ปักกิ่ง (Pekingese) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

สุนัขพันธุ์ ปักกิ่ง จัดเป็นสุนัขพันธุ์ทอย ในชื่อทางภาษาอังกฤษสามารถเรียกได้หลายชื่อ เช่น Pekingese, Pekinese, หรือ Peke ที่มาของชื่อมาจากการที่มีลักษณะคล้ายสุนัขสิงโต (Lion dog) หรือ Pelchie dog มีความเชื่อเสมือนคล้ายสิงโตจีน (Chinese guardian lion) และชื่อพันธุ์มีความสัมพันธ์กับชื่อเมืองปักกิ่ง (Beijing) ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดที่มาจากประเทศจีน โดยสุนัขพันธุ์นี้จะเลี้ยงได้ในเฉพาะราชสำนักต้องห้ามเท่านั้น มีความเป็นมามากกว่า 2,000 ปี เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว พัฒนามาจากการผสมสุนัขข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ชิสุ (Shih Tzu) และลาซา แอพโซ (Lhasa Apso)

จากนั้นการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ปักกิ่งได้ความนิยมในสหรัฐอเมริกา สมาคม American Kennel Club มีการจดทะเบียนสุนัขพันธุ์ปักกิ่งไว้ใน ปี ค.ศ.1906 ก่อนจะมีการจัดตั้งสมาคม Pakingese Club of America ขึ้น และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกในสมาคม American Kennel Club ในปี ค.ศ. 1909 แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันให้ความนิยมกับสุนัขพันธุ์ปักกิ่งเป็นจำนวนมาก

ลักษณะทางกายภาพ

สุนัขพันธุ์ ปักกิ่ง เป็นสุนัขพันธุ์ดั้งเดิม นิยมนำมาประกวดสุนัข เนื่องจากมีขนยาวสวยคลุมทั้งตัว และมีขนมากกว่าสุนัขพันธุ์สแปเนียลแบบดั้งเดิม กะโหลกของสุนัขมีความหนาและแบน เป็นหนึ่งสายพันธุ์ที่สามารถเห็นลักษณะนี้ได้ชัดเจน ลำตัวมีกล้ามเนื้อหนาและแข็งแรง ขาหน้าจะมีกระดูกหนาใหญ่กว่าขาหลังเล็กน้อย แต่แข็งแรงและได้สัดส่วน ท่าทางการเดินเป็นลักษณะเซไปเซมาไม่สัมพันธ์กัน (Rolling gait) ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติของสายพันธุ์ ฉะนั้นเมื่อพาสุนัขไปเดินออกกำลังกาย ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันสุนัขเดินหลงทาง

สุนัขพันธุ์ปักกิ่ง มีน้ำหนักตัวมาตรฐานอยู่ที่ 7-14 ปอนด์ หรือ 3.2-6.4 กิโลกรัม และมีส่วนสูงอยู่ที่ 6-9 นิ้ว หรือ 15-23 เซนติเมตร ซึ่งความยาวลำตัวของสุนัขจะมากกว่าส่วนสูง วัดจากอกถึงสะโพก และมีอัตราส่วนอยู่ที่ 5:3 (ยาว:สูง) นอกจากนี้ยังสามารถพบสุนัขที่ตัวเล็กกว่าสัดส่วนมาตรฐาน ซึ่งจะเรียกว่าสุนัขแขนเสื้อ (Sleeve Pekingese) หรือ Sleeves ชื่อนี้ถูกตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ จากการที่คนจีนนำสุนัขพันธุ์ปักกิ่งตัวเล็กใส่ไว้ในแขนเสื้อแล้วพกพาไปยังที่ต่าง ๆ ได้ หากสุนัขพันธุ์ปักกิ่งมีน้ำหนักเกินกว่า 14 ปอนด์ หรือเกินกว่า 6.4 กิโลกรัม จะถูกห้ามขึ้นประกวดสุนัข

เป็นสุนัขที่มีขนปกคลุม 2 ชั้น การเล็มขนไม่เป็นที่นิมยมในสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง โดยจะมีขนขึ้นรอบบริเวณแผงคอ รอบตา หาง และขา โดยในสายพันธุ์ดั้งเดิมจะมีสีขนมากกว่า 1 สี ปนกัน ซึ่งสีหลักที่สามารถพบได้ คือ สีทอง (Gold), สีแดง (Red), สีน้ำตาลเข้ม (Sable), สีทองสว่าง (Light gold), สีครีม (Cream), สีดำ (Black), สีขาว (White), สีดำปนน้ำตาล(Black and tan), สีฟ้า (Blue), หรือสีเทาปนสีฟ้าอ่อน (Slate gray) และสีที่มีความผิดปกติของเม็ดสี เป็นลักษณะ Albino Pekingese เป็นโรคอัลบินิซึม (albinism) จะมีขนสีขาวกับตาสีชมพู ขนบริเวณรอบปาก จมูก ริมฝีปาก และรอบตาจะมีสีดำ

อายุขัย

สุนัขพันธุ์ปักกิ่ง จัดเป็นสุนัขพันธุ์หนึ่งที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีอายุขัยยืนยาว ซึ่งโดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 13-15 ปี และอาจมีอายุยืนยาวได้มากกว่านี้

ลักษณะนิสัย

เป็นมิตร รักสนุก ขี้เล่น โดยทั่วไปสามารถเข้าได้ดีกับสุนัข และสัตว์เลี้ยงตัวอื่น แต่อย่างไรก็ตามควรได้รับการฝึกให้เข้าสังคมตั้งแต่ยังเด็ก มีเสียงเห่าที่ดังใหญ่กว่าขนาดตัว บางครั้งอาจมีความถือตัว และหยิ่ง หากโกรธจะไม่สนใจแม้กระทั่งขนาดสุนัขตัวอื่น หรือแม้แต่คนแปลกหน้า

การเข้ากับเด็ก

สามารถเข้ากับเด็กได้ดี ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ควรสอนให้เด็กเล่นเบา ๆ กับสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง เนื่องจากสุนัขตัวเล็ก อาจทำให้สุนัขบาดเจ็บได้ และเป็นสุนัขที่มีพลังงานต่ำ ทำให้หลังจากเล่นได้สักพักจะเหนื่อย หรืองีบหลับ ดังนั้นสุนัขพันธุ์นี้จึงไม่ค่อยนิยมให้นำมาเล่นกับเด็ก

การดูแล

การออกกำลังกาย

เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มีพลังงานต่ำ ไม่ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อน หรือชื้น ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมาก ควรพาเดินประจำทุกวัน ในระยะทางสั้น ๆ เช่น เดินรอบบ้าน หรือเล่นกับสุนัข  สามารถช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้ หากสุนัขหอบ หรือหมดแรงควรหยุดให้ได้พักทันที

อาหาร

สุนัขพันธุ์ปักกิ่ง ไม่จำเป็นต้องควบคุมอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง หากต้องการให้มีขนที่สุขภาพดี และอายุยืนยาวขึ้น ควรให้อาหารที่มีคุณภาพ และปริมาณที่เหมาะกับขนาดตัว โดยให้ประมาณ 2/3 หรือ 3/4 ถ้วยต่อวัน แบ่งให้ 2 มื้อ ประกอบไปด้วยอาหารที่มีโปรตีนสูง ผัก และไขมัน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นพวกเมล็ดธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และเมล็ดข้าวสาลี เพราะเป็นอาหารที่ย่อยยาก และก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

โรคประจำพันธุ์

  • โรคผิวหนัง
    • โรคผิวหนังอักเสบที่รอยย่น (Skin fold dermatitis)
  • โรคระบบประสาท
    • ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำตั้งแต่กำเนิด (Hydrocephalus)
    • โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Intervertebral disc disease (IVDD))
    • โรควิตกกังวล (Anxiety)
    • โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก หรือว่าเกิดจากบาดแผลทางใจ (Separation anxiety)
  • โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (Mitral Regurgitation)
  • โรคระบบทางเดินอาหาร
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • กลุ่มอาการทางเดินหายใจของสุนัขหน้าสั้น (Brachycephalic syndrome)
  • โรคระบบกระดูก เอ็น และข้อต่อ
    • โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation หรือ Slipping kneecaps)
    • โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip dysplasia)
  • โรคระบบสืบพันธุ์
    • ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง (Cryptorchidism)
  • โรคตา
    • แผลที่กระจกตา (Corneal ulcer)
    • โรคตาแห้ง (Keratitis sicca หรือ Keratoconjunctivitis sicca)
    • โรคต้อกระจก (Cataracts)
    • โรคขนตางอกผิดปกติ (Distichiasis)
    • โรคขนตางอกทิ่มเข้าเปลือกตาด้านใน (Ectopic cilia)
    • โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน (Entropion)
    • โรคกระจกตาเปิด (Exposure keratopathy)
    • โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive retinal atrophy)

เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่