ภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากกว่าปกติ หรือกลุ่มอาการคุชชิ่ง

ในการทำงานทางคลินิก เราพบว่า “ภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากกว่าปกติ” (Hyperadrenocorticism; ย่อว่า HAC) หรือ “กลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome)” เป็นหนึ่งในโรคของต่อมไร้ท่อที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในสุนัข

แต่ก่อนที่จะไปรู้จัก ภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากกว่าปกติ หรือกลุ่มอาการคุชชิ่ง กันให้ลึกซึ้งมากขึ้นนั้น เรามาทำความรู้จักกับต่อมหมวกไตของสุนัขกันเสียก่อนดีกว่าครับ ว่ามีตำแหน่งอยู่ที่ใด และมีหน้าที่การทำงานอย่างไรบ้าง

ต่อมหมวกไตหรือ adrenal gland เป็นต่อมไร้ท่อ (endocrine gland) ที่มีตำแหน่งอยู่ในช่องท้องบริเวณเหนือไตทั้งสองข้าง ต่อมหมวกไตมีโครงสร้างสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ก็คือ ต่อมหมวกไตชั้นนอก (adrenal cortex) และต่อมหมวกไตชั้นใน (adrenal medulla) ซึ่งแต่ละชั้นจะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญหลายชนิดให้กับร่างกาย ฮอร์โมนที่สำคัญมากชนิดหนึ่งที่สร้างมาจากต่อมหมวกไตชั้นนอก คือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งทำหน้าที่หลักในการควบคุมสมดุลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเผาผลาญ (metabolism) ในร่างกาย ซึ่งการเผาผลาญที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลการทำงานของฮอร์โมนคอร์ติซอลนี้ จะเป็นกระบวนการที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่ร่างกายใช้ในการรับมือกับความเครียด (stress) ในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่มีอิทธิพลเหนี่ยวนำจากสภาพแวดล้อม ความเครียดจากการอยู่รวมฝูง หรือแม้แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นจากอาการป่วยต่าง ๆ ในร่างกาย ฯลฯ

ขบวนการเกิดโรคและอาการ

“กลุ่มอาการคุชชิ่ง” เป็นภาวะความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ (หรือเรียกให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ก็คือความผิดปกติของฮอร์โมนนั่นเองครับ) อันเกิดจากการที่ต่อมหมวกไตชั้นนอกมีการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลมากกว่าปกติ ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการควบคุมกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ดังนั้น เมื่อมีการสร้างฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินกว่าปกติ ก็จะส่งผลทำให้กระบวนการเผาผลาญในร่างกายมีความผิดปกติไป

การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญที่ชัดเจนเมื่อมีการสร้างคอร์ติซอลมากเกินกว่าปกติในร่างกาย ก็คือ มีการสลายกล้ามเนื้อและเนื่อเยื่อไขมันมากขึ้น เพื่อนำชิ้นส่วนเล็ก ๆ ระดับโมเลกุลของโปรตีนจากกล้ามเนื้อและไขมันจากเนื้อเยื่อไขมันเหล่านั้น ไปใช้ในการสร้างน้ำตาลให้ร่างกายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้สุนัขที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการคุชชิ่ง มีมวลกล้ามเนื้อที่ฝ่อลีบเล็กลง มีไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) ร่วมกับมีการกระจายตัวของไขมันแบบผิดปกติหรือไขมันย้ายที่ผิดปกติภายในร่างกาย (lipodystrophy หรือ fat redistribution) กับทั้งยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดสูง (hyperglycemia) ได้อีกด้วย ซึ่งผลจากการมีมวลกล้ามเนื้อที่ฝ่อลีบเล็กลง ร่วมกับการที่มีลักษณะไขมันย้ายที่ผิดปกติในร่างกาย ก็จะส่งผลให้สุนัขที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการคุชชิ่ง มีลักษณะรูปร่างภายนอกที่เปลี่ยนไปอย่างเด่นชัด ก็คือ มักจะดูพุงป่องกางห้อย (pot-bellied appearance) แต่มีกล้ามเนื้อน้อยลง  รวมทั้งผนังหน้าท้องก็จะบางลงจนสามารถมองเห็นเส้นเลือดได้ง่าย เนื่องมาจากการบางลงของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง (นึกถึงกล้ามเนื้อตรงตำแหน่งที่เป็น six pack ในคนนั่นเองครับ) และการบางลงของชั้นไขมันใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง การตรวจร่างกายด้วยการคลำพุง ก็อาจพบภาวะตับโตได้ด้วย และผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาจากการที่มวลกล้ามเนื้อน้อยลงก็คือ สุนัขมักจะมีอาการอ่อนแรง บางรายจะพบว่ามีความผิดปกติในการปีนขึ้นลงบันไดหรือการกระโดดขึ้นที่สูง อันเนื่องมาจากกล้ามเนื้ออ่อนแอลงนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงทางร่ายกายที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของสุนัขที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการคุชชิ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเส้นขน ซึ่งก็จะพบว่า สุนัขกลุ่มนี้จะมีผิวหนังที่บางลงและขาดความยืดหยุ่น มีปัญหาขนร่วง (hair loss) เส้นขนมีขนาดเล็กและบางลง รวมทั้งดูหยาบและขาดความเงางาม ในบางรายอาจพบการสะสมของแคลเซียมที่ผิวหนังแบบผิดปกติ (calcinosis cutis) อีกด้วย

อาการทางคลินิกอย่างอื่นที่พบได้บ่อยและเด่นชัด ก็ได้แก่ อาการปัสสาวะบ่อย และดื่มน้ำบ่อยกว่าปกติ และมีอาการอยากกินมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ซึ่งเป็นผลจากระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงขึ้น นั่นเอง ส่วนผลการตรวจเลือด มักจะพบความผิดปกติของไขมันในเลือด รวมทั้งค่าเอนไซม์ตับและทางไหลเวียนน้ำดีที่สูงกว่าปกติ บางรายอาจพบภาวะนัำตาลในกระแสเลือดสูงหรือภาวะเบาหวานเกิดร่วมด้วย ส่วนอาการหอบ หรือภาวะความดันโลหิตสูง ก็เป็นอาการที่อาจพบร่วมได้ในสุนัขบางราย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยแยกจากสาเหตุอื่น ๆ เสมอ

สาเหตุการเกิดโรค

1. ปัญหาที่ต่อมใต้สมอง เกิดจากการที่ต่อมหมวกไตได้รับสัญญาณกระตุ้นที่มากกว่าปกติมาจากต่อมใต้สมองทำให้ต่อมหมวกไตชั้นนอกมีการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลมากกว่าปกติ (ซึ่งจะเรียกว่า pituitary dependent hyperadrenocorticism หรือ PDH)
2. การมีเนื้องอกของต่อมหมวกไตชั้นนอก (adrecorticol tumor) ในส่วนของเนื้อเยื่อที่มีการสร้างคอร์ติซอล จึงทำให้มีการสร้างคอร์ติซอลออกมากกว่าปกติ (ซึ่งจะเรียกว่า adrenal dependent hyperadrenocorticism หรือ ADH)
3. การได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (steroids) มากเกินไป

ปัญหา pituitary dependent hyperadrenocorticism นั้น ถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกลุ่มอาการคุชชิ่งในสุนัข (คิดเป็น 85-90% ของสุนัขทั้งหมดที่มีอาการคุชชิ่ง; ส่วนอีกราว 10-15% เป็นผลมาจากการมีเนื้องอกของต่อมหมวกไตเอง) ซึ่งเป็นผลจากการที่ต่อมใต้สมองมีการสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อย่อ ACTH ออกมามากกว่าปกติ ซึ่งเจ้า ACTH นี้จะมีหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมหมวกไตชั้นนอกผลิตคอร์ติซอลมากขึ้นผิดปกติตามมา ซึ่งมักพบว่า สาเหตุที่ทำให้ต่อมใต้สมองมีการสร้าง ACTH มากขึ้นนี้ มักเป็นผลจากการมีเนื้องอกของต่อมใต้สมองในส่วนของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่สร้าง ACTH (pituitary corticotroph adenomas หรือ functional ACTH-secreting pituitary adenomas) ซึ่งมีอัตราการพบโรคในสุนัขได้ได้อยู่ราว ๆ 0.2%

การวินิจฉัย สุนัขที่มี “กลุ่มอาการคุชชิ่ง” มีแนวทางโดยสังเขป ดังนี้

• การตรวจคัดกรองเบื้องต้น : การตรวจคัดกรองเบื้องต้น จะอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏบัติการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (complete blood count) การตรวจประเมินค่าเอนไซม์ตับ ค่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนน้ำดี รวมทั้งการตรวจไขมันในเลือด นอกจากนี้ อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อประเมินหาภาวะอาการป่วยอื่นที่อาจมีผลให้เกิดความเครียดอย่างเรื้อรังได้ เช่น การตรวจการทำงานของไต การตรวจปัสสาวะ ฯลฯ
• ประวัติการกินยาหรือการได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (steroids) ในรูปแบบต่างๆ : จริงๆ แล้วหัวข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของการซักประวัตินั่นเอง แต่ขออนุญาตแยกเขียนออกมาต่างหากอีกสักหน่อย เพื่อเน้นย้ำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นความสำคัญและจะได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้กับคุณหมอหากจำเป็นต้องพาสุนัขของท่านไปรับการตรวจประเมินกลุ่มอาการคุชชิ่ง นั่นก็คือว่า หากสุนัขของท่านได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (เช่น เพรดนิโซโลน เพรดนิโซน เดกซาเมธาโซน เบตาเมธาโซน ฯลฯ) เป็นระยะเวลานาน ไม่ว่ายาจะอยู่ในรูปกิน รูปทา ก็อาจจะมีผลทำให้สุนัขมีอาการและมีผลการตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่คล้ายคลึงกับสุนัขที่มีกลุ่มอาการคุชชิ่งได้ ทั้งนี้เนื่องจากว่ายาในกลุ่มสเตียรอยด์ที่ได้รับอย่างยาวนานนี้ จะไปออกฤทธิต่อร่างกายในลักษณะใกล้เคียงกับคอร์ติซอลภายในร่างกายนั่นเอง ซึ่งหากคุณหมอไม่ทราบประวัติตรงนี้ ก็อาจจะทำให้วินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อแผนการรักษาและผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาตามมาด้วย ดังนั้น หากสุนัขของท่านมีประวัติการได้รับยาในกลุ่มนี้ ก็ควรมีการจดบันทึกช่วงเวลาที่ได้รับยาเอาไว้ และควรแจ้งให้คุณหมอทราบด้วยครับ
• การตรวจโดยใช้เทคนิคทางภาพวินิจฉัย (diagnostic imaging) : ในปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือช่วยวินิจฉัยให้เลือกใช้มากมาย แต่วิธีหนึ่งที่สัตวแพทย์บ้านเรามักจะเลือกใช้ ก็คือ การทำการอัลตราซาวด์ช่องท้อง (abdominal ultrasound) ซึ่งเป้าหมายหลักๆ ก็คือ การทำอัลตราซาวด์เพื่อดูรูปร่าง ลักษณะ และขนาดของต่อมหมวกไต ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในสุนัขที่เกิดกลุ่มอาการคุชชิ่งเนื่องจากปัญหา pituitary dependent hyperadrenocorticism มักพบว่าต่อมหมวกไตจะใหญ่ขึ้นทั้งสองข้าง ในขณะที่ถ้าเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากเนื้องอกของต่อมหมวกไตหรือ adrenal tumor มักพบต่อมหมวกไตที่โตขึ้นเพียงข้างเดียว และมักเป็นการโตขึ้นแบบมีรูปร่างที่ผิดปกติอย่างเด่นชัด ในขณะที่ต่อมหมวกไตอีกข้างมักจะยังมีรูปร่างและขนาดปกติ หรือาจจะฝ่อเล็กลงกว่าปกติก็ได้ อย่างไรก็ดี ก็อาจพบว่าในบางราย อาจพบเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไตพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้ แต่โอกาสการพบมีได้ไม่บ่อยนัก และนอกจากการดูขนาดรูปร่างของต่อมหมวกไตแล้ว ในรายที่สงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไต ยังมีข้อแนะนำให้ประเมินด้วยว่าก้อนเนื้องอกมีการกดเบียด ยึดเกาะ หรือแทรกตัวเข้าสู่เส้นเลือดดำใหญ่ในช่องท้องด้วยหรือไม่ ฯลฯ และนอกจากการดูต่อมหมวกไตแล้ว การทำอัลตราซาวด์ช่องท้องก็จะช่วยให้ข้อมูลของอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง ที่อาจมีความผิดปกติร่วมด้วยได้ และนอกเหนือจากการทำอัลตราซาวด์แล้ว ในบางราย คุณหมออาจจะแนะนำวิธีการวินิจฉัยด้วยภาพชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การทำ CT scan ฯลฯ ซึ่งก็จำเป็นต้องพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป
• การตรวจการทำงานของต่อมหมวกไตโดยการตรวจระดับคอร์ติซอลภายหลังทำการทดสอบด้วยวิธีการเฉพาะทางฮอร์โมน : วิธีการนี้ค่อนข้างจะมีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณหมอในการวางแผนการรักษาและการติดตามอาการของสุนัข นอกจากนี้ บางการทดสอบยังสามารถช่วยแยกได้ด้วยว่า กลุ่มอาการคุชชิ่งที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นผลเหนี่ยวนำมาจากปัญหา pituitary dependent hyperadrenocorticism หรือเป็นผลตามมาจากการมีเนื้องอกของต่อมหมวกไตเอง ซึ่งแต่ละวิธีการทดสอบ จะมีข้อดี-ข้อเสีย ระยะเวลาในการทำการทดสอบ ค่าใช้จ่าย รวมทั้งความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ของการทดสอบที่แตกต่างกันไป ซึ่งคุณหมอผู้ตรวจจะเป็นผู้พิจารณาเลือกทดสอบตามความเหมาะสมกับอาการหรือความน่าจะเป็นของสุนัขป่วยแต่ละรายต่อไป โดยในปัจจุบัน การทดสอบหลักๆ ในสุนัขจะประกอบด้วยการตรวจการตอบสนองของต่อมหมวกไตต่อการได้รับฮอร์โมน ACTH สังเคราะห์ (synthetic ACTH) การทดสอบการยับยั้งการทำงานของของต่อมหมวกไตภายหลังได้รับยาเดกซาเมธาโซนในขนาดต่ำ (low dose dexamethasone suppression test; LDDST) และการทดสอบการยับยั้งการทำงานของของต่อมหมวกไตภายหลังได้รับยาเดกซาเมธาโซนในขนาดสูง (high dose dexamethasone suppression test; HDDST)

เนื่องจากการตรวจการตอบสนองของต่อมหมวกไตฯ โดยการทดสอบต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นการวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย ดังนั้น ในกรณีที่สุนัขรายนั้นมีอาการป่วยเรื้อรัง คุณหมอก็มักจะแนะนำให้มีการรักษาโรคนั้นๆ ให้หาย หรือมีอาการคงที่เสียก่อน เพื่อให้สุนัขมีความเครียดจากอาการป่วยน้อยที่สุดแล้วจึงเริ่มทำการทดสอบ เพื่อหลีกเลี่ยงผลบวกเทียม (false positive) จากการที่ร่างการมีการหลั่งคอร์ติซอลมากขึ้นจากการมีความเครียด ส่วนในรายที่ได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์มาอย่างยาวนานนั้น คุณหมอก็อาจจะพิจารณาเริ่มทำการตรวจเมื่อได้ทำการหยุดยาไปแล้วระยะหนึ่ง

ในกรณีที่บังเอิญได้ผลการทดสอบออกมาแบบก้ำกึ่งหรือสรุปได้ไม่แน่ชัด คุณหมออาจจะพิจารณาทำการทดสอบอื่นเพิ่มเติม หรืออาจนัดทำการทดสอบด้วยวิธีการเดิมซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาโดยคุณหมอแต่ละท่าน แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ผลการทดสอบที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือมากที่สุดนั่นเองครับ

แนวทางการรักษา

การรักษาทางอายุรกรรม จะใช้ยาที่ช่วยลดการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งยามีอยู่หลายชนิด บางชนิดมีผลทำลายเนื่อเยื่อของต่อมหมวกไตชั้นนอกส่งผลให้ต่อมหมวกไตชั้นนอกไม่สามารถสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ ส่วนยาบางชนิดไม่มีผลทำลายเนื้อเยื่อของต่อมหมวกไตแต่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ยาแบบที่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ฯ มากกว่า เนื่องจากมีความสะดวกในการบริหารยาในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยาไปแล้ว ซึ่งโดยปกติเมื่อมีการให้ยาดังกล่าว คุณหมอจะวางแผนนัดหมายเพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับยา ซึ่งมักเป็นผลจากการที่เกิดการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลมากจนเกินไป จนทำให้ร่างกายเกิดการขาดคอร์ติซอล และเกิดความผิดปกติตามมา โดยอาการที่มักจะพบ ได้แก่ อาการซึม อ่อนแรง อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร บางรายอาจเกิดภาวะเกลือแร่เสียสมดุล และอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมาได้ ดังนั้น หากสุนัขของท่านได้รับยาชนิดดังกล่าว ก็ควรหมั่นสังเกตอาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และหากพบอาการผิดปกติดังกล่าวก็ควรรีบแจ้งให้คุณหมอทราบโดยเร็วครับ

ภายหลังได้รับยา หากพบว่าไม่มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น คุณหมอก็จะให้สุนัขรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แล้วนัดประเมินการตอบสนองต่อยาเป็นระยะ และอาจมีการบริหารยาโดยการปรับเพิ่ม – ลด ตามความเหมาะสม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายหลังจากได้รับยานั้น โดยทั่วไปหากยาอยู่ในระดับที่เหมาะสม มักพบว่าอาการปัสสาวะบ่อย และดื่มน้ำบ่อยจะลดลง รวมทั้งระดับไขมันในกระแสเลือดมักจะดีขึ้นเป็นลำดับแรกๆ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง ผิวหนัง และเส้นขน อาจจะใช้เวลานานกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับระดับควานรุนแรงของปัญหา และการมีโรคหรือความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งในบางครั้ง การมีโรคหรือความผิดปกติอื่นที่เกิดร่วม อาจเป็นอุปสรรคต่อแผนการรักษา หรืออาจทำให้การตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งก็อาจจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นได้ช้ากว่าที่ควร

ส่วนการรักษาทางศัลยกรรม จะเป็นการผ่าตัดเอาต่อมหมวกไตออก ซึ่งในรายที่เป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไตนั้น นอกจากการผ่าตัดต่อมหมวกไตออกจะช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายแล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากการมีเนื้องอก เช่น การกดเบียดหลอดเลือดดำใหญ่ การแพร่กระจายของเนื้องอก ฯลฯ อีกด้วย อย่างไรก็ดี หากต้องมีการผ่าตัด คุณหมออาจต้องมีแผนการในการเตรียมตัวสุนัขเพื่อให้พร้อมต่อการผ่าตัด โดยบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อลดระดับคอร์ติซอลภายในร่างกายให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะเสียก่อนจึงค่อยดำเนินการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะเกิดปัญหาจากการผ่าตัดลงให้มากที่สุด และนอกจากนี้ การพิจารณาจากความเสี่ยงทางด้านอายุ และการมีโรคบางอย่าง ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการวางยาผ่าตัดได้ เช่น สุนัขที่มีภาวะโรคไต หรือโรคหัวใจร่วมด้วย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คุณหมอผู้ทำการตรวจรักษาจะดำเนินการประเมินความเสี่ยงทุกอย่างอย่างรอบคอบก่อนเสมอครับ

ในรายที่มีการผ่าตัดต่อมหมวกไตออก อาจพบว่าเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตชั้นนอกตามมาได้ (ทั้งนี้เนื่องจากต่อมหมวกไตชั้นนอกมีการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ คุณหมอจึงจำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างต่อเนื่องภายหลังการผ่าตัด และหากพบปัญหาดังกล่าว อาจต้องปรับแผนการรักษาโดยการเสริมฮอร์โมนบางชนิดให้กับสุนัขรายนั้นๆ ซึ่งการเสริมอาจเป็นเพียงชั่วคราว หรืออาจจะจำเป็นต้องเสริมให้ในระยะยาวก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสุนัขป่วยแต่ละราย

การพยากรณ์โรค

การพยากรณ์โรคสำหรับสุนัขที่มีกลุ่มอาการคุชชิ่งแต่ละรายอาจจะมีความแตกต่างกันไป ตามแต่สาเหตุตั้งต้น (เช่น การมีเนื้องอกของต่อมหมวกไตหรือไม่ ฯลฯ) ช่วงวัย และความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งการตอบสนองต่อการรักษา และการมีภาวะความผิดปกติหรือโรคภัยไขเจ็บอื่นร่วมด้วย อย่างไรก็ดี พบว่าการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้สุนัขป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาการผิดปกติทางคลินิกลดลง และลดโอกาสของการเกิดภาวะข้างเคียงต่างๆ ลงได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เลี้ยงสุนัขเป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยให้การดำเนินการตามแผนการรักษาเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

“กลุ่มอาการคุชชิ่ง” เป็นอาการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อที่ส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญภายในร่างกาย การวินิจฉัยจำเป็นต้องใช้ข้อมูลหลายส่วนมาประกอบกัน การรักษาไม่ว่าจะเป็นตามแนวทางอายุรกรรมหรือศัลยกรรมล้วนมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดระดับคอร์ติซอลภายในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อาการหลักที่มักพบในสุนัขที่มีปัญญาคุชชิ่งก็คือ อาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อยกว่าปกติ และมีอาการอยากกินมากขึ้น ร่วมกับมีลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้น หากเจ้าของสุนัขท่านใดพบว่าสุนัขของท่านมีอาการหรือลักษณะที่น่าสงสัย ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมต่อไปครับ

บทความโดย

อ.น.สพ. เสลภูมิ ไพเราะ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Selapoom Pairor DVM, MS, DTBVIM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่