หัวใจวายในสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงไม่ว่า สุนัขหรือแมวก็มีหัวใจทั้งหมดสี่ห้องลิ้นหัวใจสี่ชุด มีลิ้นกันระหว่างห้องบนห้องล่างทั้ง 2 ฝั่ง และ มีลิ้นกั้นในหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (หลอดเลือดแดงสู่ปอด) และ หลอดเลือดแดงเอออร์ต้า

ลักษณะการทำงานก็เหมือนกับของคนคือ หัวใจมีหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยลิ้นทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม ตอนเด็กๆ เราจะท่องว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” ขณะที่เรียนชีววิทยาหมายถึง หัวใจฝั่งขวารับเลือดดำ (ร้าย) จากร่างกายเพื่อส่งไปฟอกที่ปอด (รับออกซิเจน กำจัดคาร์บอนไดออกไซด์) หัวใจฝั่งซ้ายรับเลือดแดง (ดี) เลือดที่ฟอกแล้วจากปอดกลับเข้ามาที่หัวใจแล้วสูบฉีดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกายเช่นเดียวกับสรีระวิทยาของคน ดังนั้นโรคที่เกิดครึ่งก็มีความใกล้เคียงกับคนมากเช่นกัน หัวใจวายในสัตว์เลี้ยง

อย่างแรกที่หมอจะต้องการความเข้าใจของสังคมพูดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยคือ คำว่า “หัวใจวาย” นั้นไม่ใช่คำวินิจฉัยหรือชื่อโรคครับ แต่หมายถึงกลุ่มอาการซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ และ สามารถนำไปสู่ภาวะการล้มเหลวของระบบไหลเวียนโลหิตได้

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจภาวะหัวใจวายกันครับ

ภาวะหัวใจวายแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ชนิดด้วยกันคือ

1.ภาวะหัวใจวายจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว (systolic myocardial failure) สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงบางพันธุ์เชื่อว่าสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมโดยมีชื่อโรคเรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมแบบพองโตโดยไม่ทราบสาเหตุ (dilated cardiomyopathy ได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่) หรือกล้ามเนื้อหัวใจอาจจะล้มเหลวจากอุบัติเหตุ การกระทบกระแทกบริเวณอก การติดเชื้อ ได้รับยาหรือสารพิษ ไฟช็อตหรือเนื้องอกก็ได้

2.ภาวะหัวใจวายจากการลดการไหลของเลือดกลับสู่หัวใจ (obstruction to cardiac inflow) ทำให้เลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจลดลงตามโดยภาวะนี้อาจเป็นผลได้จากการกดที่หัวใจจากภายนอก ภาวะหัวใจวายในกลุ่มนี้มีตัวอย่างที่เจอได้บ่อยในโรงพยาบาลสัตว์ เช่น ภาวะมีของเหลวในถุงหุ้มหัวใจทำให้หัวใจไม่สามารถขายตัวได้เต็มที่ (idiopathicpericardial effusion หรือโรคมีของเหลวสะสมในถุงหุ้มหัวใจโดยไม่ทราบสาเหตุในสุนัขพันธุ์ใหญ่) ภาวะการคลายตัวไม่สมบูรณ์ของหัวใจเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจมีการยืดหยุ่นต่ำเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว (เช่น hypertrophic cardiomyopathy หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวในแมว) หรือมีผังผืดที่กล้ามเนื้อหัวใจ (เช่น restrictive cardiomyopathy หรือโรคผังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจในแมว)

3.ภาวะหัวใจวายจากความดันในหัวใจสูง (pressure overload) โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรคซึ่งเกิดจากหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis) โรคลิ้นหัวใจพัลโมนิกตีบ (pulmonic stenosis) หรืออาจเป็นผลจากความดันของเลือดที่สูงภายในร่างกาย (systemic hypertension) หรือความดันของเลือดที่สูงภายในปอดก็ได้ (pulmonary hypertension)

4.ภาวะหัวใจวายจากภาวะน้ำเกิน (volume overload) หัวใจวายลักษณะนี้เกิดจากมีเลือดภายในหัวใจห้องล่างมากกว่าปกติ รูปที่ทำให้เกิดภาวะน้ำเลือดเกินที่พบบ่อยคือ โรคลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนและล่างรั่ว เช่น โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (mitral regurgitation หรือชื่อเรียกว่า myxomatous mitral valve degeneration ย่อว่า MMVD พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก) หรือโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดแบบที่มีการเชื่อมระหว่างด้านซ้ายไปยังด้านขวา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจเกินตั้งแต่กำเนิดจากการคงอยู่ของหลอดเลือดดักตัส อาร์เทอริโอซัส ductous arteriosus (patent ductous arteriosus หรือ PDA เป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิดที่พบมากที่สุดในสุนัข)

ขอบคุณภาพจาก : https://www.veterinaria-atual.p

อาการที่แสดงออกขึ้นกับสาเหตุของภาวะหัวใจวายและห้องหัวใจที่มีปัญหา

1.หัวใจฝั่งซ้ายวาย (left sided congestive heart failure) อาการที่แสดงสืบเนื่องมาจากการเพิ่มความดันภายในหลอดเลือดซึ่งส่งเลือดกลับมายังหัวใจห้องล่างซ้ายทำให้เกิดการสะสมของของเหลวภายในถุงลมและเนื้อเยื่อปอดเรียกว่า pulmonary edema หรือภาษาไทยเรียกว่า “ภาวะปอดบวมน้ำ” หรืออาจเรียกว่า ”น้ำท่วมปอด” (เป็นคนละความหมายกับ” ภาวะปอดบวม” หรือ “โรคปอดอักเสบ” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า pneumonia ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อรา เป็นต้น และทำให้เกิดการสะสมของของเหลวภายในปอด) นอกเหนือจากอาการเบื้องต้นแล้วยังมีอาการไอโดยเฉพาะอาการไอ ไอแห้ง หายใจลำบาก ออกกำลังกายไม่ทน ในกรณีที่อาการหนักมากขึ้น อาจมีอาการเป็นลมหมดสติเนื่องจากเลือดที่มีออกซิเจนสูงไปเลี้ยงสมองได้ลดลง สัตว์เลี้ยงที่หัวใจฝั่งซ้ายวายมักจะมีอัตราการหายใจที่สูกว่าสัตว์เลี้ยงปกติ การติดตามอาการสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาหัวใจวายคุณหมอจะให้นับอัตราการหายใจระหว่างหลักหรือขณะพักเสมอโดยให้นับอัตราการหายใจใน 1 นาที แล้วนำมารายงานคุณหมอทุกครั้งที่เข้ามาพบกัน

2.หัวใจฝั่งขวาวาย (right sided congestive heart failure) เป็นผลจากการเพิ่มความดันภายในหลอดเลือดที่ส่งเลือดกลับมาที่หัวใจห้องบนขวาจากระบบหลอดเลือดดำและหลอดเลือดฝอยทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการคั่งของของเหลวภายใน ร่างกาย ในช่องท้อง ภาษาไทยเรียกว่า “ท้องมาน” (ascites ในภาษาอังกฤษ) ช่องอก ทำให้เกิดภาวะน้ำในเยี่อหุ้มปอด (pleural effusion) ตับทำให้เกิดภาวะตับโต และขาทำให้เกิดขาบวมน้ำ (pitting edema มีการสะสมของของเหลวภายในช่องว่างระหว่างเซลล์ ไม่มีอาการบวม ร้อน แดง เมื่อกดลงไปมีการคืนตัวได้ช้าหรือเป็นรอยบุ๋มค้างไว้)

3.หัวใจวายทั้ง 2 ฝั่ง (biventricular failure) เป็นภาวะหัวใจวายที่เกิดจากภาวะหัวใจวายข้างซ้ายหรือขวานำมาก่อนก็ได้แต่ท้ายที่สุดเกิดการวายทั้ง 2 ข้างดังนั้นอาการที่พบก็จะเป็นอาการของหัวใจซ้ายและขวาวายของพร้อมกัน

การรักษาสัตว์ที่มีปัญหาโรคหัวใจ

ระบบไหลเวียนโลหิตของคนและสัตว์มี “กลไกการปรับชดเชย” (compensatory mechanisms) เพื่อให้สามารถควบคุมความดันเลือด การไหลของเลือด ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจให้อยู่ในสภาวะคงที่ได้มากที่สุด เช่น การกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติกเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจและกระตุ้นการบีบตัวของหลอดเลือดเพื่อคงความดันเลือด  การดูดกลับของน้ำจากไต เป็นต้น ทำให้สัตว์ที่มีปัญหาโรคหัวใจ ”ไม่” แสดงอาการออกมาทันที

