อายุหมา ถ้าเทียบกับอายุเราแล้ว เค้าจะอายุเท่าไรบ้างนะ บางคนก็คงเคยได้ยินว่า ถ้าเอาอายุสุนัขคูณด้วย ‘7’ เราก็จะได้เป็นอายุที่เทียบเท่ามนุษย์
อายุหมา และอายุแมว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับมนุษย์ ได้กลายเป็นการศึกษาที่ได้ลงรายละเอียดไว้ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2019 ได้มีงานวิจัยเผยแพร่ว่า “เปรียบเทียบอายุสุนัขและแมวกับมนุษย์ ไม่ได้เทียบแค่การคูณด้วยเจ็ดอย่างที่เราเคยได้ยินมา”
โดยนักวิจัยได้ทำการเทียบสารพันธุกรรม (DNA) ของสุนัขพันธุ์ลาบาดอร์แต่ละช่วงอายุ กับ สารพันธุกรรมของมนุษย์ (ที่ใช้สุนัขเพียงพันธุ์เดียวก็เพื่อให้ได้สารพันธุกรรมเดียวกันทั้งหมดในการเทียบปัจจัยต่าง ๆ เช่น การพัฒนาแต่ละช่วงอายุที่เหมือน ๆ กัน) ด้วยวิธีการทดลอง เพื่อดูลักษณะของสารพันธุกรรม ทำให้ได้ผลเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ออกมา
นักวิจัยสามารถแปรผลการทดลองนี้ออกมาได้เป็นสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่เป็นค่า Logarithm คือ “อายุมนุษย์ = 16ln(อายุสุนัข)+31” ยกตัวอย่างเช่น สุนัขอายุ 4 ปี เมื่อเทียบในสูตรจะเทียบเท่าอายุมนุษย์ 53 ปี ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณจะเป็นอายุโดยคร่าว ๆ ของสุนัข แต่ทั้งนี้ด้วยความที่อายุขัยสุนัขพันธุ์เล็กและพันธุ์ใหญ่มีความต่างกันออกไป จึงทำให้ค่า เปรียบเทียบอายุสุนัขและแมวกับมนุษย์ ที่ได้อาจจะเป็นค่าประมาณการ เปรียบเทียบอายุสุนัขและแมวกับมนุษย์
เปรียบเทียบ อายุหมา กับมนุษย์
อ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดของอเมริกานี้ เราสามารถแบ่งช่วงอายุสุนัขได้เป็น 4 ช่วงวัยด้วยกันประกอบด้วย
- วัยเด็ก คือ ช่วงตั้งแต่เกิดมาจนถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ ในสุนัขคือ 2-6 เดือน
- วัยรุ่น คือ ช่วงตั้งแต่เจริญพันธุ์จนเจริญเติบโตสมบูรณ์ ในสุนัขคือ 6 เดือน – 2 ปี
- วัยผู้ใหญ่ คือ ช่วงตั้งแต่สุนัขอายุ 2-7 ปี
- วัยชรา คือ สุนัขอายุมากกว่า 7-12 ปีขึ้นไป
นอกเหนือจากงานวิจัยนี้แล้ว ทางสมาพันธ์สุนัขของอเมริกา ได้มีการจัดทำตารางเปรียบเทียบอายุสุนัขกับมนุษย์โดยแยกเป็นสุนัขแต่ละขนาดขึ้นมา เพื่อที่ให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ ดังนี้
เปรียบเทียบอายุแมวกับมนุษย์
สำหรับแมว อ้างอิงจากสมาคมโรงพยาบาลสัตว์อเมริกา สามารถแบ่งช่วงอายุได้เป็น 6 ช่วงวัยด้วยกันประกอบด้วย
- วัยเด็ก คือ ช่วงตั้งแต่เกิดมาจนถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ คือ แรกเกิดจนถึง 6 เดือน
- วัยรุ่น คือ ช่วงตั้งแต่เจริญพันธุ์จนเจริญเติบโตสมบูรณ์ คือช่วงอายุ 7 เดือน-2ปี
- วัยหนุ่มสาว คือ ช่วงตั้งแต่อายุ 3-6ปี , ช่วงโตเต็มวัย คือช่วงอายุ 7-10 ปี
- ช่วงอาวุโส คือ อายุ 11-14 ปี
- ช่วงสูงอายุ คือ 15 ปีขึ้นไป
สามารถเทียบกับอายุมนุษย์ได้ดังตาราง
แล้วพันธุ์ไหนอายุยืนกว่ากันล่ะ ?
เนื่องด้วยอายุขัยของสุนัขแต่ละพันธุ์นั้นต่างกันออกไป สมาคมสัตวแพทย์ของอเมริกาได้มีการกล่าวไว้ว่า “สุนัขพันธุ์เล็กและแมวจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป และสุนัขพันธุ์เล็กจะมีอายุขัยที่ยาวนานกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่” โดยอายุขัยเฉลี่ยของน้องแมวคือ 12-20 ปี ส่วนสุนัขพันธุ์เล็กคือ 15-16 ปี และน้องหมาพันธุ์ใหญ่คือ 12-13 ปี โดยสุนัขแต่ละสายพันธุ์ก็มีอายุขัยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น โรคประจำพันธุ์ เป็นต้น
เวลาที่สัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้นเราจะสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้จากภายนอก เช่น สีขนที่เริ่มขาวขึ้น ฟันที่เริ่มสึก หรือ พฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น สุนัขพันธุ์ชิวาว่า หรือ แมวที่ชอบกระโดดขึ้นโซฟาประจำ พออายุเริ่มมากขึ้น เจ้าของมักจะสังเกตุเห็นว่าน้องไม่ค่อยอยากกระโดดเหมือนเดิม สืบเนื่องจากอาจจะเริ่มมีการพัฒนาของโรคที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้าง อย่างโรคสะบ้าเคลื่อนในชิวาว่า หรือ ข้อเสื่อมในแมว ทำให้เริ่มมีอาการเจ็บขาแล้วไม่อยากทำกิจกรรมเช่นเดิม
ด้วยอายุที่มากขึ้น นั่นก็อาจหมายถึงโรคประจำตัวที่อาจเริ่มแทรกซ้อนเข้ามาด้วย แต่โรคบางอย่างเราไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกในระยะเริ่มต้น เช่น โรคไต หรือ โรคลิ้นหัวใจรั่วระยะเริ่มแรก ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องใช้การวินิจฉัยจากสัตวแพทย์และอาจต้องใช้เครื่องมือในการตรวจเฉพาะทาง เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของลักษณะเม็ดเลือดต่างๆและค่าทางเคมี หรือการนำเครื่องอัลตร้าซาวด์มาใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติในช่องท้อง อย่างพวกเนื้องอกภายในช่องท้อง นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น ลักษณะการทำงานของลิ้นหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในห้องหัวใจ เป็นต้น
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น โรคบางอย่างไม่สามารถบอกได้จากภายนอก การตรวจร่างกายและตรวจแต่ระบบอย่างละเอียดจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยทางสมาคมโรงพยาบาลสัตว์อเมริกาได้มีการจัดทำหนังสือคู่มือการตรวจร่างกายสุนัขและเขียนรายละเอียดไว้ว่า เราควรจะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือดเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่น เพื่อเป็นฐานข้อมูลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง หลังจากนั้นแนะนำให้ตรวจเลือดอย่างน้อยปีละครั้งในสุนัขโตเต็มวัย และ ตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ทุก ๆ 6 เดือน-1ปี ในสุนัขสูงวัย ส่วนการตรวจร่างกายด้วยการใช้เครื่องมือรังสีวินิจฉัย เช่น เอ็กซ์เรย์ แนะนำให้พิจารณากับความเสี่ยงของโรคในแต่ละสายพันธุ์
โรคที่มักพบในสุนัขสูงวัยที่อายุ 10 ปีขึ้นไป
1.โรคปริทันต์ (Periodontal disease) หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายคือโรคที่เกี่ยวกับเหงือกและฟัน เช่น เหงือกอักเสบ จนส่งผลให้กินอาหารลำบากและน้ำหนักตัวลดลง
2.โรคกระดูกและข้อเสื่อม (Osteorthritis) มักจะพบว่าสุนัขไม่ค่อยอยากลุก กระโดด ดูเคลื่อนไหวช้าลง หรือ ร้องเจ็บเวลาเคลื่อนไหว เช่น โรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัขพันธุ์ใหญ่
3.โรคตา (Eye disorders) โดยเฉพาะโรคตาแห้ง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างแผลที่กระจกตาตามมาได้ หรือ โรคต้อชนิดต่างๆ ที่ส่งผลต่อการมองเห็นของสุนัข
4.โรคไต (Chronic Kidney Disease) เป็นโรคที่เจอได้บ่อยเช่นกัน อาการที่พบบ่อยๆคือ ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาเจียน และ ถ่ายเหลว ซึ่งในโรคไตสามารถส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางตามมาได้เช่นกัน
5.โรคระบบสืบพันธุ์-ปัสสาวะ (Genitourinary disease) เช่น โรคต่อมลูกหมากโตในสุนัขเพศผู้ยังไม่ทำหมันส่งผลให้สุนัขขับถ่ายลำบากหรือปวดช่องท้อง และ โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะทำให้มีอาการฉี่ขัด ฉี่เป็นเลือด เป็นต้น
6.โรคต่อมไร้ท่อ (Endocrine disorders) อย่างโรคฮอร์โมนที่เจอได้บ่อยๆ เช่น เบาหวาน (Diabetes Mellitus), คุชชิ่ง (Hyperadrenocorticism) และ ภาวะไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ซึ่งโน้มนำให้เกิดโรคผิวหนัง หรือ อันตรายถึงชีวิตตามมาได้
7.โรคหัวใจ (Heart disease) มีตั้งแต่ลิ้นหัวใจรั่ว การบีบตัวของหัวใจที่ผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจได้โดยการทำ Echocardiogram เพื่อดูลักษณะการทำงานของหัวใจ
8.โรคมะเร็ง (Cancers) ที่สังเกตเห็นชัดสุดคือมะเร็งที่เห็นจากภายนอก เช่น มะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆ หรือ มะเร็งเต้านม (Mammary Gland Tumors)
9.สมองเสื่อม (Canine Cognitive Dysfunction) เช่น สุนัขที่ชอบหอนตอนกลางคืน ดูหลงลืม เหม่อลอย เป็นต้น
โรคที่พบได้ในแมวอายุ 7 ปีขึ้นไป
1.โรคไต (Chronic Kidney Disease) ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตอันดับต้นๆของแมว แมวที่เริ่มมีความเสื่อมของไตระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ โดยเจ้าของมักสังเกตุเห็นอาการตอนไตเริ่มจะเสียหายมากแล้ว อาการที่มักพบคือ ซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อฝ่อลีบ หรือ มีกลิ่นปาก
2.โรคหัวใจ (Heart disease) โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy) ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย โดยโรคหัวใจอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้
3.โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) มักจะเจอในแมวที่มีน้ำหนักตัวมาก บางตัวอาจมาร่วมกับโรคตับอ่อนอักเสบด้วย
4.โรคข้ออักเสบหรือข้อเสื่อมในแมว (Osteorthritis) อาจเห็นแมวไม่ค่อย active, ไม่ค่อยอยากกระโดดขึ้นที่สูง หรือ มีท่าเดินที่ดูผิดปกติไปจากเดิมอย่างบางตัวชอบเดินหมอบๆได้
5.ภาวะไทรอยด์สูง (Hyperthyroidism) ซึ่งอาจสังเกตได้จากการที่กินอาหารเยอะ แต่น้ำหนักตัวลดลง หรือ ดูขนหยาบขึ้น
6.โรคปริทันต์ (Periodontal disease) เหงือกอักเสบ ส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลง น้ำหนักตัวลด หรือ มีหินปูนเยอะแล้วโน้มนำให้เกิดการติดเชื้อตามมา
7.โรคมะเร็ง (Cancers) ที่เจอได้บ่อยก็เช่น มะเร็งเต้านมในแมวเพศเมียที่ยังไม่ได้ทำหมัน เป็นต้น
ไม่ใช่แค่เพียงสุนัขและแมวสูงวัยที่ควรตรวจสุขภาพ สุนัขและแมวเด็กก็ควรตรวจสุขภาพเช่นกัน เพราะโรคบางอย่างสามารถพบเจอได้ในทุกช่วงอายุ และ อันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา เช่น โรคพยาธิเม็ดเลือดแฝง ที่เจอได้บ่อยในบ้านเรา โดยมีสาเหตุมาจากการที่สุนัขและแมวโดนเห็บ หมัด ที่มีเชื้อพยาธิเม็ดเลือดกัด โดยในระยะแรกเริ่มอาจไม่แสดงอาการ จนไปถึงระยะที่แสดงอาการโดยจะเห็นว่าสัตว์เลี้ยงเริ่มมีอาการซึม เบื่ออาหาร เป็นไข้ หรือ ถ้าเป็นมานานจนเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจนต้องถ่ายเลือดหรือมีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านจะอยู่ในช่วงอายุใด เจ้าของควรพาน้อง ๆ ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งพร้อมทำวัคซีนประจำปี ถ่ายพยาธิอย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี และใช้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจทุกเดือน สัตวแพทย์จะช่วยประเมินสุขภาพสัตว์เลี้ยงของท่านในแต่ละช่วงอายุ พร้อมแนะนำโภชนาการอาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โรคบางอย่างยิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไร ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เร็ว ทำให้คุณภาพชีวิตของน้อง ๆ ดีขึ้น และอยู่กับท่านได้ยาวนานขึ้น
บทความโดย
สพ.ญ.ภูมิพัฒน์ ธนารัตนาพิสิฐ Dr.Bhumiphat Tanarattanapisith, D.V.M.
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์ Parichart Suwinthawong Animal Hospital.
อ้างอิง : ucdavis.edu , avma.org, akc.org, aaha.org, petmd.com, greatrescue.org