มีหลายคนมักจะถามหมอว่า เนื้องอก หรือ มะเร็งสุนัข ที่เราเจอกันเป็นประจำมีชนิดไหนบ้าง สุนัขแต่ละพันธุ์มีแนวโน้มเป็นเนื้องอกชนิดไหนบ้าง ถ้าพบก้อนเนื้อในตำแหน่งต่าง ๆ เราจะคิดถึงโรคอะไรบ้าง แต่ละชนิดที่เจอมีโอกาสรักษาหายมากน้อยแค่ไหน และสามารถใช้วิธีใดในการรักษาได้บ้าง ซึ่งก่อนจะเข้าเรื่อง เรามาเริ่มต้นรู้จักคำจำกัดความกันก่อนครับ
มะเร็ง หรือ มะเร็งสุนัข (cancer หรือ malignant tumor) เป็นคำศัพท์ที่ใช้อธิบายโรคที่เกิดขึ้นจากเนื้องอก (tumor หรือ neoplasm) ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องในร่างกายโดยไม่หยุด ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีแนวโน้มลุกล้ำอวัยวะข้างเคียง แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง
ส่วนเนื้องอกที่ไม่ได้มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น และไม่ได้มีการลุกล้ำไปยังอวัยวะข้างเคียง ภาษาอังกฤษเรียกว่า benign tumor
เนื้องอกธรรมดา vs. มะเร็งสุนัข
ถ้าเราได้มีโอกาสอ่านผลชิ้นเนื้อในรายงานของพยาธิสัตวแพทย์ การอ่านผลชิ้นเนื้อว่าเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็งมีหลักการง่ายดังนี้ครับ
- ถ้าเป็นกลุ่มเนื้องอกทั่วไปไม่มีแนวโน้มการแพร่กระจาย (benign tumor) ชื่อจะลงท้ายว่า oma เช่น lipoma เป็นเนื้องอกไขมันที่ไม่รุนแรง
- ถ้าเป็นกลุ่มมะเร็ง ชื่อจะลงท้ายด้วย carcinoma หรือ sarcoma เช่น liposarcoma จะเป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อไขมัน
แต่ก่อนคุณหมอจะทำการรักษา หรือบอกถึงการพยากรณ์โรคว่ามีโอกาสในการรักษามากน้อยขนาดไหนได้นั้น มักจะต้องมีการตรวจเซลล์หรือชิ้นเนื้อก่อนทุกครั้ง การตรวจเซลล์และชิ้นเนื้อไม่ได้ทำเพียงการตรวจตรงก้อนเนื้อที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งเท่านั้น เรายังต้องตรวจที่ตำแหน่งต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงด้วยทุกครั้ง ซึ่งคุณหมอจะทำร่วมกับการวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น เอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ CT scan หรือ MRI เพื่อหาขอบเขตของมะเร็งว่ามีการกระจายตัวไปอวัยวะข้างเคียงและแบ่งระยะของมะเร็งที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง การวินิจฉัยด้วยภาพทำเพื่อใช้ในวางแผนการผ่าตัดหรือการฉายแสง การตรวจเลือดและปัสสาวะบอกถึงการทำงานต่างๆ ของอวัยวะในร่างกาย
วันนี้คุณหมอจะมาเล่าถึงเนื้องอกและมะเร็งที่พบบ่อยในสุนัขบ้านเราให้ฟังครับ
1.เนื้องอกก้อนไขมัน (Lipoma)
เป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงและพบได้ตามปกติในสุนัข วัยกลางสุนัขจนถึงวัยชรา พบในเพศเมียมากกว่าเพศผู้และพบในสุนัขอ้วนมากกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักตัวปกติ สามารถพบได้ในทุกพันธุ์ มีรายงานว่าพบในพันธุ์ที่อุบัติการของโรคสูง ได้แก่ Labrador Retrievers, Doberman pinschers, miniature schnauzers, Cocker Spaniels dachshunds, Weimaraners ตามปกติจะพบเนื้องอกก้อนไขมันในชั้นใต้ผิวหนังลักษณะเป็นก้อนกลมหรือรีที่นุ่ม โดยส่วนใหญ่จะพบเป็นก้อนเดี่ยวที่ขาและใต้รักแร้ เนื่องจากเนื้องอกชนิดนี้มักจะโตช้ามากและไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่นทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำการผ่าตัดรักษายกเว้นในกรณีที่เนื้องอกเข้าไปอยู่ในบริเวณที่ทำให้สุนัขเดินเหินได้ลำบากเช่น ซอกรักแร้ ขาหนีบ