คุณหมออาจได้ยิน “เสียงฟู่ที่หัวใจ” ( ภาษาอังกฤษเรียกว่า heart murmurs ซึ่งบอกถึงโรคลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ มีการเชื่อมผิดปกติเกิดขึ้นภายในหัวใจหรือระหว่างเส้นเลือด) แต่ในขณะนั้นสุนัขและแมวที่เข้ามาตรวจยังไม่มีอาการ เพราะอยู่ในช่วงเวลาที่ร่างกายยังสามารถ “ปรับชดเชย” ได้อยู่ ระยะเวลานี้อาจจะนานเป็นปีกว่าที่จะแสดงอาการหัวใจวายออกมา ดังนั้นถ้าเรา “รอ” จนถึงการที่สัตว์เลี้ยงแสดงอาการหัวใจวายออกมา โอกาสที่คุณหมอจะทำการรักษาให้สัตว์เลี้ยงกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะน้อยมาก ดังนั้นหลักในการที่จะทำการตรวจรักษาคือ ตรวจพบให้ไวที่สุดว่าในขณะนั้นสัตว์เลี้ยงอยู่ในระยะไหนแล้ว และทำการติดตามเป็นระยะ ถ้ายังไม่มีการแสดงอาการ การรักษาจะทำเพื่อประคับประคองให้อยู่ในระยะที่ไม่แสดงอาการนานที่สุด หรือถ้ามีการแสดงอาการหัวใจวายแล้ว การรักษาจะเป็นการทำให้คุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนกว่าจะวันสุดท้ายในชีวิตของเขา

หัวใจวายในสัตว์เลี้ยง
ขอบคุณภาพจาก : https://www.vox.com

การติดตามอาการสัตว์ป่วยด้วยโรคหัวใจในสุนัข

ในประเทศไทย บ้านเราโดยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสุนัขในบ้าน และ คนไทยมี inactive lifestyle หรือ ถ้ากรณีที่เลี้ยงสุนัขตัวเล็ก ถ้าจะมีการเดินทางออกไปก็มักจะใช้การอุ้มแทนการปล่อยให้สุนัขเดิน เมื่อเทียบกับฝรั่งที่นิยมจูงสุนัขเดินออกกำลังกายเป็นประจำ การที่มีเวลาในการจูงเดินสุนัขน้อยทำให้เจ้าของพบอาการออกกำลังกายไม่ทนและการหอบหายใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของหัวใจฝั่งซ้ายวายตรวจพบได้ช้ากว่าที่ควร สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจหรือเริ่มมีภาวะหัวใจวาย ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการออกกำลังกายครับ เช่นเดียวกับผู้ป่วยครับ การลดน้ำหนักและการออกกำลังกายเบาๆ เช่น จูงเดินรอบสวนหรือหมู่บ้านเป็นสิ่งที่ควรทำและจะทำให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น คุณหมอไม่แนะนำให้ใช้ปลอกคอ แต่แนะนำให้ใช้สายรัดอกแทนครับ เพราะถ้าใช้ปลอกคอแล้วสุนัขวิ่งไปข้างหน้า ปลอกคอจะกดบนท่อลมใหญ่ทำให้เกิดอาการไอครับ

การตรวจสัตว์ป่วยด้วยโรคหัวใจ

คุณหมอจะทำการตรวจเลือดและปัสสาวะ นอกจากการตรวจความสมบูรณ์ของเลือดและค่าชีวะเคมีแล้ว การตรวจเลือดจะมีการตรวจในส่วนของ cardiac biomarker หรือค่าโปรตีนบางชนิดที่จะสูงขึ้นเมื่อหัวใจมีความเสียหาย เช่น NT-proBNP ในแมวอาจจะมีการตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมด้วย ทำถ่ายภาพรังสีของช่องอกอย่างน้อย 3 ภาพ วัดความดันเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการทำอัลตราซาวด์หัวใจหรือเรียกว่า Echocardiography เพื่อดูความเป็นไปของโรคครับ

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital


เสียงหัวใจ หน้าต่างแห่งสุขภาพของสัตว์เลี้ยง

พยาธิหนอนหัวใจ ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม