เมื่อพูดถึงภาวะไตวาย คนทั่วไปอาจมองว่าการที่สัตว์ป่วยด้วยภาวะไตวายถือว่าหมดหวังกับการดำรงชีวิต หมดทางแก้ไขและเยียวยา แต่แท้จริงแล้ว ณ ปัจจุบันมีทางเลือกในการแก้ไขภาวะไตวายในสุนัขและแมวได้มากขึ้น สุนัขและแมวมีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ถ้าเราสามารถแก้ไขอย่างทันท่วงที การฟอกไตในสัตว์เลี้ยง
โดยวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy) หรือ การฟอกไตในสัตว์เลี้ยง กันค่ะ
ไตมีหน้าที่หลักๆ ดังนี้
- ขับของเสีย
- ปรับสมดุลน้ำ
- ปรับสมดุลอิเล็กโทรไลต์หรือเกลือแร่ในเลือด
- ควบคุมความดันในร่างกาย
- สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ฮอร์โมนชื่อว่า อิริโทรโปอิติน
(erythropoietin หรือเรียกย่อๆว่า EPO)
ดังนั้นเมื่อเกิด ภาวะไตวาย นั่นหมายถึงไตทำงานได้น้อยลง ทำให้เกิดสมดุลการปรับน้ำ อิเลคโทรไลต์ กรดเบส และของเสียในเลือดผิดปกติไป การคั่งค้างของสารเหล่านี้ในร่างกายปริมาณมาก ทำให้ส่งผลกับคุณภาพในการดำรงชีวิต ค่าทางห้องปฏิบัติที่ใช้เป็นการวัดระดับการทำงานของไตและวัดระดับความผิดปกติอื่นๆที่เกิดได้จากการทำงานของไตลดน้อยลงในปัจจุบัน ได้แก่ การตรวจปัสสาวะ, การตรวจ Blood urea nitrogen (BUN), Creatinine, SDMA(Symmetric dimethylarginine), ฟอสฟอรัส, โปแตสเซียม, กรดเบสในเลือด เป็นต้น เมื่อสัตว์ป่วยไตวายมีระดับการสะสมของเสียในกระแสเลือดมากขึ้นจนเกิดภาวะวิกฤต ก็อาจทำให้สัตว์ป่วยเสียชีวิตได้ อาการของภาวะไตวายที่อยู่ในภาวะวิกฤตได้แก่ สัตว์ป่วยมีอาการซึม ไม่ทานอาหาร ตัวบวมน้ำ ไม่มีปัสสาวะ อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายดำ หรือหายใจหอบผิดปกติ
การบำบัดทดแทนไต (Renal replacement therapy)
เป็นเครื่องมือที่ช่วยรักษาสัตว์ป่วยที่มีการสูญเสียการทำงานของไตจนเกิดภาวะการคั่งของเสียในร่างกาย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ระบบอวัยวะในร่างกายอื่นๆทำงานผิดปกติและทำให้สัตว์ป่วยไม่สบายและเสียชีวิตได้ โดยเกณฑ์เบื้องต้นที่ช่วยบอกความจำเป็นหรือคำนึงถึงการใช้การบำบัดทดแทนไตได้
- ค่าทางห้องปฏิบัติการผิดปกติรุนแรง เช่น ค่า BUN มากกว่า 100 mg/dL, Creatinine มากกว่า 8 mg/dL,
โปแตสเซียมในกระแสเลือดมากกว่าปกติและไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา - สัตว์ป่วยมีภาวะคั่งของน้ำในร่างกาย
- ไม่สามารถขับปัสสาวะ
การบำบัดทดแทนไต ณ ปัจจุบันในประเทศไทยสำหรับสัตว์เลี้ยงมี 2 แบบ ได้แก่
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) คือการนำเลือดที่มีของเสียคั่งจากสัตว์ป่วยผ่านเครื่องฟอกเลือด เมื่อเลือดเข้าไปในเครื่องจะไหลผ่านตัวกรอง (Dialyzer) เกิดขบวนการดึงของเสียในเลือด ปรับสมดุลกรดเบส จากนั้นเลือดที่ได้รับการฟอกแล้วจะไหลกลับเข้าสู่ร่างกายสัตว์ป่วย เลือดของสัตว์ป่วยจะวนเข้าเครื่องและกลับเข้าสู่ร่างกายแบบต่อเนื่อง จนกระทั้งครบเวลาโดยประมาณ 2-4 ชั่วโมงต่อครั้งขึ้นกับอาการของสัตว์ป่วย โดยทั่วไปจะทำการฟอกสัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นกับการฟื้นตัวของไต
- การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis) คือการลดของเสียที่คั่งในเลือดผ่านเยื่อบุช่องท้องของร่างกายเป็นตัวกรองและใช้น้ำยาสำหรับล้างช่องท้องใส่ผ่านท่อที่ถูกวางไว้ในช่องท้องก่อนหน้า โดยน้ำล้างท้องจะถูกค้างไว้ในช่องท้องตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบเวลาก็จะมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำที่มีของเสียออกแล้วถ่ายน้ำยาชุดใหม่เข้าไปทำเป็นรอบต่อเนื่อง
นอกจากจะช่วยเรื่องกำจัดของเสียในเลือดกรณีไตวายแล้ว การบำบัดทดแทนไต ยังสามารถช่วยดึงน้ำส่วนเกินและสารพิษอื่นรวมถึงการได้รับยาที่เกินขนาดได้ด้วย สำหรับการเลือกวิธีแบบใดนั้นมีปัจจัยที่นำมาพิจารณาประกอบร่วมเช่น น้ำหนักตัว ภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ อาการชัก ภาวะโลหิตจาง ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และระดับความเสี่ยงของการวางยาสลบของสัตว์ป่วย ซึ่งสัตวแพทย์เจ้าของไข้จะทำการประเมินและเลือกแนวทางที่เหมาะสำหรับสัตว์ป่วยเป็นกรณีไป สำหรับค่าใช้จ่ายของการรักษามีระดับแตกต่างกัน ตามแบบวิธี ระยะเวลาที่ไตฟื้นตัวและน้ำหนักตัว ระหว่างรับการรักษา สัตว์ป่วยควรได้รับการดูแลรักษาใกล้ชิดและต้องมีการติดตามอาการ ปริมาณปัสสาวะต่อชั่วโมง ตลอดจนแรงดันเลือดจากสัตวแพทย์ สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ปัจจุบันทางโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน หน่วยทางเดินปัสสาวะและไตได้เปิดให้บริการ การเข้ารับบริการสามารถติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ 02-797-1900 (ต่อหมายเลขภายใน 3436) เพื่อนัดเวลาการเข้ารับบริการหรือให้คำแนะนำเบื้องต้นก่อนทำการขนย้ายสัตว์ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต
เราจะเห็นได้ว่ายังมีหนทางที่ช่วยรักษาเยียวยาสัตว์ป่วยไตวายที่มีความทรมานเจ็บป่วยจากภาวะวิกฤต ดังนั้นเมื่อสัตว์ป่วยที่มีอาการดังกล่าวหรือเข้าข่ายสงสัยภาวะไตวายเฉียบพลัน การได้รับการตรวจร่างกายและรักษากำจัดสาเหตุของการเกิดไตวายอย่างทันท่วงทีจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไตสามารถฟื้นตัวกลับมาปกติได้หรือในบางกรณีก็อาจช่วยบรรเทาให้พ้นจากภาวะวิกฤตแล้วเหลือเพียงโรคไตที่สามารถดูแลรักษาทางยาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
บทความโดย
สพ.ญ. คาริน วิชชุกิจ
Karin Vitchukit, DVM, MS
หน่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Nephrology and Urology Clinic, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen