เซนต์เบอร์นาร์ด

เซนต์เบอร์นาร์ด: ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

เซนต์เบอร์นาร์ด สุนัขตัวใหญ่ ใจดี ปรับตัวง่าย รักความสงบ ไม่ก้าวร้าว รักเจ้าของ และต้องการความดูแลเอาใจใส่สูง

ประวัติสายพันธุ์ เซนต์เบอร์นาร์ด

สุนัขพันธุ์ เซนต์เบอร์นาร์ด (Saint Bernard) มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) พบในช่วงเวลาเดียวกับสุนัขพันธุ์ เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก (Bernese Mountain Dog) มีความเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีความเชื่อมโยงกันทางพันธุกรรม

ในรัชสมัยของออกัสตัส กรุงโรมได้เข้ามารุกรานบริเวณเทือกเขาแอลป์สวิต (Swiss Alps) และได้จับสุนัขที่อาศัยบนเทือกเขาแอลป์สวิตกลับไป จากนั้นได้ถูกนำมาผสมพันธุ์กับสุนัขสวิส เชพเพิร์ด (Swiss shepherd dog) และสุนัขต้อนสัตว์กลุ่มสุนัขภูเขา จึงได้ถือกำเนิดเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหม่ขึ้น โดยสุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดจัดเป็นหนึ่งในสุนัขสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น

เซนต์เบอร์นาร์ด

ในเวลาต่อมาสุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด ถูกนำมาใช้เป็นสุนัขเฝ้าบ้านพักรับรองโดยพระชาวสวิส (hospice care)

ในช่วงต้น ค.ศ. 1800 ได้มีการเขียนชีวประวัติสายพันธุ์ ในขณะเดียวกันมีนักท่องเที่ยวสูญหายบริเวณบ้านพักรับรอง จึงได้มีการนำสุนัขพันธุ์นี้ตามหานักท่องเที่ยวที่สูญหายและสามารถช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้สำเร็จ จึงได้รับสมญานามว่าเป็น สุนัขนักบุญ (Saint) และในช่วงกลางศตวรรษได้มีการตั้งชื่อ “เซนต์เบอร์นาร์ด” ให้แก่สุนัขสายพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการ

ในช่วง ค.ศ. 1900 สุนัขพันธุ์นี้ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงมีนักเพาะพันธุ์สุนัขได้นำสุนัขพันธุ์นี้ไปเพาะพันธุ์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงมากขึ้น และได้รับการประกาศเป็นสุนัขประจำชาติของประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ในปี 1888 สมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มสุนัขสุนัขใช้งาน (Working) และได้จัดตั้งสมาคม Saint Bernard Club of America

ใน ค.ศ. 1920 สมาคม The United Kennel Club (UKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มสุนัขสุนัขล่าสัตว์ (Gun Dog)

เซนต์เบอร์นาร์ด

ลักษณะทางกายภาพ

สุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด เป็นหนึ่งในสิบสายพันธุ์สุนัขที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในโลก มีลักษณะที่จำเพาะคือมีหน้าตาซึม บริเวณใบหน้ามีขนสีดำปกคลุมคล้ายสวมหน้ากาก ลักษณะทั่วไป หัวกว้าง หูขนาดปานกลาง มีลักษณะพับลง ลำตัวทรงสี่เหลี่ยมและยาว หางโค้งขึ้นเล็กน้อย มีขนหนาปกคลุม 2 ชั้น ประกอบด้วยขนชั้นนอกจะหยาบ แข็ง และหยิก ขนชั้นในจะนุ่ม และพบขนได้ 2 แบบคือขนยาวและขนสั้น สีขนที่พบได้ทั่วไปคือมีสีขาวปนกับสีน้ำตาลหรือสีขาวปนกับสีแดง

สุนัขเพศผู้มีลักษณะส่วนสูงวัดจากพื้นถึงหัวไหล่ 28-30 นิ้ว (ประมาณ 71-76 เซนติเมตร) และมีน้ำหนักอยู่ที่ 140-180 ปอนด์ (ประมาณ 64-82 กิโลกรัม) และสุนัขเพศเมียมีลักษณะส่วนสูงวัดจากพื้นถึงหัวไหล่ 26-28 นิ้ว (ประมาณ 66-71 เซนติเมตร) และมีน้ำหนักอยู่ที่ 120-140 ปอนด์ (ประมาณ 54-64 กิโลกรัม)

อายุขัย

สุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด โดยทั่วไปมีอายุขัยอยู่ที่ประมาณ 8-10 ปี

ลักษณะนิสัย

สุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด เป็นสุนัขที่ฉลาด ร่าเริง ใจดี ปรับตัวง่าย รักความสงบ ไม่ก้าวร้าว รักเจ้าของ ต้องการความดูแลเอาใจใส่ สามารถเข้าถึงสุนัขได้ง่ายและสามารถเข้ากับคนได้ดี แต่เนื่องจากมีร่างกายที่ใหญ่และน้ำหนักเยอะ จึงควรระวังการเล่นด้วยกับสุนัขพันธุ์นี้เป็นพิเศษ และหากสุนัขรู้สึกถึงการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ อาจแสดงพฤติกรรมการทำลายข้าวของเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจได้

การเข้ากับเด็ก

เป็นสุนัขที่ขึ้นชื่อเรื่องรักใคร่ อ่อนโยน อดทน และปกป้อง สามารถเข้ากับเด็กที่อายุโตได้ แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นสุนัขที่ขนาดตัวใหญ่ น้ำหนักเยอะ หากเป็นเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรคอยสังเกตดูตลอดเวลา เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายต่อเด็กได้

การออกกำลังกาย

การพาสุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ต้องระวังมากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีขนาดตัวใหญ่ มีการเจริญเติบโตเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น มีพลังงานสูงตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข ข้อควรระวังคือการที่สุนัขออกกำลังกายมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเจริญของข้อต่อได้ และด้วยสภาพของประเทศไทยมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินกว่าปกติ (Overheat)

ควรพาสุนัขออกกำลังกายตั้งแต่สุนัขยังเล็ก ออกกำลังกายประมาณ 30 นาทีต่อวัน เพียงพอสำหรับสุนัขสายพันธุ์นี้ เช่น การเดิน การวิ่ง หรือการเล่นให้สุนัขเคลื่อนไหว เป็นต้น เมื่อสุนัขโตขึ้นความสนใจในการออกกำลังกายหรือการใช้พลังงานจะลดลงอย่างมาก ดังนั้นควรได้รับการดูแลอย่างจริงจังเนื่องจากสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดการเจ็บป่วยได้มาก

อาหารและโภชนาการ

สุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด แนะนำให้อาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ปริมาณอาหารที่เหมาะสม 5-6 ถ้วย แบ่งเป็น 2 มื้อต่อวัน ซึ่งควรปรับเปลี่ยนตามอายุ น้ำหนัก พฤติกรรม และอัตราการเผาผลาญในแต่ละวัน หากให้อาหารมีคุณภาพหรือปริมาณอาหารไม่เหมาะสม อาจเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา ซึ่งสามารถป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการปรึกษาสัตวแพทย์ที่ดูแล เพื่อปรับเปลี่ยนอาหารและปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อสุนัข

โรคประจำพันธุ์

โรคผิวหนัง
– โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin allergies)

โรคระบบประสาท
– โรคลมชัก (Epilepsy) ทำให้พบอาการอาการชัก (Seizure)

โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
– โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Dilated cardiomyopathy (DCM))

โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
– ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric Dilatation Volvulus (GDV))

โรคระบบต่อมไร้ท่อ
– ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)

โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
– โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)

โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
– ข้ออักเสบ (Arthritis)
– ภาวะผิวกระดูกอ่อนตาย และแตกออกจากการขาดเลือดในชั้นใต้กระดูกอ่อน (Osteochondritis Dissecans (OCD))

โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
– โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand’s disease (vWD))

โรคตา
– โรคต้อกระจก (Cataract)
– โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive retinal atrophy)
– โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน (Entropion eyelids)

โรคหู
– การติดเชื้อในหู (Ear infections)

เรื่อง ทรงภูมิ อานันทคุณ

ข้อมูลอ้างอิง

Amerincan Kennel Club – Saint Bernard

Britannica – Saint Bernard


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : สุนัขสายพันธุ์อาคิตะ