สุนัขพันธุ์อาคิตะ เข้ามาสู่ดินแดนญี่ปุ่นในฐานะสุนัขตระกูลสปิตซ์ที่เก่าแก่ ซึ่งในขณะนั้น เป็นตระกูลสายพันธุ์ของสายพันธุ์ที่เดินท่องไปตามละติจูดทางเหนือของโลก
ประวัติ สุนัขพันธุ์อาคิตะ
อาคิตะ คือชื่อของจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่ให้กำเนิดสุนัขสายพันธุ์นี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 โดยมีเรื่องเล่าว่า จักพรรดิญี่ปุ่นได้ส่งขุนนางผู้มีนิสัยเอาแต่ใจ ไปทำหน้าที่ปกครองจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู
ด้วยนิสัยที่รักสุนัขของขุนนางผู้นี้ โดยเฉพาะสายพันธุ์ขนาดใหญ่ที่มีนิสัยกระตือรือร้น เขาจึงสนับสนุนให้ประชาชนประกวดประชันกันในการผสมพันธุ์สุนัขนักล่าขนาดใหญ่ ที่สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย
กิจกรรมที่จัดขึ้นทำให้เกิดการคัดเลือกสายพันธุ์สุนัขจากรุ่นสู่รุ่น จนได้สุนัจอาคิตะ นักล่าที่ทรงพลังผู้มีความซื่อสัตย์ในการทำงาน และมีร่างกายรวมถึงหัวใจที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงยังสามารถทำงานเป็นฝูงได้ดีในการล่าสัตว์ป่า
ในช่วงแรก สุนัขอาคิตะได้รับอนุญาตให้ครอบครองได้เฉพาะสมาชิกราชวงศ์ และเลี้ยงไว้ในราชสำนักเท่านั้น หลังจากนั้นจึงได้แพร่พันธุ์ไปสู่สังคมชั้นสูงในยุคนั้น โดยเชื่อว่า อาคิตะคือสัตว์เลี้ยงที่เป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์ประจำตระกูล
อาคิตะเป็นสุนัขที่ปรากฏอยู่ในตำนานของญี่ปุ่นมาหลายศตวรรษ และยังยึดโยงถึงวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นด้วย หากบ้านหลังใดที่เพิ่งให้กำเนิดทารก พ่อแม่จะหาตุ๊กตาสุนัขอาคิตะมาไว้ในบ้าน เพื่อสื่อถึงความสุข และอายุยืนยาว
การเดินทางผ่านช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น อาคิตะเกือบจะสิ้นชื่อจากแผ่นดินนี้ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สุนัขที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นจะอยู่รอดต่อไป จึงเกิดการตั้งสโมสรสายพันธุ์สุนัขประจำชาติขึ้นในปี 1927 จากนั้น สุนัขอาคิตะก็ได้เป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น ในฐานะของขวัญเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2
ลักษณะประจำสายพันธุ์
อาคิตะเป็นสุนัขที่มีร่างกายกำยำล่ำสัน มีขน 2 ชั้น เมื่อโตเต็มวัยสูงประมาณ 24 – 28 นิ้ว ขนแน่นมีหลายสี รวมถึงสีขาว กะโหลกกว้างและใหญ่ ความยาวกับส่วนสูงของลำตัวมีความสมดุล หางโค้งขึ้นด้านบน และปลายหางม้วนหากระดูกสันหลัง ใบหูสามเหลี่ยมตั้งตรงตามแบบฉบับของสปิตซ์ ดวงตามีสีเข้มแวววาวแสดงออกถึงความตื่นตัว
นิสัยโดยทั่วไปของอาคิตะมีความกระตือรือร้น ตื่นตัวอยู่เสมอ มักจะระแวดระวังคนแปลกหน้า และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เมื่อโตเต็มที่ อาคิตะที่โตเต็มที่แล้วจะมีความคิดเป็นของตัวเองค่อนข้างสูง รวมไปถึงมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้อง และซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ รวมถึงอาคิตะตัวอื่น ๆ ในฝูง
โภชนาการ
อาคิตะต้องการอาหารที่มีคุณภาพสูงทุกประเภท โดยมีสัดส่วนของสารอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย ในช่วงหลังจากอายุ 7 ปี สัตวแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่า ให้ปรับอาหารเป็นสูตรสำหรับสุนัขแก่ หรือสูตรพลังงานต่ำ เพื่อป้องกันการเกิดโรคไต
สุนัขอาคิตะเป็นสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มเกิดภาวะน้ำหนักเกินได้ง่าย ดังนั้น เจ้าของจำเป็นจะต้องคำนวนปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละวัน โดยปรึกษาสัตวแพทย์ประจำตัวได้ และสิ่งสำคัญคือ สุนัขอาคิตะมีนิสัยกินเก่ง เจ้าของควรแยกชามอาหารให้ห่างจากสุนัขตัวอื่น เพื่อป้องกันการแย่งอาหาร และนำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกินได้
การดูแลเรื่องความสะอาด
อาคิตะเป็นสุนัขที่ค่อนข้างสะอาด และมี “กลิ่นตัว” เพียงเล็กน้อย เจ้าของจึงไม่จำเป็นต้องดูแลเรื่องการอาบน้ำบ่อยมากนัก แต่ควรแปรงขนอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
สุนัขอาคตะจะผลัดขนประมาณ 2 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านจะเต็มไปขนสุนัขลอยฟูฟ่องไปทั่ว ในช่วงนี้เจ้าของอาจจะต้องแปรงขนบ่อยขึ้น เพื่อกำจัดขนที่หลุดแล้ว ก่อนที่ขนจะลอยไปทั่วบ้าน
สุนัขอาคิตะที่เลี้ยงในบ้านควรได้รับการตัดเล็บเป็นประจำ เนื่องจากเล็บที่ยาวเกินไปอาจทำให้สุนัขรู้สึกเจ็บเท้าได้ และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ และอย่าลืมแปรงฟันให้พวกเขาเป็นประจำ เพื่อสุขภาพช่องปาก และฟันที่ดี
การออกกำลังกาย
โดยทั่วไป อาคิตะต้องการการออกกำลังกายวันละครั้ง โดยการเดินประมาณ 30 นาที พวกเขายังสนุกกับการเล่นกับเจ้าของอย่างกระฉับกระเฉง หากเจ้าของไม่มีเวลาพาออกไปเดิน ก็สามารถเล่นกับพวกเขาในบ้านก็ได้ แม้ว่าต้นกำเนิดของอาคิตะถูกพัฒนามาเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมกลางแจ้งทางตอนเหนือของญี่ปุ่น แต่ปัจจุบัน พวกเขาก็ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่อยู่ในบ้านของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
โรคประจำสายพันธุ์
เช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์ใหญ่หลาย ๆ ตัว อาคิตะมักเกิดอาการท้องอืดได้ง่าย ดังนั้น เจ้าของควรหมั่นสังเกต เรียนรู้ และจดจำ สัญญาณต่าง ๆ ที่สื่อถึงอาการท้องอืดของพวกเขา นอกจากนี้ ยังมีโรคที่เกิดจากพันธุกรรมได้ เช่น ความผิดปกตของดวงตา ไทรอนด์เป็นพิษ และสะโพกเสื่อม ซึ่งสามารถตรวจสอบความผิดปกติเหล่านี้ได้จากพ่อแม่พันธุ์ ก่อนรับลูกสุนัขอาคิตะเข้าบ้าน
สุนัขสายพันธุ์นี้ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของประเทศญี่ปุ่น และยังผูกพันกับผู้คนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นสร้างขึ้น แม้ว่าทุกวันนี้ อาคิตะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการใช้งานตามจุดประสงค์เริ่มแรก แต่พวกเขาก็สามารถปรับตัวได้ดีกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – ชิบะอินุ : ลักษณะสายพันธุ์ และการเลี้ยงดู