สภา กทม. ผ่านข้อบัญญัติคุมการเลี้ยงสัตว์ เจ้าของต้องแจ้งจำนวน และฝังไมโครชิป

สภา กทม. ผ่าน ขอบัญญัติควบคุมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด โดยกำหนดจำนวนการเลี้ยงตามขนาดพื้นที่ และเจ้าของต้องฝังไมโครชิปสุนัขและแมวทุกตัว

ความรับผิดชอบต่สัตว์เลี้ยงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายได้ให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่จำนวนสัตว์เลี้ยงได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเกิดปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด ตามมา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตั้งแต่ตัวเจ้าของ ไปจนถึงระดับนโนบาย จึงต้องหามาตรการร่วมกันในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพต่อทุกฝ่าย ทั้งสัตว์เลี้ยง เจ้าของ และผู้อื่นในสังคม

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพ เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

ก่อนจะมาถึงการลงมติเห็นชอบในประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางสภากรุงเทพมหานคร ได้เปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หน่วนงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และมูลนิธิที่ทำงานด้านสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง

โดยความเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ว่า สมควรกำหนดเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ และเหตุเดือดร้อนรำคาญในกรุงเทพมหานครฯ

หนึ่งในเนื้อหาสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ การกำหนดจำนวนสัตว์เลี้ยงต่อขนาดพื้นที่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่า 20-80 ตารางเมตรขึ้นไปเลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว หากเกิน เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
  • ที่ดินไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
  • ที่ดิน 20-50 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว
  • ที่ดิน 50-100 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว
  • ที่ดิน 100 ตารางวาขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
สัตว์จรจัด, หมาจร, แมวจร,

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ระบุว่า การร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการควบคุมสัตว์เลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ฯ ครั้งนี้ มีข้อกำหนดเรื่องของพื้นที่บ้านต่อการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง 1 ตัว ในแต่ละประเภทสัตว์ และในปัจจุบันมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือมีวิธีแก้ไขปัญหาสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเกินจำนวน และไม่สามารถดูแลสัตว์ได้ทั่วถึง หรือไม่อย่างไร

นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก ตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดพื้นที่ต่อจำนวนสัตว์เลี้ยงแต่ละประเภท บางครั้งอาจเป็นข้อจำกัดและเป็นการลิดรอนสิทธิสัตว์ หรือไม่อย่างไร เพราะบางครั้งสัตว์ต้องอยู่เป็นคู่ หรือต้องมีการผสมพันธุ์สัตว์

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดสุนัขควบคุมพิเศษ ประกอบด้วย พิตบูลเทอร์เรียร์ บูลเทอร์เรียร์ สแตฟฟอร์ดไชร์บูลเทอร์เรียร์ รอตไวเลอร์ และฟิลาบราซิเลียโร รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เมื่อออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา

เมื่อประกาศใช้ เจ้าของต้องจดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง และฝังไมโครชิป

ทางด้าน นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า คณะกรรมการวิสามัญชุดนี้ได้พิจารณา มาอย่างถี่ถ้วนผ่านประชาพิจารณ์จากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องมีการจดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง แต่จะไม่มีบทลงโทษย้อนหลังหากสัตว์ที่เลี้ยงอยู่เดิมเกินจำนวน

นอกจากนี้จะมีการใช้ข้อบังคับให้สุนัขและแมวต้องมีการฝังไมโครชิป เพื่อให้ทราบเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลรับผิดชอบอีกด้วย ซึ่งจะลดและแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น

รวมไปถึงสำนักอนามัยมีหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทำหมันสัตว์จรจัดในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดจำนวนสัตว์จร และในส่วนของสุนัขที่มีความดุร้ายสร้างความเดือดร้อน หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะนำไปไว้ที่ ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตประเวศ

ส่วนกรณีที่ต้องการเลี้ยงเป็นคู่เพื่อผสมพันธุ์สัตว์ หรือประกอบธุรกิจนั้น สามารถขออนุญาตเพิ่มเติมได้ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข

“ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … ขอขอบคุณสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทุกท่าน เมื่อข้อบัญญัติฯ นี้ได้ประกาศใช้ จะสามารถแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด สัตว์ดุร้ายที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญในกรุงเทพมหานครได้ เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครมีความปลอดภัยกับประชาชน” นายนภาพล กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วมีการแก้ไขในข้อต่าง ๆ จากข้อบัญญัติเดิมเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับปัจจุบัน และสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างข้อบัญญัติ ฯ ดังกล่าว และจะส่งให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2823128
https://www.isranews.org/article/isranews-news/132991-bkk-2.html
https://thestandard.co/bangkok-pet-microchip-regulation/


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – คาเฟ่สัตว์เลี้ยง ในจีน จ้างสัตว์เลี้ยงด้วยขนมและอาหารเปียก