2.เนื้องอกที่อวัยวะเพศ (Transmissible venereal tumor : TVT)
อีกชื่อคือ venereal granuloma หรือ VG ในเมืองไทยเรียกกันง่ายๆ ว่า ทีวีที หรือ วีจี พบมากในกลุ่มสุนัขจรจัด ซึ่งจะเห็นสุนัขป่วยลักษณ์นี้ได้บ่อยตามเพจระดมทุนต่างๆ เนื้องอกชนิดนี้ติดต่อด้วยการผสมพันธุ์และการเลียบริเวณอวัยวะเพศของสุนัข ลักษณะที่พบคือเนื้องอกสีขาวอมชมพูคล้ายกับดอกกะหล่ำที่บริเวณอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมีย บางครั้งมีเลือดออก การเลียอวัยวะเพศทำให้เกิดการติดเนื้องอกเข้าไปที่บริเวณใบหน้า โพรงจมูก ปาก
การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยง่ายโดยการตรวจเซลล์หรือตรวจชิ้นเนื้อ การรักษาหลักคือใช้วิธีการทำเคมีบำบัดทุกอาทิตย์ต่อเนื่องกัน 6-8 อาทิตย์ ในกรณีที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากอาจจะทำร่วมกับการผ่าตัดด้วยก็ได้ การพยากรณ์โรคดี นั่นคือมีโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาสูงมาก ยกเว้นตัวที่มีการลามไปบริเวณใบหน้า โพรงจมูกและต่อมน้ำเหลือง ซึ่งอาจจะต้องทำการฉายแสงเพื่อทำการรักษา
3.เนื้องอกเต้านม (mammary gland tumor)
ถือว่าเป็นเนื้องอกชนิดที่พบบ่อยมากที่สุดชนิดหนึ่งในประเทศไทยโดยเฉพาะทางเพจโดยระดมทุนเพื่อช่วยเหลือหมาจรจัด 50% ของเนื้องอกชนิดนี้จะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง อีก 50% ที่เหลือจะเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา ในกรณีที่เป็นมะเร็งมักจะมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ปอด ระบบประสาท เป็นต้น เนื้องอกชนิดนี้พบมากในสุนัขเพศเมียที่ยังไม่ได้ทำหมัน การรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้องอก ซึ่งอาจทำร่วมกับเคมีบำบัด หรือฉายแสงได้ การพยากรณ์โรคถือว่าดีมีโอกาสหายโดยเฉพาะเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็ง หรือในกรณีที่ผลเนื้องอกที่ได้เป็นมะเร็งแต่มีขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตร ถ้าสามารถตัดออกได้หมด การพยากรณ์โรคก็ถือว่าดี
เจ้าของสุนัขสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นเนื้องอกชนิดนี้ได้โดยการทำหมันสุนัขเพศเมีย โดยเฉพาะการทำหมันก่อนการเป็นสัตว์หนแรก โอกาสเกิดเนื้องอกชนิดนี้จะมีเพียง 0.5% ถ้าไม่ได้ทำหมันสุนัขก่อนการเป็นสัตว์ครั้งแรก คุณหมอก็ยังแนะนำให้ทำหมันช้าที่สุดคือหลังการเป็นสัตว์ครั้งที่ 2 แต่ก่อนอายุ 2.5 ปี โดยการทำหมัน หลังการเป็นสัตว์ครั้งที่ 2 นั้นมีโอกาสเกิดโรคเพียง 26% เเต่ถ้าทำหมันหลัง 2.5 ปี จะไม่มีผลการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคเลย
4.มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphosarcoma)
(อ่านว่า ลิมโฟซาร์โคมา) หรืออาจเรียกว่า lymphoma (อ่านว่า ลิมโฟมา) เป็นมะเร็งซึ่งมีเซลล์ต้นกำเนิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า lymphocyte พบมากในสุนัขพันธุ์ boxers, Bassett hounds, golden retrievers, Saint Bernards, Scottish Terriers, Airedale Terriers, bulldogs มะเร็งชนิดนี้จะมีการกระจายตัวไปอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง ม้าม ตับ ทางเดินอาหาร ไต ระบบประสาทส่วนกลาง ตา ผิวหนัง ปอดและหัวใจ เป็นต้น อาการหลักที่พบคือต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดทั่วตัว อาการอื่น ๆ ที่พบร่วมขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะใด เช่น อาเจียนท้องเสียในกรณีที่มีการลุกลามไปยังทางเดินอาหาร หรือหอบหายใจ
ในกรณีที่มีการบวมโตของต่อมน้ำเหลืองภายในช่องอก การพยากรณ์โรคถือว่าค่อนข้างดีเนื่องจากตอบสนองต่อวิธีการรักษาด้วยเคมีบำบัดด้วยการใช้ยาผสมผสานหลายชนิดเป็นอย่างดี การทำเคมีบำบัดมีโอกาสที่มะเร็งจะยุบลงเต็มที่ประมาณ 58-90% ของเคสที่พบ ค่ามัธยฐานหรือค่ากลางในการมีชีวิตอยู่หลังจากเริ่มทำการรักษาอยู่ที่ 6-12 เดือน
5.มะเร็งชนิด mast cell หรือ mast cell tumor : MCT
(อ่านว่า แมสท์เซลล์ทุเมอร์ หรือ เอ็มซีที) มะเร็งชนิดนี้เป็นมะเร็งที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิด mast cell ซึ่งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะมีการหลั่งสารฮีสทามีนและเฮปารินออกมา ทำให้ผิวหนังที่ปกคลุมด้านบนของเนื้องอกชนิดนี้มีสีแดงเหมือนกับผิวหนังอักเสบ มักจะขึ้นเป็นก้อนเดี่ยว ติดแน่นกับผิวหนังเนื้อด้านบนสีชมพูหรือแดง อาจจะพบเป็นหลายก้อนก็ได้ ด้านบนจะเป็น ผิวที่มีขนหรือไม่มีก็ได้ เจ้าของมักจะเข้าใจผิดเสมอว่าเป็นแค่ผื่นแดงตามตัวเท่านั้น หรืออาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นผิวหนังอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย มะเร็งชนิดนี้พบบ่อยในพันธุ์ Golden retrievers, labrador retrievers, Boston terriers, boxers, Pugs มักจะเกิดที่บริเวณ สีข้างและรอบก้น 50% บนบริเวณขา 40% และ 10% บนบริเวณใบหน้าและคอ
การรักษาสามารถทำได้โดยการตัดออกเป็นบริเวณกว้าง (คือต้องตัดห่างจากเนื้องอกไม่น้อยกว่า 2-3 เซนติเมตร) หรือใช้ร่วมกับการใช้เคมีบำบัดและฉายแสง การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับว่าพบมะเร็งระยะไหน ในกรณีที่ตัดออกไม่หมด จะมีโอกาสเกิดมะเร็งซ้ำในตำแหน่งนั้นสูงถึง 85%
6.เนื้องอกชนิด melanoma
(อ่านว่า เมลาโนมา) มี 2 ชนิดหลักคือที่เกิดที่ผิวหนังและเกิดภายในช่องปาก ในที่นี้จะพูดถึงมะเร็งที่เกิดขึ้นภายในช่องปากเท่านั้น เมลาโนมาเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในช่องปากของสุนัขสูงอายุ และมักจะเกิดขึ้นกับสุนัขที่มีเหงือกและลิ้นสีดำหรือคล้ำ เช่น Chow Chow เป็นต้น สุนัขพันธุ์ไทยหรือบางแก้วก็สามารถพบได้เช่นกัน มะเร็งชนิดนี้มีโอกาสการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและปอดสูงถึง 80%
สำหรับมะเร็งเมลาโนมาในช่องปากสามารถทำการรักษาได้โดยการผ่าตัด การตัดกรามหรือกระดูกบริเวณใบหน้ามีความจำเป็นเพื่อตัดมะเร็งออกให้หมด เนื่องจากมักจะแพร่กระจายไปยังบริเวณกระดูก การผ่าตัดอาจจะทำร่วมกับการฉายแสงหรือเคมีบำบัด ในกรณีที่สามารถตัดออกได้หมด ค่ามัธยฐานในการรอดชีวิตอยู่ที่ 340 วันและค่าเฉลี่ยในการมีชีวิตรอดอยู่ที่ 567 วัน ในกรณีที่ทำการฉายแสงเพียงอย่างเดียวโอกาสรอดชีวิตจะอยู่ที่ 5-8 เดือน
7.มะเร็งของเซลล์ผนังหลอดเลือด (Hemangiosarcoma)
(อ่านว่า ฮีแมงจิโอซาร์โคมา) โรคนี้เป็นมะเร็งของเซลล์ผนังหลอดเลือด ซึ่งสามารถจะเกิดได้ที่บริเวณม้าม ตับ หัวใจและผิวหนัง สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยในม้ามและตับนั้นมักจะเจอในพันธุ์ German shepherds, Boxers, Great Danes, English Setters, Golden Retrievers, Pointers สุนัขพันธุ์ไทยและพันธุ์บางแก้วก็สามารถพบมะเร็งชนิดนี้ได้ อาการที่มักจะพบได้แก่ เหงือกซีด หัวใจเต้นเร็ว ช่องท้องด้านหน้าขยายขนาด คลำพบของเหลวภายในช่องท้องซึ่งเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งเเตกและเลือดไหลในช่องท้องซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างกระทันหัน
การวินิจฉัยสามารถทำได้ด้วยการเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ช่องท้อง เจาะดูดเอาของเหลวออกมาตรวจ CT-scan และการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเข้าไปตัดก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็งออก การตรวจพบก้อนที่ม้ามซึ่งสงสัยว่าเป็นมะเร็งชนิดนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน คุณหมอจะแนะนำให้ทำการเข้ารับการผ่าตัดทันทีเพราะมีความเสี่ยงที่มะเร็งจะแตกแล้วตกเลือดในช่องท้องจนเสียชีวิตได้ การพยากรณ์โรคของมะเร็งชนิดนี้ไม่ดี ในกรณีที่ทำการผ่าตัดอย่างเดียว โอกาสรอดชีวิตหลังจะผ่าตับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ถึง 3 เดือน และมีเพียง 10% เท่านั้นที่จะอยู่รอดจนถึง 1 ปีหลังจากผ่าตัด ในกรณีที่ทางการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดโอกาสรอดชีวิตหลังผ่าตัดมีสูงถึง 3 ถึง 6เดือน
8.มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ (Transitional cell carcinoma : TCC)
เป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดภายในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนล่างของสุนัขวัยกลางหมาถึงสูงอายุ โรคนี้เชื่อว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ได้แก่ Scottish Terriers, Shetland sheepdogs, Beagles, West Highland White Terriers, Wire Haired Fox Terriers เราก็ยังเจอในสุนัขพันธุ์ไทยและสุนัขพันธุ์บางแก้วด้วย มะเร็งชนิดนี้พบได้ที่กระเพาะปัสสาวะและท่อนำปัสสาวะ สุนัขจะมีอาการฉี่เป็นเลือด ฉี่กระปิดกระปอย เบ่งฉี่ มะเร็งชนิดนี้มีโอกาสที่จะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้สูง
การวินิจฉัยเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวด์หรือเอ็กซเรย์ร่วมกับการใช้สารทึบรังสีหรือทำ CT scan การวินิจฉัยและรักษาขั้นสุดท้ายทำโดยการผ่าตัดและตรวจชิ้นเนื้อ และในหลายเคสจะทำการผ่าตัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดหรือยาแก้ปวดลดอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ร่วมด้วย การพยากรณ์โรคในเคสนี้ไม่ได้แย่ ในกรณีที่ทำการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวมีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 109 วัน การใช้ยายาแก้ปวดลดอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ให้ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 195 วัน และมีค่าเฉลี่ยในการรอดชีวิตอยู่ที่ 250-300 วัน
9.มะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)
เป็นเนื้อร้ายที่พบมากโดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ยักษ์ เช่น Boxer, Doberman pinchers, Golden Retrievers, German shepherd, Great Danes, Great Pyrenees Greyhounds, Irish settlers, Irish wolfhounds, Labrador retrievers, Rottweiler, Saint Bernards Weimeraners มะเร็งชนิดนี้มักจะพบที่กระดูกขาทั้งหน้าและหลังโดยเฉพาะกระดูกที่เป็น long bones หรือกระดูกท่อนยาวเทียบได้กับแขนและขาในคน อาการที่พบคือการบวมบริเวณกระดูกขา ดังนั้นก้อนบวมนี้จะแข็งเหมือนกับกระดูกหรือหิน ไม่ได้เป็นก้อนบวมที่มีความนิ่ม สุนัขจะมีอาการเจ็บขาและกะเพลก มะเร็งชนิดนี้มักจะมีการกระจายตัวไปที่ต่อมน้ำเหลืองและปอด การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการเอกซเรย์ที่บริเวณขา ช่องอกร่วมกับการตรวจเซลล์
การรักษาสามารถใช้หลายวิธีผสมผสานกันโดยวิธีหลักคือการตัดกระดูกที่มีมะเร็งออกไป นั่นก็คือการตัดขานั่นเอง สัตวแพทย์จะทำการตัดขาที่มีมะเร็งออกร่วมกับการใช้เคมีบำบัดหรือการใช้แสงควบคู่ไปด้วยเพื่อลดการแพร่กระจายของมะเร็ง การพยากรณ์โรคไม่ดีเท่าไหร่เนื่องจากแม้ทำการรักษาเต็มที่แล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง
10.มะเร็งของต่อมข้างก้น (Apocrine gland carcinoma)
มะเร็งชนิดนี้ เกิดขึ้นที่บริเวณกล่องข้างก้นในตำแหน่ง 04:00 น. และ 08:00 น. ทำให้เนื้อรอบบริเวณก้นบวมโต สุนัขมักจะเลียหรือแทะที่ก้น คุณหมอจะทำการตรวจโดยการล้วงตรวจผ่านทวารหนัก มะเร็งชนิดนี้สร้างโปรตีนที่มีฤทธิ์เหมือนกับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมาเพื่อทำให้ร่างกายเข้าใจผิดว่าระดับแคลเซี่ยมภายในเลือดต่ำส่งผลให้เกิดการดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกและไต ผลของแคลเซี่ยมที่สูงมากกว่าปกติทำให้เกิดการอาเจียน อ่อนแรง และ ดื่มน้ำเยอะทำให้ปัสสาวะเยอะ ตัวมะเร็งกดที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือไส้ตรงทำให้สุนัขเบ่งถ่าย ท้องผูก การแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงโดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองภายในช่องท้องหน้าช่องเชิงกรานทำให้ อาการเบ่งถ่ายและท้องผูกแย่ลง
การรักษาทำได้โดยการตัดเอามะเร็งออก โดยอาจจะทำร่วมกับการฉายแสงและเคมีบำบัด สุนัขที่ได้รับการผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง และเคมีบำบัดมีอายุเฉลี่ยในการรอดชีวิตอยู่ที่ 2.5 ปี
จากบทความนี้เราจะเห็นว่าเนื้องอกหรือมะเร็งหลายชนิด จะต้องใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด จากในอดีตที่วิธีรักษามะเร็งในสัตว์เลี้ยงจะทำได้ด้วยการผ่าตัดและเคมีบำบัดเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราสามารถทำการรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลสัตว์คณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ซึ่งเป็นที่เดียวในประเทศที่มีเครื่องฉายแสงสำหรับสัตว์
ผ่านไปแล้วครับกับ 10 เนื้องอกหรือมะเร็งที่พบบ่อยในหมาบ้านเรา หมอเชื่อว่าหมอทุกคนต้องการสู้เพื่อสัตว์เลี้ยงทุกตัวที่ดูแลอยู่ น้องหมาทุกตัวก็สู้เพื่อชีวิตตัวเองเต็มที่ เจ้าของละครับ พร้อมที่จะสู้กับมะเร็งเหล่านี้ไปพร้อมๆกันไหม ถ้าใครที่อ่านบทความนี้มีน้องหมาที่ป่วยด้วยโรคเนื้องอกต่างๆ หมอก็ขอให้น้องหายป่วยไวๆ นะครับ
บทความโดย
อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital