การจัดการอาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคไต และสารอาหารสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

โรคไตเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความเสื่อมของตัวไต สารพิษ นิ่วในไต หรือ การติดเชื้อ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้ไตมีความเสียหายอย่างถาวร จะทำให้สัตว์เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ควบคู่ไปกับ การจัดการอาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคไต

โดยวิธีการรักษาคือ การควบคุมอาหารอย่างเหมาะสม การให้น้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการขาดน้ำ และ การควบคุมภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้จาก ภาวะไตวาย เช่น ความดันโลหิตสูง หรือภาวะโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ สำหรับบทความนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การจัดการอาหาร โดย การจัดการอาหารสำหรับสัตว์ป่วยโรคไต นั้น จะมีสารอาหารที่สำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ หรือ เรียกว่าเป็น Key nutritional factors ซึ่ง บ้านและสวน Pets จะมาอธิบายให้ฟัง ดังนี้

1.ปริมาณโปรตีน :

ในสัตว์ป่วยโรคไตต้องจำกัดปริมาณโปรตีน การจำกัดโปรตีนไม่ใช่ว่า ไม่ให้โปรตีนเลย แต่จะเป็นการให้โปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม ที่จะไม่ทำให้ไตทำงานหนัก ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้สัตว์ขาดสารอาหาร เท่าที่เคยพูดคุยกับเจ้าของสัตว์หลายท่าน มีความกังวลว่า สัตว์เลี้ยงของตนจะขาดสารอาหาร ไม่มีเรี่ยวแรง แต่จริงๆ แล้ว หากเราให้โปรตีนคุณภาพดีกับสัตว์ โปรตีนคุณภาพดีนั้นจะสามารถเป็นแหล่งของพลังงาน และกรดอมิโนจำเป็นสำหรับร่างกายได้ ถึงแม้ว่าจะให้ในปริมาณน้อยก็ตาม ดังนั้นร่างกายของสัตว์ก็จะไม่ขาดสารอาหาร หรือขาดโปรตีน ถามว่าทำไมโปรตีนถึงทำให้ไตทรุดลงเร็ว นั่นเป็นเพราะว่า ในภาวะที่ไตทำงานปกติ ไตมีหน้าที่กรองเลือดผ่านหน่วยเล็กๆ ของไต เรียกว่าหน่วยไต โดยปริมาณเลือดที่กรองผ่านหน่วยไตนั้นก็จะเป็นเลือดปริมาณหนึ่ง เมื่อไตเริ่มเสื่อม หมายความว่ามีหน่วยไตบางส่วนเริ่มเสียไป หน่วยไตเหล่านั้นทำหน้าที่กรองเลือดไม่ได้ ทำให้เลือดที่ควรจะกรองผ่านหน่วยไตที่เสียเหล่านั้น มาผ่านหน่วยไตที่ยังดีอยู่แทน ทำให้หน่วยไตที่ยังเหลืออยู่ ต้องรองรับเลือดมากกว่าปกติ ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น การบริโภคโปรตีนที่สูงจะส่งผลให้เลือดที่ไปกรองที่ไตเยอะขึ้นอีก ทำให้แรงดันเลือดในหน่วยไตที่ยังเหลือสูงขึ้น และเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณหน่วยไต ส่งผลให้การดำเนินไปข้างหน้าของโรคไตเร็วขึ้น ดังนั้นนี่คือสาเหตุว่าทำไมจึงควรจำกัดปริมาณโปรตีนในโรคไต

