ความผูกพันระหว่างสุนัขและเจ้าของ เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสุนัขถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีวิวัฒนาการร่วมกับมนุษย์มาอย่างใกล้ชิด เป็นระยะเวลาอันยาวนาน
ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษาถึงรูปแบบ ความผูกพันระหว่างสุนัขและเจ้าของ ในลักษณะต่าง ๆ ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นจากลักษณะความผูกพันเหล่านั้น ในเชิงของความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับน้องหมาเพิ่มมากขึ้น
การศึกษาเรื่องความผูกพันธ์ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยง เป็นการประยุกต์มาจากการศึกษาความผูกพันระหว่างเด็กและพ่อแม่ โดยความผูกพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสุนัขและมนุษย์ มีทั้งหมด 4 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ ความผูกพันที่มั่นคง ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ความผูกพันแบบสับสน ความผูกพันแบบไม่เป็นระเบียบ และความผูกพันที่ไม่สามารถระบุลักษณะได้
เราสามารถสังเกตจากพฤติกรรมของน้องหมาที่แสดงออกก่อนการแยกจากเจ้าของ ขณะแยกจากเจ้าของ และหลังจากกลับมาเจอกับเจ้าของ เป็นตัวที่บ่งบอกถึงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสุนัขของเรา มาดูรายละเอียดกันครับ
1. ความผูกพันที่มั่นคง (Secure attachment) สุนัขที่มีรูปแบบความผูกพันในลักษณะนี้จะแสดงความต้องการเข้าหา และอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าของ โดยจะเข้าหาและอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าของเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 วินาที หลังจากที่เจ้าของกลับมาบ้าน สุนัขแทบจะไม่หลบสายตาไปทางอื่น หรือพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับเจ้าของเลย และไม่มีการต่อต้านต่อปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับเจ้าของในช่วงเวลาดังกล่าว
สุนัขที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ที่มั่นคง ก่อนจะแยกจากเจ้าของ สุนัขอาจจะมีการเล่นหรือสำรวจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง และเมื่อทักทายกับเจ้าของเสร็จแล้ว สุนัขอาจจะไปนอนพักผ่อน ส่วนช่วงที่แยกจากเจ้าของ สามารถพบพฤติกรรมการเดินตามหาเจ้าของได้ แต่เป็นการตามหาที่ไม่ได้มีภาษากายของความเครียดแสดงให้เห็น
2. ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง (Insecure attachment – avoidance) สุนัขที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าของในรูปแบบนี้จะไม่ค่อยแสดงพฤติกรรมเข้าหาเจ้าของ หรือติดตามเจ้าของ สุนัขมักจะหันหน้าหนี มองไปทางอื่น หรือลุกหนีจากเจ้าของ และไม่ค่อยสนใจเจ้าของเมื่อถูกเรียกให้มาหาในช่วง 30 วินาทีแรกหลังจากเจอกัน ในช่วงที่แยกจากเจ้าของ สุนัขมักจะไม่ค่อยมีการเดินตามหาเจ้าของ ยกเว้นจะถูกทิ้งไว้เพียงลำพังตัวเดียวภายในห้อง
3. ความผูกพันแบบสับสน (Insecure attachment – ambivalent) สุนัขกับเจ้าที่มีความผูกพันแบบสับสน จะแสดงพฤติกรรมในการพยายามเข้าหา ใกล้ชิดกับเจ้าของเมื่อกลับมาเจอกัน แต่ในขณะเดียวกัน สุนัขเองก็จะแสดงสัญญาณของความเครียด และ/หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เจ้าของเกิดความรำคาญ และอาจมีพฤติกรรมที่ดูขัดแย้ง เช่น การฝืนในขณะที่กำลังเล่น หรือทักทายกับเจ้าของ บางครั้งสุนัขเข้าหาเจ้าของแต่พอถูกจับตัวไว้ ก็พยายามฝืนที่จะออกห่าง เป็นต้น
ในช่วงก่อนจะแยกจากเจ้าของ สุนัขมักไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อม แต่จะพยายามตามติดเจ้าของ และในขณะที่แยกจากเจ้าของ อาจะมีการส่งเสียงร้องเรียกและพยายามตามหาเจ้าของ ถึงแม้จะมีสุนัขตัวอื่นอยู่ด้วยใกล้ ๆ ก็ตาม
4. ความผูกพันแบบไม่เป็นระเบียบ (Insecure attachment – disorganized/disoriented) เป็นลักษณะความผูกพันที่สลับไปมาระหว่างความผูกพันในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เราเห็นการแสดงออกที่ไม่สอดคล้องและไปด้วยกันของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เช่น สุนัขดูมีความเครียดเป็นอย่างมากเมื่อแยกออกจากเจ้าของ แต่กลับหลีกเลี่ยงการเข้าหา หรือนิ่งเฉยเมื่อได้เจอกับเจ้าของ หรือมีการเข้าหาเจ้าของในขณะที่ศีรษะกลับหันไปไปทางอื่น ไม่มองเจ้าของ
สุนัขที่มีความผูกพันในรูปแบบนี้ เมื่อกลับมาเจอกับเจ้าของอาจแสดงความกลัวและความเครียด และเดินหนีไปทางอื่น ไม่เข้าหาเจ้าของ หรืออาจแสดงพฤติกรรมที่มีรูปแบบซ้ำ ๆ ออกมาทันทีทันใด เช่น วิ่งวนเป็นวงกลมซ้ำ ๆ โดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับสุนัขนั้น ไม่ได้มีลักษณะมากหรือน้อย สูงหรือต่ำอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน แต่มีลักษณะเป็นรูปแบบต่าง ๆ
โดยหากเราต้องการส่งเสริมให้เกิดความผูกพันแบบมั่นคง หรือรูปแบบที่ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมน้อยที่สุด ผู้เลี้ยงสามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการลงโทษสุนัขในทุกรูปแบบ ให้ทางเลือกแก่สุนัข ตลอดจนหมั่นทำความเข้าใจกับภาษากายและพยายามตอบสนองความต้องการของสุนัข
ในทางตรงกันข้าม การลงโทษ และการบังคับสุนัขโดยไม่ให้ทางเลือก มีแนวโน้มจะทำให้รูปแบบความผูกพันอยู่ในลักษณะที่ไม่มั่นคง (insecure) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความผูกพันที่ไม่มั่นคงในรูปแบบใด ก็สามารถนำไปสู่การเกิดอารมณ์เชิงลบ และความเครียด จนก่อให้เกิดเป็นปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาได้ในอนาคต
บทความโดย
อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม
Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD
Faculty of Veterinary Science Mahidol University
- Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – เข้าใจภาษากายด้วยท่าทางและหางสุนัขบอกอารมณ์