หลายคนอาจจะชื่นชอบสุนัขสายพันธุ์ต่างประเทศ อย่าง ไซบีเรียน บีเกิล พูเดิ้ล หรือ ลาบราดอร์ เพราะ ความสวยงามน่ารักและขี้เล่น แต่วันนี้ บ้านและสวน Pets จะพาคู่หู สุนัขพันธุ์ไทย ที่ไม่ใช่สุนัขพันธุ์จรตามข้างถนน แต่เป็นพันธุ์ไทยหลังอานและพันธุ์บางแก้ว มาแนะนำให้ได้รู้จักกันค่ะ
ซึ่ง สุนัขพันธุ์ไทย นอกจากจะน่ารักขี้เล่นไม่แพ้สุนัขสายพันธุ์อื่นๆ แล้ว ยังเหมาะกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศในประเทศไทย สามารถปรับได้ตามถิ่นที่อยู่ ทำให้อยู่ง่าย กินง่าย และ เลี้ยงง่ายอีกด้วยนะคะ
พันธุ์ไทยหลังอาน (Thai Ridgeback)
ถิ่นกำเนิด
สุนัขไทยหลังอานเป็นสุนัขพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่ในย่านเอเชียตะวันออกในเขตร้อน เป็นสุนัขพันธุ์พื้นเมืองเก่าแก่ของประเทศไทย อยู่ในภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด ในอดีตคนพื้นเมืองนิยมเลี้ยงไว้ เพื่อล่าสัตว์และติดตามเกวียน เพื่อคอยระวังภัย
ลักษณะนิสัย
โดยธรรมชาติของสายพันธุ์ไทยหลังอาน จะมีความสามารถในการเฝ้ายามและมีสัญชาตญาณของการล่า ระมัดระวัง คอยเตือนภัยสิ่งแปลกปลอมได้อย่างดี ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสุนัขที่มีความซื่อสัตย์ จงรักดีต่อเจ้าของ เฉลียวฉลาด มั่นใจในตัวเองสูง มีความเป็นผู้นำ รักอิสระ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และมั่นคง แต่ไม่ค่อยเหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากความแอคทีฟ ชอบเล่น และพลังงานที่เยอะมาก
ลักษณะเด่น
– กะโหลกศีรษะเป็นสามเหลี่ยมรูปลิ่ม มีกรามใหญ่ที่แข็งแรง
– หูตั้งเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายจมูกสีดำ และ ปากรูปลิ่ม
– หางเรียวยาวตั้งขึ้นเป็นรูปดาบ หรือเคียว
– ขนสั้น แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบกำมะหยี่ หรือสั้นเกรียนติดผิวหนัง แต่มีความนุ่ม และ แบบสั้นแต่ไม่เกรียนติดหนัง
– สีขนที่เป็นที่ยอมรับ ได้แก่ สีน้ำตาลแดงหรือสีแดง สีดำปลอด สีสวาด หรือ สีกลีบบัว แต่นอกจากนี้ยังมีสีหรือลวดลายอื่น ๆ อย่าง สีขาว สีเขียว(สีกระรอก) และลายเสือ
– หลังอานจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะ คือมีขนบริเวณหลังขึ้นในแนวย้อนกลับจากแนวขนปกติบนแผ่นหลัง หรือที่เรียกว่าอาน ในขณะที่สุนัขพันธุ์อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันของประเทศต่าง ๆ ไม่มี ซึ่งอานสามารถแบ่งได้เป็น
อานลูกศร : อานที่มีรูปร่างคล้ายลูกธนูหรือลูกศร มี 2 ขวัญ
อานแผ่น : เป็นอานข้อนข้างใหญ่อยู่บนแผ่นหลัง อาจมีขวัญหรือไม่มีขวัญก็ได้
อานตกข้าง : เป็นอานที่มีรูปร่างคล้ายอานแผ่น แต่ขนาดใหญ่กว่า
ขนาด
– เพศผู้ สูงประมาณ 52.5 – 62.5 เซนติเมตร หนักประมาณ 22 – 24 กิโลกรัม
– เพศเมีย สูงประมาณ 47.5 – 57.5 เซนติเมตร หนักประมาณ 20 – 22 กิโลกรัม
พันธุ์บางแก้ว (Thai Bangkeaw : TBK)
ถิ่นกำเนิด
มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่วัดบางแก้ว ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมที่มีสภาพภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าดงพงพี ทำให้เชื่อว่าบางแก้วเกิดจากการผสมกันระหว่าง สุนัขพันธุ์ไทยพื้นบ้านกับสุนัขป่าพื้นถิ่น
ลักษณะนิสัย
เวลายืนมักเชิดหน้าและโก่งคอคล้ายม้า มีความสง่างาม คล่องแคล่วว่องไว แข็งแรง กล้าหาญ ฉลาดปราดเปรียว และ ค่อนข้างดุ ตื่นตัวตลอดเวลา แต่มีความซื่อสัตย์และหวงเจ้าของมากเป็นพิเศษ มีความสามารถในการดมกลิ่นและจำเสียงเป็นเลิศ
ลักษณะเด่น
– เป็นสุนัขขนาดกลาง รูปทรงตั้งแต่ช่วงขาหน้าถึงขาหลังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส อกกว้างและลึก ไหล่กว้าง ท้องไม่คอดกิ่ว ลำตัวหนาปานกลาง
– ลักษณะขนยาวหนาเป็นสองชั้น มีขนแผงคอคล้ายแผงคอสิงโต
– หางเป็นพวงสวยงาม ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นที่สืบทอดมาจากสุนัขจิ้งจอก
– หากมีขนสีขาวรอบกรวยปากคล้ายลักษณะของหมาจิ้งจอก เรียกว่า “ปากคาบแก้ว” จะถือว่าเป็นลักษณะดี
– หน้าแหลม หูเล็ก โคนหูทั้งสองอยู่ห่างกันมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ซึ่งลักษณะของใบหน้าสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
หน้าเสือ : มีกระโหลกใหญ่ หน้าผากกว้าง โคนหูตั้งอยู่ห่างกัน ใบหูเล็ก แววตาดุร้าย มีขนที่คอแต่ไม่รอบคอและไม่มีเคราใต้คาง หางมีทั้งขนฟูและไม่ฟู หางงอและหางม้วน
หน้าสิงห์โต : มีกะโหลกศีรษะเล็กกว่าลักษณะหน้าเสือ หูเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยมตั้งตรง มีขนแผงคอใหญ่รอบคอ มีเครายาวใต้คาง ช่วงตัวตอนหน้าใหญ่ตอนท้ายเล็ก หางเป็นพวง เท้าอูมและมีขนยาวหุ้มปลายเท้าเล็กน้อย จัดเป็นสุนัขที่หายากและมีราคาแพง
หน้าจิ้งจอก : ใบหน้าแหลม ใบหูใหญ่กว่าสองชนิดแรก หางเป็นพวง นิสัยไม่ค่อยดุร้าย
ขนาด
– เพศผู้ สูงประมาณ 42-53 เซนติเมตร หนักประมาณ 14-16 กิโลกรัม
– เพศเมีย สูงประมาณ 38-48 เซนติเมตร หนักประมาณ 13-15 กิโลกรัม