อะลาสกัน มาลามิวท์ สุนัขที่มีความจงรักภักดี เป็นมิตร มีปฏิสัมพันธ์ ความสนใจ ขี้เล่น ซื่อสัตว์ต่อเจ้าของเป็นอย่างมาก และสามารถเป็นเพื่อนเจ้าของได้
ประวัติสายพันธุ์ อะลาสกัน มาลามิวท์
สุนัขพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute) หรือสะกดตามหลักการทับศัพท์ว่า อะแลสกัน มาลามิวต์ เป็นสุนัขที่มีพละกำลัง และมีร่างกายขนาดใหญ่ และแข็งแรง
โดยบรรพบุรุษของสายพันธุ์อาศัยมีจุดกำเนิดในภูมิภาคอะแลสกา ที่เป็นดินแดนน้ำแข็งปกคลุม สุนัขสายพันธุ์นี้จึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็น และเป็นหนึ่งในสุนัขลากเลื่อนอาร์กติกที่เก่าแก่ที่สุด
ที่มาของชื่อสายพันธุ์ มาจากการตั้งชื่อตามชนเผ่าเอสกิโม (Innuit) ที่มีชื่อว่า Mahlemuts ผู้ตั้งรากฐานอยู่ริมชายฝั่ง Kotzebue Sound ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาคอะแลสกา
พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่นำสุนัขพันธุ์นี้มาใช้งาน ดังนั้น จึงเกิดการตั้งชื่อสายพันธุ์ตามชื่อชนเผ่าของพวกเขา และได้กำเนิดชื่อสายพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ มาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตสุนัขพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ ได้ถูกนำมาเป็นสุนัขลากเลื่อนบนพื้นน้ำแข็ง คอยช่วยชาวเอสกิโมในการลากแมวน้ำกลับบ้าน จนกระทั่งปี 1940 สมาคม The American Kennel Club (AKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ และหลังจากนั้น ปี 1947 สมาคม The United Kennel Club (UKC) ได้จดทะเบียนสายพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์
ลักษณะทางกายภาพ
สุนัขพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขขนาดใหญ่ มีลักษณะจำเพาะ คือสีขนบริเวณหัวตัดกับสีขนบริเวณใบหน้า ลักษณะทั่วไปมีรูปร่างใหญ่ แข็งแรง กระดูกใหญ่ หูยกตั้งเป็นทรงสามเหลี่ยม บริเวณปลายหูกลม มีฟันที่คมเหมือนกรรไกร ดวงตากลมคล้ายเม็ดอัลมอนด์สีน้ำตาล มีหน้าอกลึกกว้าง ลำตัวหนาเป็นกล้ามเนื้อ ความยาวของลำตัวมากกว่าความสูง มีขนหนาปกคลุม 2 ชั้น ประกอบด้วยขนหยาบคอยปกป้องขนอ่อนชั้นใน
สุนัขเพศผู้มีลักษณะส่วนสูงวัดจากพื้นถึงหัวไหล่ 25 นิ้ว (ประมาณ 63 เซนติเมตร) และมีน้ำหนักอยู่ที่ 85 ปอนด์ (ประมาณ 38 กิโลกรัม) และสุนัขเพศเมียมีลักษณะส่วนสูงวัดจากพื้นถึงหัวไหล่ 23 นิ้ว (ประมาณ 58 เซนติเมตร) และมีน้ำหนักอยู่ที่ 75 ปอนด์ (ประมาณ 34 กิโลกรัม)
อายุขัย
สุนัขพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ โดยทั่วไปมีอายุขัยอยู่ที่ประมาณ 10-12 ปี
ลักษณะนิสัย
สุนัขพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขที่มีความจงรักภักดี เป็นมิตร มีปฏิสัมพันธ์ ความสนใจ ขี้เล่น ซื่อสัตว์ต่อเจ้าของเป็นอย่างมาก และสามารถเป็นเพื่อนเจ้าของได้ ซึ่งข้อเสียของสุนัขสายพันธุ์นี้คือมีความดื้อรั้น เอาแต่ใจ ต้องดูแลเอาใจใส่สูง เป็นสุนัขที่ฝึกยาก รวมถึงไม่สามารถนำมาเป็นสุนัขเฝ้าบ้านได้ เนื่องจากเป็นสุนัขที่ไม่เห่า
การเข้ากับเด็ก
ถ้าหากได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เด็กเป็นอย่างดี สามารถเข้ากับเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะนิสัยดั้งเดิมเป็นสุนัขที่ขี้เล่น แต่หากเป็นเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรคอยสังเกตดูตลอดเวลา เนื่องจากอะลาสกันเป็นสุนัขที่ตัวค่อนข้างใหญ่ อาจเกิดอันตรายต่อเด็กได้
การดูแล
การออกกำลังกาย
สุนัขพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ จากอดีตที่เคยเป็นสุนัขทำงานมาก่อน จึงจัดเป็นสุนัขที่มีพลังงานมาก ในทุก ๆ วันเจ้าของควรพาสุนัขออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ โยนของให้สุนัขเก็บ หรือให้สุนัขได้ออกมาเล่นบริเวณลานกว้าง ซึ่งแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อคงรูปร่างและพฤติกรรมของสุนัข
นอกจากนี้ หากสุนัขแสดงอาหารหอบหายใจหรือร้อนจากการทำกิจกรรม เนื่องจากขนที่หนา เจ้าของจึงควรเตรียมน้ำให้พร้อมสำหรับสุนัขตลอดเวลา หากสุนัขไม่ได้ออกกำลังกาย อาจเกิดพฤติกรรมกระวนกระวาย หรือวิ่งทำลายข้าวของภายในบ้านได้
อาหารและโภชนาการ
สุนัขพันธุ์อะลาสกัน มาลามิวท์ ควรให้อาหารที่เหมาะสมกับขนาดรูปร่าง อายุ น้ำหนัก และการทำกิจกรรมในแต่ละวันของสุนัข เพื่อให้สุนัขได้ใช้แรงได้อย่างเต็มที่และมีสุขภาพที่ดี
สัตวแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้อาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ปริมาณอาหารที่เหมาะสม 3-4 ถ้วยต่อวัน หรือสามารถปรึกษากับทางสัตวแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนอาหารและปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อสุนัขได้
โรคประจำสายพันธุ์
โรคผิวหนัง
- โรคผิวหนังที่เกิดจากการที่ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุสังกะสีได้น้อยกว่าปกติ (Zinc-responsive dermatosis)
- โรคขนร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Alopecia X)
โรคระบบประสาท
- โรคปลายประสาทอักเสบ (Polyneuropathy)
- โรคลมชัก (Epilepsy)
โรคระบบต่อมไร้ท่อ
- ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
- โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
- การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของกระดูกอ่อนเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในข้อต่อ (Chondrodysplasia)
- ความผิดปกติของการพัฒนากระดูกแบบ Osteochondromatosis
เรื่อง ทรงภูมิ อานันทคุณ
ข้อมูลอ้างอิง
American Kennel Club – Alaskan Malamute
WebMD – What to Know About Alaskan Malamutes
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: สุนัขสายพันธุ์: สุนัขสายพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี