จำกัด โดยสามารถพัฒนาเป็นเซลล์อื่น ๆ ได้ เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์เม็ดเลือด เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เซลล์กระดูก เป็นต้น
- Trophic support หมายถึง เซลล์ต้นกำเนิดหลั่งสารจําพวก Cytokine และ Growth factor ชนิดต่างๆ ออกมาเพื่อให้เกิดซ่อมแซมหรือฟื้นตัวของเนื้อเยื่อที่มีความเสียหาย
- Anti-inflammation หมายถึง เซลล์ที่เข้าไปสามารถลดการเกิดการอักเสบที่เกิดขึ้นได้
- Neo-vascularization หมายถึง เซลล์หลั่ง Growth factor ที่สําคัญออกมาเพื่อให้เกิดการสร้าง หลอดเลือดใหม่ขึ้น และแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเกิดแผลเป็นได้
- Anti-apoptosis หมายถึง เซลล์จะลดการตายของเซลล์บริเวณเป็นโรคได้
และด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ ของเซลล์ต้นกำเนิดทำให้การักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดนั้นทำให้เกิดวิธีการรักษาแบบใหม่ขึ้น
เซลล์ต้นกำเนิดที่คุณหมอใช้นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามแหล่งที่มาของเซลล์ว่ามาจากสัตว์ตัวเดียวกันหรือคนละตัวคือ
- Autologous คือ เซลล์ต้นกำเนิดมีที่มาจากสัตว์ตัวนั้นเอง วิธีการนี้มักจะเป็นการเก็บเซลล์ไขมันบริเวณหน้าท้องของสัตว์ นำไปแยกและเพาะเลี้ยงเพื่อให้จำนวนตามต้องการแล้วนำกลับมาฉีดในสัตว์ตัวเดียวกันเพื่อผลการรักษา ข้อดีคือ ไม่มีปัญหาในเรื่องของการแพ้เพื่องจากเป็นเซลล์ของสัตว์ตัวเดียวกัน แต่ข้อจำกัดคือ ต้องการเก็บเนื้อเยื่อไขมันมาเพื่อแยกเอาเซลล์ซึ่งในกรณีนี้มักจะต้องทำการวางบาสลบและทำการผ่าตัด ทำให้สัตว์ป่วยที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงในเรื่องของการวางยาสลบสูง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ของเสต็มเซลล์ได้
- Allogenic คือ เซลล์ต้นกำเนิดมีที่มาจากสัตว์คนละตัว วิธีการนี้ในกรณีที่มีข้อบ่งใช้ในการักษา ห้องปฏิบัติการจะนำเซลล์ที่ทำการเพาะเลี้ยงไว้แล้ว ทำการเตรียมเป็นสารละลาย และนำกลับมาฉีดในสัตว์ป่วยที่ต้องการ ดังนั้นแม้ว่าสัตว์ป่วยที่ต้องการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการักษาจะมีอายุเยอะ มีความเสี่ยงต่อการวางยาสลบและผ่าตัดก็ไม่จำเป็นต้องเสี่ยง
โรคที่มีรายงานการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาในปัจจุบัน ได้แก่
1. โรคระบบออร์โธปีดิคส์ หรือกระดูก เอ็น ข้อต่อ
- โรคเอ็นต่าง ๆ การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปในเอ็นจะทำให้การหายของเอ็นต่างๆเกิดขึ้นได้ดีและสมบูรณ์โดยลดการเกิดพังผืดที่เป็นแผลเป็น (Scar tissue) ซึ่งจะจำกัดการเคลื่อนไหวและอาจจะทำให้เกิดการฉีกขาดซ้ำได้
- โรคเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (Cranial cruciate ligament rupture)
– การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปในข้อโดยร่วมกับการผ่าตัดในสุนัขที่มีโรคเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (Cranial cruciate ligament rupture) จะสามารถลดใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ได้ถึง 1 เดือน
– ในรายที่ไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัด หรือมีการฉีกขาดแต่ ข้อไม่ได้มีการหลวม การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปในข้อจะสามารถลดการอักเสบ ลดความเจ็บปวดและป้องกันการเสื่อมและเสียหายเพิ่มเติมของข้อและเอ็นเข่าด้านในและด้านนอกได้ - โรคข้อเสื่อมและอักเสบ (Osteoarthritis) โรคข้อเสื่อมและอักเสบมักจะเกิดตามมาจากโรคข้อต่างๆ เช่น โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow dysplasia) โรคเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (Cranial cruciate ligament rupture) การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปในข้อจะสามารถลดการอักเสบ ลดความเจ็บปวด ลดใช้ยาแก้ปวดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้การเดินดีขึ้น สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในต่างประเทศ การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดถือว่าเป็นมาตรฐานสูงสุด (Gold standard) ในการรักษาโรคข้อเสื่อมและอักเสบเพราะการฉีกเซลล์ต้นกำเนิดเข้าข้อเพียงครั้งเดียวจะลดปวดและอักเสบได้ยาวนานหลายปีต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ
2. โรคช่องปาก
โรคช่องปากอักเสบเรื้อรังในแมว (Chronic feline gingivostomatitis) โรคนี้ท้ายสุดจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา สัตวแพทย์ต้องทำการถอนฟันกรามน้อยและฟันกราม หลังจากถอนฟันแล้ว 60% จะอาการสงบ อีก 20% ต้องทำการรักษาทางยาต่อเนื่องโดยเฉพาะการใช้ยาต้านอักเสบด้วยเสตียรอยด์หรือยาตัวอื่นเพิ่มเติมจึงจะคุมอาการได้ และอีก 20% ที่เหลือจะไม่ตอบสนองต่อทั้งการถอนฟันและการใช้ยา ในกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการถอนฟันทั้งปากและการใช้ยา สัตว์แพทย์สามารถให้เซลล์ต้นกำเนิดได้ จากกลุ่มทดลอง 7 ตัว การทดลอง 5 ตัวตอบสนองต่อการรักษาดีมาก มี 2 ตัวไม่ตอบสนองต่อการรักษา
3. โรคทางเดินอาหาร
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) คือโรคที่เยื่อบุผนังลำไส้ไวต่อการกกระตุ้นของภูมิคุ้มกันโดยไม่ทราบสาเหตุแน่นอน ซึ่งโรคนี้จะส่งผลให้เกิดอาการ เช่น ถ่ายเหลวปนเลือด ปวดท้อง โดย โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นสามารถพบในทั้งสุนัขและแมว จากการศึกษาพบว่า โดยการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดได้ผลดีทั้งในสุนัขและแมว
4. โรคตับ
มีการศึกษาหลายชิ้นที่มีการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าที่เนื้อตับโดยตรงและฉีดเข้าหลอดเลือดดำมีผลลดการเกิดพังผืดของเนื้อเยื่อตับ ลดปริมาณเอนไซม์ตับที่หลั่งเมื่อความเสียหาย ยืดอายุของสุนัขที่มีปัญหาโรคตับรุนแรงได้
5. โรคไต
โรคไตเสื่อมเรื้อรัง (Chronic kidney disease) เป็นโรคไตที่พบมากในแมวอายุเยอะ การรักษาที่ตรงจุดที่สุดคือ การทำการเปลี่ยนถ่ายไต (kidney transplant) ซึ่งยังไม่ได้มีการทำหัตถการนี้ในหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทย จากงานวิจัยที่มี งานวิจัยงานหนึ่งการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดไม่มีผลข้างเคียงแต่ก็ไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้น อีกงานวิจัยหนึ่งทำการฉีดเซลล์ต้นกำเนิด 2 ครั้ง อาการโดยรวมดีขึ้น ค่าเลือดดีขึ้น ปัสสาวะดีขึ้นอย่างชัดเจน
6. โรคหัวใจ
ในสัตว์มีการทดลองฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าหลอดเลือดแดงโคโรนารี่โดยพยายามรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy) ในสุนัขพันธุ์ใหญ่พบว่าไม่มีผลเสีย แต่ก็ไม่มีผลดีขึ้นทางคลินิก แตกต่างจากการใช้ในผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหัวใจตายการฉีดได้ผลดี
โรคหัวใจในสุนัข (Heart Disease)
7. โรคระบบทางเดินหายใจ
การศึกษาจะเน้นไปที่ม้าที่เป็นโรคหอบหืด (asthma) และ RAO (recurrent airway obstruction) ที่เป็นโรคเกิดจากการอักเสบรุนแรง การรักษาต้องให้ยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้ยาเป็นระยะเวลานานก็จะมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ดังนั้นการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดจะช่วยในการรักษาได้ ในกรณีของสัตว์เล็ก สุนัขและแมว ถ้ามีการอักเสบของปอดก็สามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดร่วมในการรักษาได้โดยเฉพาะในเคสที่เป็นโรคหอบหืดในแมว (feline asthma)
8. โรคระบบประสาท
การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดร่วมกับการรักษาทางยา หรือการผ่าตัดจะทำให้สัตว์กลับมาใช้ขาได้ไวกว่าการรักษาตามปกติ แต่ถ้าการบาดเจ็บของไขสันหลังรุนแรงมากเกินไปจะทำให้สัตว์มีอาการอัมพาต ไม่สามารถใช้ขาได้
9. โรคผิวหนังและการหายของแผล
- การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดรอบแผลสามารถเร่งการหายของแผลได้
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) สามารถใช้การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดรักษาได้ ผลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียวสามารถลดอาการคัน รอยโรคบนผิวหนังได้อย่างน้อย 6 เดือนและไม่มีผลข้างเคียง ในอีกงานวิจัยพบว่าการฉีดไม่ได้มีผลข้างเคียง แต่ก็ไม่มีผลลดอาการและรอยโรคเช่นกัน
10. โรคตา
โรคกระจกตาเป็นแผลโดยเฉพาะแผลที่ขนาดใหญ่หายยาก การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดใต้เยื่อบุตาใกล้กับตำแหน่งของแผลจะมีผลทำให้แผลบนกระจกตาหายได้ไวกว่าปกติอย่างชัดเจน การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดได้ผลดีในโรคกระจกตาอักเสบจากมีเซลล์อักเสบชนิดอีโอซิโนฟิลมาแทรก (feline eosinophilic keratitis) ในกรณีของโรคตาแห้งในสุนัข (Kerrato conjunctivitis sicca) มีผลงานวิจัยที่ชี้ว่าการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าบริเวณที่มีต่อมน้ำตาสามารถลดอาการได้
11. โรคระบบสืบพันธุ์
ขณะนี้แม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยที่เพิ่มความสมบูรณ์พันธุ์จากการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้ารังไข่และอัณฑะ แต่ก็ไม่ได้มีผลเสีย ขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งใช้สำหรับการใช้รักษาภาวการณ์อักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ แต่เนื่องจากเรื่องการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ทางสัตว์แพทย์ก็ต้องทำการติดตามถึงข้อบ่งใช้ใหม่ ๆ ต่อไป
ข้อควรระวังในการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด
- ในกรณีที่มีการฉีดเข้าข้อ มีโอกาสทำให้ข้อมีการติดเชื้อได้
- ปัญหาปอดอักเสบ หลายครั้งที่เซลล์ที่เตรียมมาจากไขมันและหลังจากฉีดเข้าไปจะเข้าไปติดอยู่ที่เส้นเลือดภายในปอดและทำให้เกิดการอักเสบ
- สัตว์ป่วยมีมะเร็งหรือเนื้องอก เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดมีคุณสมบัติ homing วิ่งไปที่รอยโรคและ differentiation คือทำการแบ่งตัวเพื่อทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหาย เซลล์มีโอกาสที่จะเพิ่มการเจริญของเนื้องอกหรือทำให้เป็นมะเร็งถึงแม้จะมีโอกาสน้อยมาก แต่การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดก็ฉีดเซลล์เข้าไปครั้งละเป็นหลักล้านเซลล์
- เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้ทางสัตวแพทย์ส่วนใหญ่เป็นเซลล์แบบ allogenic คือเป็นของสัตว์คนละตัวกันดังนั้นต้องสังเกต transfusion reaction หรือปฏิกิริยาแพ้หลังจากการฉีด แต่ก็สามารถแก้ไขได้โดยการให้ยาแก้แพ้และลดความเร็วในการให้เซลล์ลง
สำหรับท่านเจ้าของสัตว์ที่สนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษา สามารถดูรายชื่อสถานพยาบาลสัตว์ชั้นนำที่ได้นำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ในการรักษาได้บน
https://www.precision-vet.com/
โทร. 065 936 2243
Line id : @precisionvet
เพื่อสอบถามสถานพยาบาลสัตว์ที่มีการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาในเขตที่อยู่ของท่านเจ้าของสัตว์
เรียบเรียงโดย
รศ.สพ.ญ.ดร.อารีย์ ทยานานุภัทร์ (อว.สพ. ศัลยศาสตร์)
Asst. Prof. Aree Thayananuphat, DVM, PhD, DBTVS, AiCVO
บริษัท พรีซิชั่น เวท จำกัด
Prevesion Vet Co.,Ltd.
อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว.สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital
ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets