เมื่อสมัยที่หมอยังเป็นนิสิตสัตวแพทย์ (ซึ่งไม่นานเท่าไหร่แค่ประมาณ สิบกว่าปีเอง) สมัยนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของพยาธิหนอนหัวใจ กล่าวได้ว่าพบสุนัขที่ติดพยาธิหนอนหัวใจแบบรายวัน และพบสุนัขที่ติดพยาธิจนแสดงอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวแบบรายสัปดาห์ ปัจจุบันเนื่องจากการตระหนักถึงการป้องกัน ทำให้อุบัติการณ์การติดพยาธิลดลงไปมาก อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ที่การป้องกันยังไม่ดีพอ หรือ บางช่วงที่เริ่มมีการละเลยต่อการป้องกัน ก็มีโอกาสพบการติดพยาธิเพิ่มขึ้นได้ พยาธิหนอนหัวใจ
จริงๆ แล้ว พยาธิหนอนหัวใจ เป็นพยาธิชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dirofilaria immitis ซึ่งมีสุนัขเป็นโฮสต์แท้ โดยมียุงเป็นพาหะ โดยเมื่อยุงกัดสุนัขที่มีตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวอ่อนจะเข้าสู่ตัวยุงและเจริญเป็นระยะที่ 2 และ 3 ตัวอ่อนระยะที่ 3 เป็นระยะติดโรค เมื่อยุงไปกัดสุนัขตัวถัดไป จะปล่อยตัวอ่อนระยะติดโรคเข้าสู่สุนัข ตัวอ่อนระยะที่ 3 จะเคลื่อนผ่านชั้นใต้ผิวหนัง และเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4 โดยใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 45-60 วัน จากนั้นตัวอ่อนจะเคลื่อนเข้าสู่หลอดเลือดและเคลื่อนตามกระแสเลือด เข้าสู่หลอดเลือดพัลโมนารีอาเทอรี่ที่ปอดและเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 6-7 เดือน พยาธิตัวเต็มวัย จะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี
ลักษณะอาการเมื่อมีพยาธิ
ตัวอ่อนและตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจที่อาศัยอยู่ที่หลอดเลือดที่ปอดจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้สุนัขมีภาวะปอดอักเสบ เกิดอาการไอ และหายใจลำบาก พยาธิหนอนหัวใจเมื่อมีจำนวนมาก อาจเคลื่อนจากหลอดเลือดพัลโมนารีที่ปอด มาอาศัยอยู่ในหัวใจทางด้านขวา หากมีปริมาณมากอาจเกิดการอุดตันในหลอดเลือด ขัดขวางการไหลเวียนเลือดและทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด สุนัขจะแสดงอาการท้องมานหรือการสะสมของของเหลวในช่องท้อง บางตัวอาจมีอาการบวมตามขา และบางตัวอาจมีภาวะหายใจลำบากเนื่องจากการสะสมของของเหลวในช่องอก นอกจากนั้นภายในตัวพยาธิยังมีแบคทีเรียชื่อ โวบาเคีย (Wolbachia) โดยอยู่อาศัยแบบพึ่งพากัน กล่าวคือ หากแบคทีเรียตาย พยาธิก็จะตาย และในทางกลับกัน ถ้าพยาธิตาย แบคทีเรียก็จะอยู่ไม่ได้ ในกรณีที่พยาธิตาย ชิ้นส่วนของพยาธิ และแบคทีเรีย โวบาเคีย ก็จะมีผลกระตุ้นกระบวนการอักเสบในร่างกายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเศษของพยาธิที่ตายอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามมาได้
การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
จะเห็นได้ว่าในกรณีที่สุนัขติดพยาธิหนอนหัวใจจะก่อให้เกิดอันตรายกับตัวสุนัข อาจทำให้เกิดอาการป่วยหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต ทางที่ดีที่สุดจึงควรทำการป้องกันการติดพยาธิในสุนัขทุกตัว เนื่องจากพยาธิหนอนหัวใจมียุงเป็นพาหะ การลดโอกาสในการพบเจอยุงจึงเป็นหนึ่งวิธีในการป้องกัน อาจใช้ยาไล่ยุง หรือ ลดการพาสุนัขออกนอกบ้านในช่วงโพล้เพล้ ซึ่งเป็นช่วงที่มียุงมาก ทำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน หรืออาจมีการติดมุ้งลวดให้ที่กรงสุนัข
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการกำจัดยุงให้หมดไปจากประเทศไทยนั้นทำได้ยาก เช่นเดียวกับการพยายามลดโอกาสการเจอยุง (ซึ่งไม่น่าจะทำได้) การป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจ โดยการใช้ยาที่มีผลในการฆ่าตัวอ่อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกว่า ปัจจุบันยาที่ใช้ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม macrocyclic lactone ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายชนิดทั้งรูปแบบยากิน ยาหยดหลัง หรือยาฉีด ยาป้องกันในรูปแบบยากินและยาหยดหลัง โดยส่วนใหญ่ต้องให้ทุกเดือน เดือนละครั้ง ส่วนรูปแบบยาฉีดจะสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนาน 12 เดือน โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจมีการผสมตัวยาชนิดอื่นๆ ที่มีผลในการฆ่าปรสิตภายในหรือภายนอกชนิดอื่นร่วมด้วย ซึ่งจะมีหลายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์ ยากำจัดเห็บหมัดบางชนิดไม่ได้มีฤทธิ์ครอบคลุมในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ ก่อนใช้จึงควรศึกษารายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์หรืออาจสอบถามจากสัตวแพทย์ เพื่อการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการป้องกันแต่ละชนิดควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะวิธีการใช้และระยะเวลาที่ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ป้องกันได้ เพื่อลดโอกาสเกิดความล้มเหลวในการป้องกัน สามารถเริ่มโปรแกรมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ในกรณีที่สุนัขโตแล้วและยังไม่เคยป้องกันพยาธิหนอนหัวใจมาก่อน ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยก่อนว่าสุนัขไม่ได้มีการติดพยาธิหนอนหัวใจไปก่อนหน้าแล้ว จึงค่อยเริ่มโปรแกรมป้องกัน
การตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจ
ในกรณีที่สุนัขมีอาการดังที่ได้กล่าวไปแล้วและสงสัยว่ามีการติดพยาธิหนอนหัวใจ สามารถพาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ โดยสัตวแพทย์จะใช้ชุดทดสอบสำเร็จรูปในการตรวจหาแอนติเจนของพยาธิหนอนหัวใจในเลือดสุนัข ในกรณีที่ชุดทดสอบให้ผลบวกแสดงว่ามีแอนติเจนของพยาธิตัวเต็มวัยเพศเมียอยู่ในร่างกายสุนัข ในกรณีที่ให้ผลลบ อาจเกิดจากการไม่ติดพยาธิ หรือยังไม่มีพยาธิตัวเต็มวัยเพศเมียอยู่ในร่างกายสุนัข ซึ่งอาจเกิดจากการที่พยาธิตัวอ่อนยังเจริญไม่เต็มที่ หรือมีแต่พยาธิหนอนหัวใจเพศผู้ในร่างกายสุนัขในขณะนั้นก็ได้ จึงควรมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรกประมาณ 6 เดือน นอกจากนั้นอาจทำการตรวจหาตัวอ่อนพยาธิในกระแสเลือด ในกรณีที่พบตัวอ่อนในกระแสเลือดควรทำการตรวจยืนยันแอนติเจนของพยาธิตัวแก่ในร่างกายสุนัขด้วยเสมอ เนื่องจากตัวอ่อนที่พบอาจเป็นของพยาธิชนิดอื่นก็เป็นได้ การมีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือดบ่งชี้ถึงการเป็นรังโรค และโอกาสการแพร่พยาธิหนอนหัวใจ ไปยังสุนัขตัวอื่นๆ โดยผ่านทางยุงได้ สัตวแพทย์จึงมักให้ยากลุ่มป้องกันเพื่อกำจัดตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจด้วย
นอกจากการตรวจยืนยันการติดพยาธิหนอนหัวใจ สัตวแพทย์จะทำการถ่ายภาพรังสี เพื่อดูรอยโรคและความรุนแรงของภาวะปอดอักเสบ ดูการเปลี่ยนแปลงของขนาดและรูปร่างหัวใจ โดยอาจพบลักษณะหัวใจด้านขวาโต ร่วมกับการขยายใหญ่ของหลอดเลือดพัลโมนารีอาเทอรี ในกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว อาจพบภาวะท้องมานและการสะสมของของเหลวในช่องอกจากภาพถ่ายรังสี การตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อน ความถี่สูง อาจพบพยาธิในหัวใจในกรณีที่มีการเคลื่อนของพยาธิเข้าสู่หัวใจแล้ว นอกจากนั้นอาจพบการขยายใหญ่ของห้องหัวใจด้านขวา และพบภาวะความดันเลือดในปอดสูงขึ้นได้
วิธีการรักษา
ปัจจุบันสามารถทำการรักษาพยาธิหนอนหัวใจได้โดยการใช้ยาฆ่าตัวเต็มวัยของพยาธิ Melasomine dihydrochloride โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบั้นเอว ตัวยาจะค่อนข้างปวดสัตวแพทย์จึงอาจจ่ายยาช่วยลดอาการปวดให้ การฉีดยาจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 1 และฉีดเข็มที่ 2 และ 3 ในวันที่ 30 และ 31 ถัดจากเข็มแรก เนื่องจากยาจะทำให้พยาธิตัวเต็มวัยตาย ชิ้นส่วนหรือเศษของพยาธิที่ตาย อาจเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันได้ เพื่อลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน จึงควรจำกัดการออกกำลังกาย หรือพักสุนัขไว้ในกรง เป็นระยะเวลา ประมาณ 6 สัปดาห์ ภายหลังการฉีดยาฆ่าพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัย ภายหลังการฉีดยาหากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดที่ปอดขึ้น สุนัขอาจแสดงอาการหอบ หายใจลำบาก หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้น ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ออกซิเจน และให้ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ในกรณีที่สุนัขสภาพไม่พร้อมที่จะทำการรักษาด้วยยาฆ่าตัวเต็มวัย เช่น มีภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว สัตวแพทย์อาจเลือกวิธีรักษาแบบทางเลือกโดยการให้ยา ivermectin ร่วมกับ doxycycline หรือการให้ยาหยดหลัง moxidectin ร่วมกับ doxycycline และทำการตรวจหาแอนติเจนของพยาธิตัวเต็มวัยพยาธิหนอนหัวใจเป็นระยะๆ ในกรณีที่ทำการรักษาแบบทางเลือกจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดเช่นเดียวกับการรักษาโดยการฉีดยาฆ่าตัวเต็มวัย
ในกรณีที่มีปริมาณพยาธิตัวเต็มวัยค่อนข้างมากและเกิดการอุดตันภายในห้องหัวใจหรือหลอดเลือดดำใหญ่ จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อคีบพยาธิตัวเต็มวัยบางส่วนออก เพื่อลดการอุดตัน และจึงทำการรักษาโดยการให้ยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยต่อไป
จะเห็นได้ว่าหากสุนัขมีการติดพยาธิหนอนหัวใจ สุนัขจะแสดงอาการป่วยได้ค่อนข้างรุนแรงและบางตัวอาจถึงขั้นเสียชีวิต สุนัขทุกตัวควรได้รับการป้องกันการติดพยาธิหัวใจอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นการลดโอกาสการเจ็บป่วยสำหรับตัวสุนัขที่ท่านเลี้ยงเองแล้ว ยังเป็นการช่วยสังคมลดจำนวนสุนัขที่เป็นแหล่งรังโรคของตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจ ที่จะแพร่ไปยังสุนัขตัวอื่นๆ รวมถึงสัตว์สปีชีส์อื่น เช่น แมว ถึงแม้จะไม่ใช่โฮสต์แท้หรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นที่อยู่อาศัยหลักของพยาธิหนอนหัวใจ แต่ก็มีโอกาสติดพยาธิหนอนหัวใจและเกิดอันตรายร้ายแรงได้เช่นเดียวกัน เรื่องพยาธิหนอนหัวใจในแมวหมอจะขอมาเล่าให้ฟังในบทความฉบับถัดไปแล้วกันนะคะ
อย่าลืมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ เพื่อสุนัขของท่านเองและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ นะคะ
บทความโดย
รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Assoc. Prof. Sirilak Surachetpong, DVM, MS, PhD, DTBVM, AiCVIM (Cardiology)
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Department of Veterinary Medicine, Faculty of Veterinary Medicine, Chulalongkorn University
ปรสิตภายนอก-ภายใน และ การถ่ายพยาธิ
อาการและวิธีรับมือ เมื่อแมวเหมียวมีพยาธิ
Products for Ticks & Fleas รวมผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด ฉบับรวบรัดหมดห่วง