เสียงสุนัขหอน – เข้าใจ 5 เหตุผลเบื้องเสียงเห่าหอนของสุนัข

เสียงสุนัขหอน เป็นเสียงที่ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของสุนัขเท่านั้นที่คุ้นเคยกับเสียงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ แต่คนทั่วไปต่างก็เคยได้ยินเช่นกัน และยังเชื่อมโยงกับความเชื่อในสิ่งลี้ลับของสังคมไทยอีกด้วย

สุนัขได้เข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงในสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน พวกเขาปรับตัวและอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในแทบทุกพื้นที่บนโลก ในฐานะมนุษย์เราต่างคุ้นเคยกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของเพื่อนรักสี่ขา และหนึ่งในสิ่งที่เราคุ้นเคยจนกลายเป็นเรื่องเล่าต่าง ๆ ตามพื้นที่ทางวัฒนธรรม คือ เสียงสุนัขหอน

สัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสุนัข กล่าวว่า สุนัขส่งเสียงหอนด้วยเหตุผลหลายประการ การทำความเข้าใจว่า ทำไมสุนัขจึงเห่าหอน อาจให้เจ้าของเข้าใจของสิ่งที่สุนัขกำลังอยากจะสื่อสารกับเราได้ดีขึ้น และเราอาจจะจำเป็นต้องเข้าไปช่วยดูแลพวกเขาด้วยในบางกรณี

จุดกำเนิดของ เสียงสุนัขหอน

สุน้ขบ้านในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากหมาป่าเมื่อ 15,000 ปีก่อน แม้ว่าในยุคปัจจุบันพฤติกรรมของสุนัขบ้านจะแตกต่างจากสุนัขป่าอย่างชัดเจนแล้ว แต่พฤติกรรมตามธรรมชาติ อย่างการหอน ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในพฤติกรรมของสุนัขบ้าน

หากย้อนกลับไปถึงเหตุผลที่สุนัขป่าหอน อาจเป็นไปได้ทั้ง สื่อสารกับหมาป่าตัวอื่น ใช้รวมฝูง กิจกรรมการล่าของฝูง สร้างอาณาเขต หรือเตือนสุนัขฝูงอื่นให้ถอยออกจากอาณาเขต กลับมาที่สุนัขบ้าน เหล่านี้คือเหตุผลที่สุนัขบ้านส่งเสียงหอน

เสียงสุนัขหอน, สุนัขหอน, เสียงหอนของสุนัข

5 เหตุผล สุนัขหอน เพราะอะไร

1. เพื่อการสื่อสารข้อความบางอย่าง

สุนัขบ้านก็ยังคงพฤติกรรมบางอย่างเหมือนบรรพบุรุษที่เป็นสุนัขป่า ดังนั้น การเห่าหอนจึงเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารระหว่างสุนัขด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องการสื่อสารกับสุนัข ที่อยู่ห่างไกลออกไป ในเสียงหอนของสุนัข อาจหมายถึง สันัขกำลังบอกสมาชิกตัวอื่น ๆ ว่า ตำแหน่งของตนเองอยู่ตรงไหน และอาจเป็นการเชื้อเชิญให้ตัวอื่น ๆ ที่ได้ยินเสียงนี้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับตนเอง

2. เพื่อแสดงออกทางอารมณ์

แม้ว่าสุนัขจะไม่มีอารมณ์ความรู้สึกซับซ้อนเท่ากับมนุษย์ แต่พวกเขาก็สามารถแสดงออกทางอารมณ์ผ่านการหอนได้ เช่น สุนัขกำลังรู้สึกตื่นเต้น ในทำนองเดียวกัน ถ้าสุนัขกำลังรู้สึก หงุดหงิด เครียด หรือเหงา ก็อาจจะแสดงออกด้วยการส่งเสียงได้ นอกจากนี้ เสียงหอนของสุนัขยังอาจเป็นสัญญาณของความเบื่อหน่ายได้อีกด้วย

3. เพื่อตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม

สุนัขอาจตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือสิ่งเร้าจากภายนอก เช่น เสียงไซเรนจากรถพยาบาล หรือเสียงหอนสุนัขตัวอื่น ๆ โดยพฤติกรรมการหอนที่ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าภายนอก เรียกว่า “การหอนแบบติดต่อ” และมกัเกิดขึ้นกบัสุนัขที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งมักจะได้ยินเสียงของสุนัข ที่อยู่ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงได้ง่าย

4. เพื่อแสดงอาณาเขต

เมื่อสุนัขของเราได้ยิน หรือสังเกตเห็นสุนัขตัวอื่นเคลื่อนที่เข้ามาในอาณาเขตของตัวเอง สุนัขอาจส่งเสียงหอนเพื่อสื่อสารให้สุนัขตัวอื่นรับรู้ว่า บริเวณนี้เป็นอาณาเขตที่มีเจ้าของแล้ว และสุนัขตัวอื่นควรอยู่ห่าง ๆ ไว้

5. เพื่อการแสดงออกตามสัญชาตญาณ

สุนัขบางสายพันธุ์มีแนวโน้มที่จะเห่าหอนมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น สุนัขบีเกิ้ล ที่มักจะใมช้เสียงหอน เพื่อสื่อสารกับสุนัขตัวอื่น ๆ ขณะเล่นล่าเหยื่อด้วยกัน ในทำนองเดียวกัน สุนัขไซบีเรียนฮัสกี และอะแลสกันมาลามิวต์ ก็อาจส่งเสียงหอนบ่อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เนื่องจากถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อให้ทำงานร่วมกันเป็นฝูง

เสียงสุนัขหอน, สุนัขหอน, เสียงหอนของสุนัข

หากสุนัขหอนมากเกินไป ควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์

ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี การส่งเสียงหอนเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของสุนัข เพื่อการสื่อสารถึงกันและกัน พฤติกรรมนี้ เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่น่าสนใจมาก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้เฉพาะในสุนัขเท่านั้น ไม่พบในสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ

ถ้าในกรณีที่สุนัขของเราเห่าหอนมากกว่าปกติ การฝึกให้สุนัขเรียนรู้ที่จะหอนน้อยลง ด้วยวิธีการใช้แรงจูงใจเชิงบวก หรือการให้รางวัล เช่น ถ้าสุนัขหอนโดยไม่มีเหตุผล ให้เราเพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น และเบี่ยงเบนความสนใจของสุนัขด้วยของเล่น หรือ กิจกรรมอื่น ๆ เมื่อสุนัขหันมาสนใจเรา หรือยอมทำกิจกรรมร่วมกับเรา จากนั้น เราจึงให้ขนมสุนัขเป็นรางวัล

กระบวนการฝึกแต่ละพฤติกรรม ใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน และในสุนัขแต่ละตัวก็ตอบสนองต่อการฝึกพฤติกรรมที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น เจ้าของจึงต้องใช้ความสม่ำเสมอ และความอดทน ในการฝึกน้อง ๆ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การหอนมากเกินไปอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ หรือพฤติกรรมที่ซ่อนอยู่ เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่สังเกตเห็นอาการหอนที่ดูเหมือนเป็นความผิดปกติ หรือเรื้อรัง (หอนไม่หยุดแม้จะได้รับขนม หอนขณะทำพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น กัด หรือมีอาการเจ็บปวด) ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์

การใส่ใจพฤติกรรมการหอนของสุนัข และทำความเข้าใจถึงสาเหตุเบื้องหลัง จะช่วยให้คุณสื่อสาร และดูแลพวกเขาได้ดีขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง

WebMD – Howling in Dogs

petMD – Why Do Dogs Howl? 5 Reasons To Understand Why Your Dog Is Howling


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – เสียงเห่า ของน้องหมาแต่ละภาษา