สัตว์เลี้ยงของคุณกำลังมี อาการหอบเหนื่อย และหายใจเร็วหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ อาจหมายถึงสัตว์เลี้ยงกำลังเผชิญ ภาวะฮีตสโตรก
ภาวะ “ฮีตสโตรก” (heatstroke) หรือ “โรคลมแดด” สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยงทุกชนิด โดยเฉพาะในสุนัขและแมวสายพันธุ์ขนยาว ขนหนา หรือหน้าสั้น โดยสัตว์เลี้ยงจะแสดงสัญญาณเบื้องต้นคือ อาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว และแลบลิ้นออกมาตลอดเวลา
สาเหตุของโรคลมแดด
โรคลมแดดเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลอุณหภูมิในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับอุณหภูมิจากภายนอกสูงเกินไป จะส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น วิธีการระบายความร้อนของสุนัขและแมวคือ การระบายความร้อนออกมาตามต่อมเหงื่อที่บริเวณอุ้งเท้าและจมูก ซึ่งไม่เพียงพอ จึงต้องใช้การระบายความร้อนผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เพื่อพาความร้อนภายในร่างกายออกมา เราจึงเห็นอาการหายใจหอบถี่ และแลบลิ้นออกมาตลอดเวลา
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาและทุกฤดูกาล แต่ช่วงฤดูร้อนมีความเสี่ยงมากที่สุด นอกจากนี้ โรคลมแดดยังเกิดกับสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรืออยู่ในพื้นที่ที่ร้อนอบอ้าวและอากาศถ่ายเทไม่ดี
ผลกระทบของโรคลมแดดต่อร่างกายสัตว์เลี้ยง
ความร้อนสะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โรคลมแดด เมื่ออุณหภูมิในร่างกายของสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถลดอุณหภูมิในร่างกายลงได้ หรือระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ทัน
เมื่อความร้อนสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดอันตรายต่อการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่หมุนเวียนในร่างกายลดลงจนความดันเลือดต่ำ และหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง
อาการของโรคลมแดด นอกจาก อาการหอบเหนื่อย
เมื่อร่างกายของสัตว์เลี้ยงมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส สัตว์เลี้ยงจะเริ่มกระวนกระวาย หอบ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือหายใจรุนแรงกว่าปกติ เลียขนบ่อย ม่านตาขยาย ลิ้นและเหงือกสีแดงเข้มและน้ำลายหนืดเหนียว ร่างกายอ่อนแรง หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ อาเจียน ช็อก มีอาการชัก กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง หมดสติ หากอาการหนักและไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้
การปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงในภาวะโรคลมแดด
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยรีบย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เปิดหน้าต่างและเปิดพัดลมส่ายไปมาเบา ๆ แต่ไม่ควรเปลี่ยนอุณหภูมิห้องโดนฉับพลัน เพราะอาจจะทำให้สัตว์เกิดอาการช็อคได้
ค่อย ๆ ให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำทีละน้อย ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำที่เย็นกว่าอุณหภูมิห้องเล็กน้อย เช็คตัวสัตว์เลี้ยงบริเวณใต้ฝ่าเท้า รักแร้ ขาหนีบ ง่ามนิ้วต่าง ๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนในร่างกาย
ใช้มือนวดบริเวณขา เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรรีบนำสัตว์เลี้ยงส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
การป้องกันโรคลมแดดในสัตว์เลี้ยง
- เลือกช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ๆ ที่แดดไม่ร้อนมาก
- ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดตากแดด และหลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- เตรียมอุปกรณ์ หรือสถานที่เลี้ยงสัตว์ที่ช่วยลดความร้อนได้ เช่น เบาะนอนเจลเย็นสำหรับสัตว์ ห้องปรับอากาศ และพื้นที่ในบ้านมีร่มเงา และถ่ายเทอากาศได้ดี เป็นต้น
- เตรียมน้ำไว้ให้เพียงพอวางไว้หลาย ๆ จุดเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีน้ำกินได้ตลอดเวลา ในช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ
- เพิ่มการให้อาหารเปียกมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้อาหารเม็ดในปริมาณปกติ เพราะอาหารเปียกมีปริมาณน้ำในเนื้ออาหารมากกว่าอาหารเม็ด จึงช่วยให้สัตว์เลี้ยงได้รับน้ำผ่านอาหารมากขึ้น
- อาบน้ำให้สุนัขและแมว แต่ไม่ควรเป่าขนด้วยไดร์ความร้อนสูง หากเป็นสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์ขนยาว การตัดขนสั้นในช่วงหน้าร้อนสามารถช่วยลดการสะสมความร้อนได้
เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย สัตว์เลี้ยงจะไม่สามารถพูดกับเราได้ว่าตัวเองกำลังเป็นอะไร เจ้าของต้องดูแลและคอยสังเกตอาการความผิดปกติโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน เพราะโรคลมแดดเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายกับสัตว์เลี้ยงได้อย่างเฉียบพลันและอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบพาไปพบสัตว์แพทย์ทันที
โรยัล คานิน สนับสนุนให้คุณพร้อมเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความรับผิดชอบ เริ่มง่ายๆด้วยการพาน้องแมวน้องหมาไปหาหมอ หรือ Take Your Pet To The Vet เป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะช่วยกันสร้างสังคมสัตว์เลี้ยงสุขภาพดี ส่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสุนัขและแมวที่คุณรัก เพื่อให้พวกเขาอยู่กับเราไปได้นานๆ
วันนี้คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมสัตว์เลี้ยงคุณภาพได้ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของโรยัล คานิน ได้ที่ https://bit.ly/RoyalCaninClubApp
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