พยาธิหนอนหัวใจในแมว ภัยร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกัน

พยาธิหนอนหัวใจในแมว จริงๆ แล้วเป็นพยาธิชนิดเดียวกับในสุนัข คือ Dirofilaria immitis แต่มีข้อแตกต่างจากการติด พยาธิหนอนหัวใจในสุนัข มากพอสมควร ซึ่งตามปกติแล้ว แมวไม่ใช่โฮสต์แท้ หรือ ที่อยู่อาศัยหลักของพยาธิ ด้วยเหตุนี้พยาธิหนอนหัวใจจึงใช้เวลาเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยนานกว่าในสุนัข หรือ ตัวอ่อนอาจไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้เลย

เนื่องจาก พยาธิหนอนหัวใจในแมว และ พยาธิหนอนหัวใจในสุนัข เป็นพยาธิชนิดเดียวกัน จึงมียุงเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกัน โดยยุงจะไปกัดและรับตัวอ่อนพยาธิจากสุนัขที่ติดพยาธิ แล้วจะเจริญเป็นระยะติดโรค และเมื่อยุงไปกัดแมวก็จะปล่อยตัวอ่อนระยะติดโรคเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังของแมว จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่กระแสเลือดและไปเจริญต่อในส่วนของหลอดเลือดที่ปอด ซึ่งหากตัวอ่อนสามารถเจริญไปเป็นตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ตัวอ่อนมักไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ จึงมักไม่ค่อยพบพยาธิตัวเต็มวัยในหัวใจ แต่พยาธิตัวอ่อนที่เคลื่อนไปอาศัยที่หลอดเลือดที่ปอด ก็สามารถทำให้เกิดความผิดปกติที่ปอดขึ้นได้ เนื่องจากพยาธิและแบคทีเรีย Wolbachia ที่อาศัยอยู่ในตัวพยาธิ จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้นที่ปอด ทำให้แมวแสดงอาการของระบบทางเดินหายใจคล้ายแมวที่เป็นโรคหอบหืด เช่น อาการ หอบ หายใจลำบาก ในแมวบางตัวอาจมีอาการไม่มากและอาจหายได้เอง ส่วนบางตัวอาจมีอาการรุนแรงจนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้การป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจในแมว จึงมีความสำคัญเช่นเดียวกับในสุนัข

พยาธิหนอนหัวใจในแมว
ขอบคุณภาพจาก : coastal-mosquito.com

การตรวจวินิจฉัย

เนื่องจากพยาธิหนอนหัวใจในแมวมักไม่เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย วิธีการวินิจฉัยจึงทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากชุดสอบที่ผลิตขึ้นมานั้นจะตรวจได้เฉพาะแอนติเจนจากตัวเต็มวัยเพศเมีย ส่วนตัวอ่อนในกระแสเลือดก็มักตรวจไม่พบเนื่องจากไม่มีตัวเต็มวัย ในบางกรณีอาจพบตัวอ่อนของพยาธิฟิลาเรียชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น Brugia pahangi ซึ่งเป็นหนอนพยาธิที่ก่อโรคเท้าช้าง  เป็นหนอนพยาธิคนละชนิดกับพยาธิหนอนหัวใจ ด้วยเหตุนี้การตรวจวินิจฉัยการติดพยาธิหนอนหัวใจจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจสอบหลากหลายวิธีร่วมกัน และทำการตรวจซ้ำหลายรอบเพื่อช่วยในการตรวจยืนยัน เช่น การใช้ชุดทดสอบแอนติบอดี้ต่อพยาธิหนอนหัวใจ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยบอกถึงการสัมผัสพยาธิในระยะต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นการยืนยันการติดพยาธิ

วิธีการถัดไป คือ การถ่ายภาพรังสี ซึ่งช่วยแสดงรอยโรคที่เกิดจากอักเสบที่ปอด แต่ไม่ได้ยืนยันการติดพยาธิเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้มีลักษณะจำเพาะของภาพถ่ายรังสีต่อการติดพยาธิ อาจพบลักษณะปอดที่มีความคล้ายคลึงกับกรณีการอักเสบที่เกิดในแมวที่เป็นหอบหืด ในบางครั้งอาจพบการขยายใหญ่ของหลอดเลือดที่ปอดด้วย ส่วนการตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จะใช้ช่วยวินิจฉัยได้ในกรณีที่มีตัวเต็มวัยของพยาธิในหัวใจแล้วเท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดในการใช้เป็นวิธีวินิจฉัยการติดพยาธิหนอนหัวใจในแมว

การรักษา

การรักษาพยาธิหนอนหัวใจในแมวมักเป็นการให้ยาเพื่อลดการอักเสบที่ปอด โดยยาที่นิยมใช้คือยา prednisolone ซึ่งเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ และให้ยาป้องกันการติดพยาธิเพื่อลดโอกาสการติดพยาธิซ้ำ ในกรณีที่แมวมีอาการหายใจลำบากรุนแรงอาจจำเป็นต้องมีการให้ออกซิเจนและยาขยายหลอดลมชนิดพ่นช่วยให้หายใจได้ดีขึ้น

ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่ใช้ในแมวเป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม macrocyclic lactone เช่นเดียวกับในสุนัข อย่างไรก็ตามขนาดยาที่ใช้ในแมวจะสูงกว่าในสุนัขจึงควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจในแมวเท่านั้น ไม่ควรนำผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขมาใช้ในแมว  และควรทำการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของแมว เนื่องจากแมวมีโอกาสติดพยาธิได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในบริเวณที่มียุงชุกชุมและมีสุนัขที่เป็นแหล่งรังโรค เช่น กลุ่มสุนัขจรจัดที่ไม่ได้รับยาป้องกันการติดพยาธิ

เห็นความสำคัญของการติดพยาธิหนอนหัวใจในแมวเช่นนี้แล้ว เจ้าของจึงควรให้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยาถ่ายพยาธิในลำไส้และยาป้องกันปรสิตภายนอก เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคที่มาพร้อมกับการติดปรสิตชนิดอื่นๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุที่ยืนยาวของน้องเหมียวต่อไปนะคะ

บทความโดย

รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)

Assoc. Prof. Sirilak Surachetpong, DVM, MS, PhD, DTBVM, AiCVIM (Cardiology)

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Department of Veterinary Medicine, Faculty of Veterinary Medicine, Chulalongkorn University