โรคเอดส์แมว เป็นหนึ่งโรคที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่วนใหญ่การแพร่ระบาดจากแมวสู่แมวมักเกิดขึ้นในกลุ่มแมวจร และแมวที่เลี้ยงในระบบเปิดไปรับเชื้อจากแมวที่อยู่ภายนอกบ้าน
โรคเอดส์แมว หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว เกิดกจาการติดเชื้อ Feline immunodeficiency virus (FIV) ในกลุ่ม retrovirus ซึ่งมีกระบวนการก่อโรคคล้ายกับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม โรคเอดส์แมวก็ไม่สามารถแพร่ระบาดสู่คนได้
ปัจจุบัน สัตวแพทย์และนักวิจัยได้คนพบเชื้อ FIV ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ย่อย คือ A , B , C , D , E และ F โดยในประเทศไทย พบว่า สายพันธุ์ย่อย D แพร่กระจายมากที่สุด และยังพบความชุกชุมของโรคสูงในกลุ่มแมวจร แมวที่เลี้ยงในระบบเปิด และแมวเพศผู้ ที่มีพฤติกรรมต่อสู้กับแมวตัวอื่น เพื่อแย่งอาณาเขต จึงเกิดการแพร่เชื้อระหว่างการกัดกัน
หลังจากแมวได้รับเชื้อ FIV เข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแมวต่ำลง และแสดงอาการของโรคตามมา โดยแบ่งระยะของอาการเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะเฉียบพลัน (Acute phase) เป็นระยะแรกภายหลังการติดเชื้อในช่วง 2-3 วันหรืออาจนานถึง 1-2 สัปดาห์ แมวจะเริ่มมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายขยายใหญ่ หรืออาจมีภาวะลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ช่องปากอักเสบ รวมทั้งมีเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดกต่ำ
- ระยะไม่แสดงอาการ (Asymptomatic phase) ระยะที่สองภายหลังจากการแสดงอาการในระยะแรก แมวที่ได้รับการติดเชื้อมักอยู่ในระยะที่ไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้ออยู่ในร่างกายรวม และสามารถแพร่เชื้อสู่แมวปกติได้ แมวบางตัวสามารถอยู่ในระยะนี้ได้นานตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
- ระยะ AID-related complex (ARC) ระยะที่สาม จะแสดงอาการผิดปกติทางร่างกาย เนื่องจากการติดเชื้อโรคแทรกซ้อน ขึ้นอยู่กับระบบที่ได้รับผลกระทบ เช่น การเกิดเนื้องอก น้ำหนักลดลงและผอมแห้ง และช่องปากอักเสบ เป็นต้น
- ระยะสุดท้าย (Terminal stage) เป็นระยะที่ร่างกายทรุดโทรม แมวจะแสดงอาการป่วยเรื้อรัง และอยู่ในระยะสุดท้ายได้ไม่นานจะเสียชีวิต
กระแพร่ระบาดของเชื้อโรคเอดส์แมวมักจะเกิดขึ้นโดยที่แมวปกติสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย และเลือด จากแมวที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย โดยเกิดขึ้นระหว่างที่เกิดบาดแผลขณะแมวกัดกัน และน้ำลายแมวสัมผัสกับบาดแผล ส่วนใหญ่แมวที่ป่วยเป็นโรคเอดส์แมวมักเป็นแมวตัวผู้ที่มีพฤติกรรมชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน และต่อสู้กับแมวตัวอื่น เพื่อแย่งชิงอาณาเขต และแย่งชิงตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์
นอกจากนี้ การติดเชื้อจากแม่แมวสู่ลูกแมวก็สามารถพบได้ แต่พบได้ไม่บ่อย เท่ากับกรณีของแมวตัวผู้
การวินิจฉัยโรคเอดส์แมวที่นิยมคือ การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสเอดส์แมวจากเลือด โดยการตรวจด้วยชุดทดสอบสำเร็จรูป (test kit) ในกรณีที่ตรวจพบผลบวกในลูกแมวที่เกิดจากแม่แมวที่เป็นโรคเอดส์แมวอยู่แล้ว อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อซ้ำ เมื่ออายุครบ 6 เดือนขึ้นไป และตรวจร่วมกับเทคนิคการตรวจหาเชื้อวิธีอื่นๆ เช่น เทคนิค PCR และการตรวจแยกเชื้อไวรัส เป็นต้น
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคเอดส์แมวให้หายขาดได้ และไม่มีการรักษาแบบจำเพาะ ดังนั้น สัตวแพทย์จึงรักษาแบบประคับประคอง และติดตามอาการ เพื่อรักษาผลจากเคียงจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
ส่วนใหญ่ สัตวแพทย์จะให้ยารักษาอาการแทรกซ้อน ซึ่งช่วยอาการโดยทั่วไปดีขึ้น และลดการติดเชื้อก่อโรคอื่นๆ เพิ่มเติม ก็จะช่วยให้แมวมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้นได้
การป้องกันที่สัตวแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำคือ เลี้ยงแมวในระบบปิด และทำหมันแมว เพื่อลดพฤติกรรมการติดสัด ที่กระตุ้นให้แมวอยากออกไปนอกบ้าน และการทำหมันยังช่วยลดความก้าวร้าวของแมวด้วย
ปัจจุบัน สัตวแพทย์สามารถให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรคเอดส์แมวได้ แต่วัคซีนที่มีในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ และวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาได้ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ย่อย
เรื่อง สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