รู้ไหมว่าการจะเลี้ยงปลาสวยงามสักตู้หนึ่ง การเลือกทำเลที่วางนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดความสำเร็จในการเลี้ยงปลาสวยงามได้เลยทีเดียว
เพราะหากเลือกทำเลใน การจัดวางตู้ปลา ภายในบ้านผิดก็จะเกิดปัญหาสารพันขึ้น ทำให้งานอดิเรกซึ่งควรจะเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาใหม่จนพาน ทำให้อยากเลิกเอาง่ายๆ ได้เหมือนกัน
ทำเลการจัดวางตู้ปลาภายในบ้าน
ข้อแรกที่ควรนึกถึงคือ ทำเลที่วางตู้ไม่ควรได้รับแสงแดดส่องโดยตรง เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อนอยู่แล้ว ถ้าแดดส่องนานๆ จะทำให้อุณหภูมิภายในตู้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาเกิดอาการช็อก หายใจลำบาก เพราะออกซิเจนในน้ำละลายได้ช้าลง หรือ ล้มป่วยได้ง่าย ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตะไคร่สีเขียวบนแผ่นกระจกให้ต้องคอยทำความสะอาดอีกด้วย
ถ้าหากเป็นไปได้ควรเลือกวางตู้ปลาในตำแหน่งที่อากาศถ่ายเทสะดวกและมีผู้คนไม่พลุกพล่านมากนัก เนื่องจากบางคนมักเดินผ่านหน้าตู้ด้วยความรวดเร็วหรือเดินเสียงดัง ทำให้ปลาในตู้ตื่นตกใจได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตู้ที่เลี้ยงปลาซึ่งค่อนข้างเปราะบางและชอบสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบเป็นพิเศษ เช่น ปลาปอมปาดัวร์ หรือ ปลาเทวดาป่าชนิดต่างๆ ถ้าทำได้อย่างนี้ นอกจากปลาจะมีสุขภาพดีแล้ว บางตัวยังออกลูกออกหลานเพิ่มจำนวนให้คนเลี้ยงได้ชื่นใจอีกต่างหาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนชนิดปลาให้เป็นพวกที่ค่อนข้างทน เช่น ปลาสอด ปลาหางนกยูง ปลาทอง หรือปลาหมอสี
ส่วนในเรื่องของหลักฮวงจุ้ยนั้นถือว่าตู้ปลาช่วยเสริมเรื่องโชคลาภ กระตุ้นการเงินให้เข้ามาไหลเวียนได้ โดยเฉพาะตู้ปลาที่มีการติดตั้งปั๊มและมีปลาว่ายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ข้อห้ามคร่าวๆ ก็คือ ไม่ควรวางขวางกลางบ้าน และ เมื่อหันออกนอกตัวบ้านควรวางตู้ทางซ้ายมือหรือวางตามแนวบ้าน แต่ถ้าต้องการพิจารณาแบบลงลึกก็คงต้องหาผู้เชี่ยวชาญทางศาสตร์นี้ไปปรึกษาเรื่องรายละเอียดกันอีกมากเลยทีเดียวซึ่งนอกจากเรื่องสถานที่แล้ว อาจรวมไปถึงเรื่องชนิดและจำนวนของปลาในตู้อีกด้วย
ไอเดียการจัดวางตู้ปลาภายในบ้าน
การหาทำเลดีๆ สำหรับการจัดวางตู้ปลาอาจเป็นเรื่องยากในบ้านที่มีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ผู้เลี้ยงก็สามารถปรับเปลี่ยนขนาดและรูปทรงของตู้ให้เข้ากับพื้นที่ว่างที่มีอยู่ได้ตามสะดวก วันนี้ my home จึงมีไอเดียในการจัดวางตู้ปลาภายในบ้านมาฝากกันค่ะ
1.โต๊ะตู้ปลา
ปลาเป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถเลี้ยงและดูแลได้ง่าย อีกทั้งยังใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่น แม้กระทั่งบริเวณใต้โต๊ะ อย่าง โต๊ะกลางห้องรับแขก โต๊ะหัวเตียงในห้องนอน ที่มักจะรกไปด้วยอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ ก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนี้ให้กลายเป็นตู้ปลาขนาดย่อมกลมกลืนเข้ากับสภาพพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน แต่ควรระมัดระวังติดตั้งตู้ปลาให้หนาแน่นและแข็งแรง เพื่อความปลอดภัยด้วยนะคะ
2.กำแพงอควาเลียม
สำหรับบ้านที่มีพื้นที่หรือมีงบประมาณในการทำตู้ปลามากสักหน่อย ลองเปลี่ยนพื้นที่กำแพงที่ดูมืดทึบให้ดูสดใสมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ด้วยการใช้วัสดุประเภทกระจกหรืออะครีลิคติดตั้งให้กลายเป็นตู้ปลา พร้อมทั้งติดตั้งไฟ LED เพิ่มความเด่นให้ตัวปลาได้อวดโฉม และ อาจเพิ่มอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ระบบกรองน้ำ ปั๊มลม หรือ แอร์ปั๊ม เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำและทำให้สภาพแวดล้อมภายในตู้เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามมากยิ่งขึ้น
3.โหลติดผนัง
พื้นที่บริเวณกำแพงยังคงเป็นบริเวณที่สามารถใช้งานได้ดี สำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัดหรือบ้านที่มีขนาดกะทัดรัด เพียงแค่นำโหลแก้วหรือขวดแก้วรูปทรงต่างๆ มาเลี้ยงปลาขนาดเล็กที่สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย อย่าง ปลากัด ปลาสอด หรือ ปลาหางนกยูง แล้วเพิ่มพรรณไม้น้ำ อย่าง พลูด่าง เพื่อช่วยบำบัดน้ำในตู้ปลา ดูดซับสารที่อาจเป็นอันตราย และ เพิ่มออกซิเจนในน้ำ นอกจากนี้ยังควรรักษาความสะอาด หมั่นเติมและเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เสมอด้วยนะคะ
4.ของเก่าเล่าใหม่
สำหรับนักประดิษฐ์ทั้งหลายแล้ว คงมีของใช้เก่าๆ อย่าง ตู้ ทีวี หลอดไฟ โคมไฟที่ไม่อยากทิ้งหลงเหลืออยู่ภายในบ้าน ลองนำมาดัดแปลงใหม่ให้กลายเป็นตู้ปลาแสนเก๋ ที่ไม่ใช่แค่ตู้กระจกสี่เหลี่ยมทั่วไปอย่างที่เป็นมา โดยรื้อโครงและอุปกรณ์ที่อาจเป็นอันตรายออกให้หมด ผนึกด้วยซิลิโคนให้มิดชิดกันน้ำรั่วซึม แล้วตกแต่งสร้างบรรยากาศภายใน เพียงเท่านี้ก็จะได้ของแต่งบ้านชิ้นใหม่ที่ทำให้บ้านสดใสมีชีวิตชีวาแล้ว
5.มินิอควาเลียม
นอกจากจะมีปลาสีสันสวยงามที่คอยแหวกว่ายสร้างความประทับใจแล้ว การจำลองสภาพแวดล้อมของบรรยากาศในตู้ปลาก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้โลกใต้น้ำสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยอาจใช้อุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ อย่าง หิน ขอนไม้ และ พรรณไม้ต่างๆ นำมาจัดวางลงในตู้ให้สวยงามและเหมาะสมต่อการดำรงชีพของปลาสวยงามที่จะเลี้ยง แล้วใช้โทนสีน้ำเงิน-เขียว หรือ โทนสีที่สดใส สร้างแรงดึงดูดให้มองแล้วสวยงาม เพลินตา สบายใจมากยิ่งขึ้น