พูดถึงปริมาณโปรตีนที่สุนัข หรือแมวกินได้ สุนัขต้องการโปรตีนน้อยกว่าแมว ในการคำนวณอย่างคร่าวๆ คือ สุนัขที่เป็นโรคไตกินโปรตีนได้อย่างมาก ประมาณ 2-3 กรัม ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ต่อวัน ส่วนแมวจะกินโปรตีนได้ประมาณ 4-6 กรัม ต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม ต่อวัน แล้วจึงนำค่าโปรตีนที่สัตว์ควรได้รับมาคำนวณหาปริมาณเนื้อสัตว์อีกทีหนึ่ง โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลอาหาร เช่น สุนัขหนัก 10 กิโลกรัม ต้องการโปรตีนเท่ากับ 20-30 กรัมต่อวัน อยากรู้ว่ากินไก่ได้กี่กรัม ในอกไก่ 1 ชิ้นมีโปรตีน 30% ดังนั้นแปลว่าสุนัขตัวนี้สามารถกินอกไก่ได้ประมาณ 66-100 กรัมต่อวัน หลายคนอาจจะกังวลว่ากินโปรตีนน้อยมาก พลังงานที่สัตว์ได้รับจะเพียงพอหรือไม่ ถ้าอาศัยพลังงานจากการบริโภคโปรตีนอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอแน่นอน เราจำเป็นต้องใช้พลังงานจากแหล่งอื่นมาทดแทนด้วย เช่น คาร์โบไฮเดรต จากข้าว หรือไขมันจากสัตว์ หรือไขมันจากน้ำมันพืชร่วมด้วยก็ได้ค่ะ

2.ฟอสฟอรัส :

โดยปกติไตมีหน้าที่ขับฟอสฟอรัสทิ้ง แต่ถ้าไตพังก็จะทำให้ขับฟอสฟอรัสออกได้น้อยลง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ฟอสฟอรัสในเลือดจะเพิ่มขึ้น ฟอสฟอรัสที่เพิ่มขึ้นนี้จะรบกวนสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย อีกทั้งระดับของฟอสฟอรัสที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด ยังทำให้โรคไตดำเนินไปข้างหน้าเร็วขึ้นด้วย เราอาจจะสงสัยว่าฟอสฟอรัสนั้นมาจากแหล่งไหน ฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีน ดังนั้นการจำกัดโปรตีนจึงมีส่วนช่วยในการลดระดับฟอสฟอรัสในเลือดได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อโรคไตดำเนินไปจนถึงระดับสูงๆ แล้ว ไตจะขับฟอสฟอรัสได้น้อย ส่งผลให้เกิดภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง แม้ว่าจะมีการคุมระดับฟอสฟอรัสในอาหารแล้วก็ตาม เมื่อถึงระยะนั้น สัตวแพทย์จะให้ยาดักจับฟอสฟอรัสในอาหารมากินเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดระดับของฟอสฟอรัสได้ระดับหนึ่งค่ะ

3.โซเดียม หรือเกลือ :

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะมีความกังวลมากว่าการบริโภคโซเดียมในระดับสูงจะทำให้สัตว์ไตวายได้ ซึ่งต้องบอกว่า สุนัขหรือแมวมีความไวต่อโซเดียมน้อยกว่าในคนมาก แต่การจำกัดปริมาณโซเดียมมีความสำคัญในการจัดการภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่มาควบคู่กับโรคไตมากกว่า หลายครั้งที่ได้ยินเจ้าของบ่นว่าอาหารเม็ดยี่ห้อต่างๆ เค็ม โดยที่อาจจะยังไม่ได้ชิม แค่ได้กลิ่นเฉยๆ ต้องขอเรียนแจ้งไว้ตรงนี้ว่า บางครั้งเป็นแค่การใส่กลิ่นให้คาว เพื่อเพิ่มความน่ากินของอาหาร แต่ไม่ได้มีการเติมเกลือเข้าไปจริงๆ โดยเฉพาะถ้าสัตว์กินอาหารสำหรับโรคไตอยู่แล้ว จะมีการตรวจสอบระดับของโซเดียมในอาหารอย่างเข้มงวดก่อนจะจำหน่ายอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาตรงนี้ค่ะ

4.กรดไขมันโอเมก้า 3 :

กรดไขมันโอเมก้า 3 เชื่อว่ามีความสามารถในการช่วยลดการอักเสบและช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคไตได้ โดยกรมไขมันโอเมก้า 3 นี้ มีมากในน้ำมันปลา ซึ่งจะต้องเป็นน้ำปลาแบบที่ประกอบด้วยโอเมก้า 3 เยอะด้วย ในการไปซื้อเองนั้นต้องดูให้ดี เพราะบางทีเราจะได้น้ำมันปลาที่มีโอเมก้า 6 สูงมาแทนค่ะ และสุดท้ายคือ น้ำมันปลา ไม่ใช่น้ำมันตับปลานะคะ คุณสมบัติ และการใช้งานแตกต่างกันค่ะ

5.น้ำ :

น้ำเป็นสารอาหารที่สำคัญมาก ๆ อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบหลักของเลือด และเนื้อเยื่อในร่างกาย ในสัตว์ปกติ ไตจะทำหน้าที่ในการดูดน้ำกลับเมื่อร่างกายมีภาวะขาดน้ำ แต่ในสัตว์ป่วยโรคไตจะทำให้ความสามารถในส่วนนี้หายไป ส่งผลให้สัตว์เสียน้ำไปกับปัสสาวะมากขึ้น ทำให้สัตว์เลี้ยงของเรามีอาการกินน้ำเยอะ และปัสสาวะเยอะกว่าปกติ และทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ง่ายกว่าสัตว์ทั่วไป ดังนั้นการให้น้ำแก่สัตว์เลี้ยงของเราในปริมาณที่เพียงพอ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าสัตว์มีภาวะขาดน้ำเกิดขึ้น จะส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงไตไม่พอได้ และทำให้โรคไตดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นมีหลากหลายวิธีในการเพิ่มปริมาณน้ำที่สัตว์กินได้ต่อวัน หรือในบางครั้ง สัตว์อาจมีความจำเป็นต้องได้รับน้ำจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากการกิน เช่นการให้สารน้ำเข้าทางใต้ผิวหนัง เป็นต้น

จะเห็นว่าการรักษาโรคนั้น ไม่ใช่ว่าทุกโรคจะต้องรักษาด้วยยาเสมอไป การดูแลเรื่องอาหารในสัตว์ป่วยโรคไตนั้น ถือเป็นการรักษาที่สำคัญ และช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคได้จริง รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์ และยืดอายุขัยของสัตว์ป่วยได้อีกด้วย ดังนั้นความเข้าใจของเจ้าของสัตว์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการจัดการอาหาร ปัจจุบันการจัดการอาหารนั้นค่อนข้างสะดวกมาก เนื่องจากมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับรักษาโรคอยู่แล้ว แต่หลายครั้งที่พบว่าเจ้าของสัตว์เข้าใจว่าเมื่อให้กินอาหารสำหรับโรคไตแล้ว สามารถกินของเสริมอื่นๆได้ตามใจชอบ เช่นลูกชิ้น หมูทอด หมูหยอง ไส้กรอก ปลาหมึกย่าง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งของโปรตีน และฟอสฟอรัสทั้งสิ้น หากต้องการเสริม สิ่งที่เป็นโปรตีนอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารสำหรับรักษาโรคไตที่กินอยู่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษากับสัตวแพทย์ประจำของท่าน เพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณโปรตีนที่สัตว์ควรได้รับต่อ แล้วทำการวิเคราะห์ว่าสัตว์กำลังได้รับโปรตีนเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ อย่างไร หากมีความจำเป็นต้องกินจริงๆ เช่นบางครั้งต้องใช้เนื้อสัตว์ในการห่อยาเพื่อป้อน สามารถใช้ได้ในปริมาณเท่าไหร่ ที่จะไม่ทำให้ไตทำงานหนักเกินไป หรือหากต้องการให้อาหารแบบปรุงเอง จะต้องปรุงตามสูตรที่สัตวแพทย์คิดคำนวณให้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สารอาหารเป็นไปตามความเหมาะสมที่สัตว์ควรได้รับจริงๆ

นอกจากชนิดของอาหารที่เหมาะสมแล้ว ปริมาณของอาหารที่สัตว์ควรได้รับต่อวันนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากถ้ากินอาหารที่เหมาะสม แต่ปริมาณของอาหารน้อยเกินไป จะทำให้สัตว์ขาดสารอาหาร และน้ำหนักลด ในทางกลับกัน ถ้ากินมากเกินไปก็จะทำให้สัตว์อ้วนตามมาได้ ดังนั้นในการให้อาหารกับสัตว์เลี้ยง ต้องถูกต้องทั้งชนิด และปริมาณของอาหาร

ขอบคุณภาพจาก : http://blog.pinpet.net/

อีกข้อหนึ่งที่ควรระวังมากในการเริ่มให้สัตว์กินอาหารสำหรับรักษาโรคไต คือ สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคไตนั้น มักเป็นสัตว์ที่อายุมาก หรือเข้าสู่วัยชรา ทำให้การรับรส หรือรับกลิ่นนั้น ด้อยลง อีกทั้งบางครั้งสัตว์ป่วยเหล่านี้มีความไม่สบายตัวจากภาวะไตวาย ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงอยู่แล้ว ในการเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารโรคไต อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมาก คือ อย่าเปลี่ยนอาหารแบบหักดิบในทันที เพราะจะทำให้สัตว์ป่วย เกลียดอาหารโรคไต และปฏิเสธการกินอาหารนั้นไปตลอด ในการเปลี่ยนอาหาร ควรจะค่อยๆเปลี่ยนอย่างใจเย็น โดยผสมอาหารใหม่ ลงในอาหารเดิมทีละน้อย แล้วค่อยๆถอนอาหารเดิมออก จนเหลือแค่อาหารที่เราต้องการให้สัตว์กิน กระบวนการนี้อาจจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย บางตัวอาจจะใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว นอกจากนี้ เราสามารถเพิ่มความน่ากินของอาหารได้ โดยอุ่นอาหารให้สัตว์กินก่อนสักเล็กน้อย เพื่อให้มีกลิ่นของอาหารกรุ่นๆขึ้นมา ทำให้เด็กๆของเราสามารถรับกลิ่นของอาหารได้ดีขึ้น และมีความอยากอาหารมากขึ้น หรือสามารถใช้วิธีต้มน้ำซุปจากเนื้อสัตว์แบบไม่ปรุงรส ช้อนไขมันออก แล้วนำซุปนั้นราดบนอาหาร จะช่วยเพิ่มกลิ่นจากเนื้อสัตว์ ช่วยเพิ่มความน่ากินของอาหารได้

สุดท้ายนี้หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของอาหารในการรักษาโรคมากขึ้น รวมถึงสามารถนำไปปรับใช้กับสัตว์เลี้ยงของท่านได้อย่างเหมาะสม หลักการจัดการอาหารในโรคไตนั้น ไม่ได้ทำแค่ในสัตว์เลี้ยงเท่านั้น หลักการรักษาโรคไตในคนก็ใช้หลักการเดียวกันในการชะลอการดำเนินไปของโรค ดังนั้นหากเราทราบว่า สัตว์เลี้ยงของเราเริ่มป่วยเป็นโรคไต ควรเริ่มคุมอาหารเสียตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าแพ้สายตาวิงวอนของลูกๆ เพราะจะทำให้เขาอายุสั้นลง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆของโรคก็จะเกิดได้ง่ายขึ้นด้วย ใจแข็ง และสร้างความเคยชินใหม่ๆให้กับทั้งตัวเรา และลูกๆ อาจจะยาก และบีบหัวใจในช่วงแรก แต่ถ้าทำได้ก็จะได้อยู่ด้วยกันต่อไปอีกนานๆ ค่ะ

บทความโดย

สพ.ญ. ฐิตา เตโชฬาร
Thita Taecholarn DVM, MS
คลินิกระบบขับถ่ายปัสสาวะ คลินิกหัวใจ และคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
Urology clinic , Cardiology clinic and Diabetic clinic
Small Animal Teaching Hospital , Faculty of Veterinary Science , Chulalongkorn University