โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus; FIV)

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับคำว่าโรคติดเชื้อไวรัส HIV หรือ โรคเอดส์ กันมาบ้าง แต่วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อว่าเชื้อ Feline immunedeficiency virus (FIV) หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว หรือ โรคเอดส์แมว ซึ่งเป็นญาติตระกูลเดียวกับเชื้อ HIV ในคน

เมื่อได้ยินคำว่าแมวก็มี โรคเอดส์แมว เหมือนกัน หลายคนก็คงจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจอีกหลายๆ ข้อตามมา เช่น “จะติดคนมั้ยคะ?” “จะรักษาได้อย่างไรคะหมอ?” หรือ “แมวผมไปติดมาได้ยังไงตอนไหน วัคซีนก็ทำครบ?” วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังครับ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเอดส์แมว ?

มักพบในแมวที่มีการเลี้ยงระบบเปิด ซึ่งมีโอกาสไปต่อสู้ กัดกัน กับแมวอื่นๆ ได้ โดยส่วนใหญ่มักพบในแมวตัวผู้มากกว่าตัวเมีย และ มักพบในแมวที่มีอายุประมาณ 5 ปี ขึ้นไป

โรคนี้ติดต่อกันได้อย่างไร ?

โดยปกติแล้วเชื้อนี้สามารถพบได้ใน น้ำในไขสันหลัง เลือด หรือน้ำลาย ของแมวที่ติดเชื้อ ดังนั้นการติดต่อจึงมักจะมาจากการกัด การต่อสู้กันเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงการได้รับเลือดจากแมวที่มีเชื้อ นอกจากนี้สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน (ซึ่งแม้จะเกิดได้ยากแต่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ในบางรายแม้เลี้ยงระบบปิดก็พบการติดเชื้อได้) แต่โชคดีที่โรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน

โรคเอดส์แมว
ขอบคุณภาพจาก https://zuki.co.za/

อาการของโรคเอดส์แมวเป็นอย่างไร ?

อาการโดยทั่วไปจะไม่จำเพาะ ในช่วงแรกอาจมีไข้ ซึม ไม่กินอาหารหลังจากได้รับเชื้อ จากนั้นอาการต่างๆ เหล่านั้นอาจหายไปได้เอง แต่โดยในระยะยาวแล้ว โรค FIV นี้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ทำให้เชื้อโรคต่างๆ ฉกฉวยโอกาสติดมาได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถเจ็บป่วยได้ง่ายและหายได้ยาก อีกทั้งยังสามารถพบอาการอื่นๆ ได้ เช่น เหงือกอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ผอม น้ำหนักลด มีไข้ และ อาจมีโรคติดเชื้อแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ไม่จำเพาะ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ได้อีกด้วย

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ ต้องตรวจอะไร ?

ก่อนอื่นสัตวแพทย์ต้องทำการตรวจร่างกาย และ ถามถึงประวัติ เช่น การเป็นอยู่ การเลี้ยงระบบปิด/เปิด เคยโดนแมวตัวอื่นกัด หรือ เป็นแมวจรมาก่อนรับเข้ามาเลี้ยงหรือไม่ รวมถึงอาการต่างๆ จากนั้นจึงทำการตรวจเพิ่มเติมโดยใช้ตรวจชุดตรวจ (ความแม่นยำและความจำเพาะประมาณ 90%) หรือ ตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เช่น PCR ที่มีความแม่นยำและจำเพาะมากกว่า หรือ ใช้การตรวจซ้ำอีก 6 เดือน เพื่อยืนยันผล
นอกจากนี้ ในลูกแมวที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน หากตรวจเจอผลเป็นบวก ควรได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังอายุเกิน 6 เดือน เนื่องจากมีโอกาสที่ลูกแมวจะได้รับภูมิคุ้มกันมาจากแม่ แต่ไม่ได้ติดโรคเอง จึงอาจทำให้เกิดผลบวกลวงได้ หรือ ในรายที่พึ่งได้รับเชื้อ (เช่นพึ่งไปกัดกันมา) และ ร่างกายยังไม่ทันสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ FIV อาจทำให้ตรวจไม่เจอ หรือ เป็นผลลบลวงได้ เนื่องจากวิธีการตรวจส่วนใหญ่จะตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อ FIV

โรคเอดส์แมว
ขอบคุณภาพจาก https://zuki.co.za/

รักษาอย่างไรได้บ้าง ?

โรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 100% การรักษาจึงเป็นในแนวทาง แก้ไขปัญหาแทรกซ้อน ชะลอการเป็นไปของโรค ซึ่งเจ้าของสามารถดูแลและรักษาอาการป่วยร่วมกันกับแพทย์ได้ โดยการลดความเครียด การให้น้ำและกินอาหารดีๆ ที่มีประโยชน์และเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง รวมถึงพามาตรวจร่างกายกับสัตว์แพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะ แมวที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการซูบผอม และ อาจมีปัญหาแทรกซ้อนได้ เช่น เหงือกอักเสบ เจ็บปาก ทานอาหารลดลง อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับยาลดอักเสบต่างๆ หรือ การใช้แสงเลเซอร์ช่วยลดอักเสบ รวมไปถึงกรณีที่เป็นรุนแรงมากอาจต้องใช้การถอนฟัน ร่วมกับการกินอาหารเหลวแทน แต่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ยาต้านไวรัสเหมือนของในคนเข้ามาใช้ประกอบการรักษามากขึ้น เช่น AZT; Zidovudin รวมถึงยาที่เสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น เช่น Feline interferon omega

วิธีป้องกันโรคเอส์แมว ?

ทางที่ดีคือการเลี้ยงระบบปิดและทำหมัน เพื่อลดพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การต่อสู้กัน และ การกัดกับแมวอื่นจนได้รับเชื้อมา และ หากเป็นแมวที่พึ่งรับเข้ามาเลี้ยงร่วมกับแมวตัวอื่นที่บ้าน ควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจคัดกรองโรคก่อนนำไปเลี้ยงรวมกับแมวที่บ้าน หรือ หากแมวที่บ้านเป็นโรคนี้อยู่แล้ว ควรแยกเลี้ยงกับตัวอื่นที่ยังไม่ติดเชื้อ ซึ่งแม้ว่าโรคนี้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันได้ แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนก็ไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% ดังนั้นการป้องกันจึงดีที่สุด

บทความโดย

น.สพ. พิทวัส ตันสกุล

Pittawat Tunsakul, DVM (Hon)

โรงพยาบาลสัตว์สวนสยาม

Suan Siam Animal Hospital


รู้ไหมว่า? น้องหมาน้องแมวก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง

ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงแมวในบ้านหรือระบบปิด

อาการและวิธีรับมือ เมื่อแมวเหมียวมีพยาธิ

ติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/BaanlaesuanPets