วิธี พาแมวไปหาหมอ ตามแบบฉบับคุณหมอแมว

วันนี้ ไปหาหมอกันนะลูก … แค่คิดจะ พาแมวไปหาหมอ พ่อแม่อย่างเราก็เริ่มกังวลแล้ว ว่าน้องจะเครียดไหม คุณหมอจึงฝากคำแนะนำ และวิธีการ มาให้พ่อ ๆ แม่ ๆ ได้เตรียมตัวน้องแมวก่อนไปพบสัตวแพทย์ค่ะ

ในช่วงชีวิตของการดูแลแมวเป็นสมาชิกในบ้านของเรา การ พาแมวไปหาหมอ หรือสัตวแพทย์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมพื้นฐานที่เจ้าของแมวต้องทำเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการพาแมวไปตรวจสุขภาพ การฉีดวัคซีนประจำปี การทำหมัน หรือการรักษาอาการเจ็บป่วย

โดยธรรมชาติของแมวแล้ว ค่อนข้างแตกต่างจากสุนัข ตรงที่ไม่ค่อยชอบออกไปนอกบ้าน หรือพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอย่างฉับพลัน ดังนั้น การพาแมวออกจากบ้านไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ในช่วงเวลาสั้น ก็สามารถกระตุ้นความเครียด หรืออาจเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่แมวจดจำได้

นอกจากนี้ แมวยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีอาณาเขต การออกจากบ้านที่อยู่เป็นประจำ จึงหมายถึง การออกจากอาณาเขตที่คุ้นเคย และเมื่ออยู่นอกบ้าน แมวจะไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ บวกกับความไวต่อสิ่งเร้าของแมว เช่น กลิ่น เสียง หรือมีสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่ไม่คุ้นเคย เป็นต้น การออกจากบ้านจึงเป็นเหมือนฝันร้ายสำหรับแมวบางตัว รวมไปถึงเจ้าของด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเข้าใจวิธีการเตรียมตัวก่อนพาแมวออกจากบ้านไปหาหมอ หรือเดินทางท่องเที่ยว ก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับแมวได้ และยังสามารถลดความเครียดก่อนไปพบสัตวแพทย์ได้ด้วย ทำให้การวินิจฉัย หรือการรักษา มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พาแมวไปหาหมอ, วิธีเตรียมตัว,

การเตรียมตัวก่อน พาแมวไปหาหมอ ให้แมวพร้อมออกเดินทาง

1. เตรียมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแมว

เจ้าของควรเตรียมข้อมูลประวัติแมว สมุดวัคซีน โรคประจำตัว ข้อมูลอาการป่วยของแมว พฤติกรรม และนิสัยของน้องแมว หรือถ้าแมวเกิดอาการเจ็บป่วยฉับพลัน ให้บันทึกอาการที่สังเกตได้โดยละเอียด พร้อมบันทึกช่วงเวลาตั้งแต่พบอาการเจ็บป่วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยของสัตวแพทย์

2. นัดหมายสัตวแพทย์ล่วงหน้าทุกครั้ง

การนัดหมายกับสัตวแพทย์ล่วงหน้า เป็นการช่วยลดระยะเวลา ที่ต้องพาน้องแมวไปนั่งคอยในโรงพยาบาลสัตว์ หรือคลินิกได้ โดยเฉพาะในกรณีที่แมวมีนิสัยดุร้าย ไม่ยอมให้คนอื่นนอกจากเจ้าของเข้าใกล้ ควรวางแผนกับสัตวแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ ล่วงหน้า เพื่อรับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนมาถึงโรงพยาบาลสัตว์ หรือคลินิก

3. เลือกกระเป๋า หรือตะกร้าสำหรับใส่แมว ที่เหมาะสม

กระเป๋า หรือตะกร้าสำหรับใส่แมว เป็นอุปกรณ์สำคัญ เพราะแมวต้องอยู่ภายในกระเป๋า หรือตะกร้า ตลอดระยะเวลาการเดินทางไปและกลับ กระเป๋าหรือตะกร้าใส่แมวที่แนะนำ ควรเป็นแบบที่มีฝาเปิดจากด้านบน และมีขนาดใหญ่พอที่จะนำมือลงไปอุ้มแมวในกระเป๋าหรือตะกร้าได้ ซึ่งวิธีการอุ้มแมวจากด้านบนนยังช่วยลดความเครียดในการนำแมวออกจากกระเป๋าได้ด้วย

กระเป๋าหรือตะกร้าควรทำจากวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย แข็งแรง คงทน และระบายอากาศได้ดี มีขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดตัวของแมว ถ้ากระเป๋าหรือตะกร้าใหญ่เกินไป เมื่อเกิดการเคลื่อนที่ระหว่างเดินทาง อาจทำให้แมวกลิ้งไปมาในกระเป๋าหรือตะกร้าได้

4. สร้างความคุ้นเคยให้แมวได้ปรับตัว

ในช่วงที่ยังไม่ถึงวันนัดหมายกับสัตวแพทย์ เจ้าของควรนำกระเป้า หรือตะกร้าที่จะใช้เคลื่อนย้ายน้องแมว ออกมาวางไว้ในบ้าน ให้น้องแมวสามารถดมกลิ่น เดินเข้าออก ได้เหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง เพื่อให้แมวรู้สึกว่า กระเป๋าหรือตะกร้าไม่ใช่พื้นที่อันตรายสำหรับพวกเขา หรือถ้าเจ้าของมีสเปรย์ฟีโรโมนสำหรับแมว ก็สามารถนำมาฉีดพ่นในกระเป๋าหรือตะกร้า ก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาที เพื่อช่วยให้แมวลดความกังวลได้

5. สร้างสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย

นำผ้าขนหนูหรือของเล่นที่มีกลิ่นของแมว ใส่ไว้ในกระเป๋าหรือตะกร้า เพื่อให้แมวรู้สึกคุ้นเคย

6. ใช้ผ้าขนหนูคลุมกระเป๋าหรือกระตร้าแมวตลอดการเดินทาง

การใช้ผ้าคลุมไว้ด้านบนจะช่วยให้แมวรู้สึกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น เป็นการลดความเครียดจากการมองเห็นสิ่งเร้าต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม สำหรับแมวบางตัวอาจมีนิสัยชอบดูสิ่งแวดล้อมเจ้าของอาจเว้นช่องให้สามารถมองเห็นสิ่งภายนอกได้

ระหว่างการเดินทางไปพบสัตวแพทย์

1. ขับรถอย่างระมัดระวัง และนุ่มนวล เพื่อลดและป้องกันไม่ให้แมวถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างอยู่ในกระเป๋าหรือตะกร้า

2. หลีกเลี่ยงการเปิดเพลง หรือพูดคุยเสียงดังในรถ เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้แมวเกิดความเครียดมากขึ้น แต่เจ้าของสามารถพูดคุยกับแมวด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล หรือนำเสียงปกติที่พูดคุยกับแมวตอนอยู่บ้าน เพื่อสร้างความรู้สึกอุ่นใจให้แมว

3. แนะนำให้ใช้ผ้าขนหนูรองใต้กระเป๋าหรือตะกร้าใส่แมวจะช่วยดูดซับแรงสะเทือนจากเบาะรถสู่ตัวแมวได้

เมื่อเดินทางมาถึงคลินิกหรือโรงพยาบาลแล้ว ให้แมวอยู่ในพื้นที่จุดพักคอยที่ไม่มีเสียงดัง และพลุกพล่าน เจ้าของควรให้แมวอยู่ในกระเป๋าหรือตะกร้าตลอดเวลา โดยใช้ผ้าคลุมกรงไว้ได้เหมือนตอนอยู่ที่บนรถเพื่อลดการมองเห็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

ในปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลสัตว์ได้จัดพื้นที่นั่งคอย สำหรับแมวและเจ้าของแมวโดยเฉพาะ แยกออกจากโซนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถช่วยลดความเครียด และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ให้กับแมวเมื่อมาพบสัตวแพทย์ได้มากขึ้น

การนำแมวออกจากกระเป๋า ควรนำออกมาเมื่ออยู่ภายในห้องตรวจที่ปิดประตูมิดชิด เพื่อให้แมวมีระยะเวลาในการปรับตัว และหากมีการตื่นกลัวจะไม่เกิดการหลุดหายออกนอกพื้นที่ สามารถพูดคุยกับแมว เรียกชื่อแมวด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล เพื่อสร้างความสบายใจและความคุ้นเคยให้กับแมวในช่วงที่เข้าพบสัตวแพทย์ได้

บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – การสร้าง อาณาเขตของแมว เรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจ