การศึกษาประชากรแมวป่าในสกอตแลนด์ พบว่า จำนวนประชากรกำลังลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการเข้ามาผสมกับ แมวบ้าน และน่าสนใจว่า แมวป่าสกอตแลนด์เข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้กับแมวบ้านเป็นเวลาเกือบ 2,000 ปี แต่เริ่มผสมพันธุ์กันเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา
แมวป่ายุโรป เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่พบตามธรรมชาติได้ยากที่สุด เนื่องจากในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา พวกเขามีจำนวนประชากรตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสูญพันธุ์ไปจากอังกฤษและเวลส์ ด้วยการแทนที่ของประชากรลูกผสมของ แมวบ้าน และปัจจุบัน แมวป่ายุโรปพบได้เฉพาะที่ราบสูงสกอตแลนด์เท่านั้น
สาเหตุคุกคามจำนวนประชากรแมวป่ายุโรป เกิดจากพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติลดลง และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การผสมข้ามสายพันธุ์กับแมวบ้าน ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นภัยคุกคามแมวป่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในสกอตแลนด์
การผสมข้ามสายพันธุ์ทำให้พันธุกรรมดั้งเดิมของสายพันธุ์ค่อย ๆ ลดลง กรณีของแมวป่ายุโรปที่ข้ามมาผสมพพันธุ์กับแมวบ้าน ส่งผลให้ยีนของแมวบ้านถ่ายเทปะปนเข้าไปในประชากรแมวป่า จนในที่สุด ไม่เหลือยีนแมวป่าที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม
ประวัติศาสตร์แมวป่าและแมวบ้านในยุโรป
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่พบว่า แมวบ้านในยุโรปสืบเชื้อสายจากแมวป่าตะวันออก ที่เริ่มเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในทุ่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์แถบตะวันออกกลาง และเข้ามาในดินแดนอังกฤษ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยเดิมของแมวป่ายุโรป ในช่วงประมาณ 2,200 ปี ที่ผ่านมา
ส่วนแมวป่ายุโรปในสกอตแลนด์เป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง หรือประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว การศึกษาทางพันธุกรรมพบว่า พวกเขาเป็นประชากรที่อยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอังกฤษ และอาศัยอยู่ในแถบนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยทั้งแมวป่าและแมวบ้าน แทบไม่เคยผสมข้ามพันธุ์กันเลย จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
การวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Current Biology รายงานว่า ปัจจุบัน การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างแมวป่าและแมวบ้านกำลังผลักให้แมวป่าในสกอตแลนด์เข้าใกล้การสูญพันธุ์ เนื่องจาก “การถ่ายเทยีน” ของประชากรลูกผสมจากแมวบ้านไปสู่แมวป่า
ทีมนักวิจัยคาดการณ์ผลกระทบไปในหลายทิศทาง “เราอาจได้เห็นลูกแมวบ้านที่มีนิสัยดุร้าย หรืออาจเห็นแมวลูกผสมที่ปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศเดิมตามธรรมชาติไม่ได้” โจ ฮาเวิร์ด-แม็กคอมบ์ มหาวิทยาลัยบริสโทล และนักวิจัยในสมาคมสัตววิทยาแห่งสกอตแลนด์ กล่าวและเสริมว่า “วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์คือ เราต้องเข้าใจว่า กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อหาวิธีป้องกันในอนาคต”
ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มต้นตรวจสอบจุดเริ่มต้นกระบวนการผสมข้ามสายพันธุ์ โดยทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ลำดับจีโนมของแมวป่า แมวบ้าน และแมวลูกผสม และตัวอย่างแมวโบราณอีก 258 ตัวอย่าง ที่ขุดพบจากแหล่งโบราณคดี 85 แห่ง โดยมีอายุครอบคลุมช่วง 8,500 ปีที่ผ่านมา
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในอดีต แมวป่าและแมวบ้านไม่เคยผสมข้ามสายพันธุ์เลย จนกระทั่งเมื่อปลายทศวรรษที่ 1950 จึงเริ่มพบว่า อัตราการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างแมวป่ากับแมวบ้านสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดจากจำนวนประชากรแมวป่าตามธรรมชาติลดลง
“เมื่อประชากรแมวป่าลดลงจำนวนมาก ประชากรที่เหลือก็จำเป็นต้องพยายามประสบความสำเร็จในเรื่องการสืบพันธุ์ ดังนั้น พวกเขาจึงมองหาสายพันธุ์ใกล้เคียงที่สามารถผสมพันธุ์ได้ และนั่นคือแมวบ้าน” เกรเกอร์ ลาร์สัน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หนึ่งในผู้ร่วมทำวิจัยครั้งนี้ กล่าว
ผลกระทบจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง
ผลที่ตามมาในระยะสั้น การผสมข้ามสายพันธุ์อาจส่งผลดีต่อลูกแมวป่าพันธุ์ผสมรุ่นใหม่ ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแมวบ้าน “ภูมิคุ้มกันโรคระบาดในแมวบ้าน จะถูกถ่ายทอดผ่านยีนไปสู่แมวป่า ซึ่งช่วยให้แมวป่าต้านทานโรคแมวบ้านได้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็แสดงอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง เมื่อติดโรคจากแมวบ้าน” ลาร์สันกล่าว
“อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การผสมข้ามสายพันธุ์อาจทำให้ยีนดั้งเดิมของแมวป่ายุโรปหายไปจาสกอตแลนด์ รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย ปัจจุบัน เรายังเชื่อว่าแมวป่าที่หลงเหลืออยู่ตามธรรมชาติในสกอตแลนด์ และแมวป่าที่อยู่ในกรงเลี้ยง ยังไม่มียีนของแมวบ้านเข้าไปปะปนมาก ซึ่งโครงการอนุรักษ์แมวป่าของสมาคมสัตววิทยาสกอตแลนด์กำลังฟื้นฟูประชากรแมวป่าสายเลือดบริสุทธิ์ และคาดว่า โครงการนี้จะช่วยคงสายพันธุ์ดั้งเดิมของแมวป่าในสกอตแลนด์ไว้ได้” ลาร์สันกล่าวเสริม
การดำเนินโครงการนี้ได้ดำเนินมาจนถึงจุดที่สามารถปล่อย แมวป่าที่เป็นสายเลือดบริสุทธิ์จำนวน 19 ตัว กลับคืนสู่ป่าในสกอตแลนด์ได้แล้ว และในอนาคต หากมีจำนวนประชากร และพื้นที่อาศัยมากเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และสืบพันธุ์ ทีมนักวิทยาศาสตร์หวังว่า แมวป่าเหล่านั้นจะไม่กลับออกมาผสมพันธุ์กับแมวบ้านอีก
งานวิจัยฉบับสมบูรณ์ https://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(23)01073-4
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงแมวในบ้านหรือระบบปิด