ไวรัสโคโรนาในแมว (Feline coronavirus)

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาข่าวการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” เนื่องจากพบการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต่อมาองค์กรอนามัยโลก (WHO) ประกาศตั้งชื่อไวรัสชนิดนี้ว่า Covid-19 ซึ่งย่อมาจาก “coronavirus disease starting in 2019”

ไวรัสโคโรนา มีความรุนแรงมาก ทำให้ผู้ป่วยมีปอดอักเสบรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ที่มาของเชื้อสันนิฐานว่าน่าจะมาจากเนื้อสัตว์ที่ขายในตลาดสดและสามารถติดต่อมาสู่คนได้ การแพร่กระจายของเชื้อมาจากการสูดดมละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสปนอยู่ โดยที่เชื้อจะเข้าไปอยู่ที่เนื้อเยื่อปอด ทำให้ปอดติดเชื้อและเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว นอกจากนี้แล้วไวรัสโคโรนาสามารถก่อโรคในแมวแต่เป็นคนละสายพันธุ์กับ ไวรัสโคโรนาในคน (Covid-19)

ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในสัตว์ โดยเฉพาะในสุนัขและแมว ทางการแพทย์ได้ค้นพบไวรัสชนิดนี้มานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 มีการติดเชื้อได้ทั่วโลก ไวรัสโคโรนาในแมว มีชื่อว่า Feline coronavirus หรือ FCoV เป็นไวรัสที่ติดต่อระหว่างแมว เชื้อไวรัสตัวนี้ติดได้ง่ายจากการเลี้ยงแมวในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้กระบะทรายร่วมกันหลายตัว การเลี้ยงรวมกันอย่างหนาแน่น  ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แมวเกิดความเครียดและเป็นผลทำให้ติดเชื้อไวรัสง่ายขึ้น เนื่องจาการแพร่ของเชื้อเกิดได้จากการกินน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสปนอยู่ รวมไปถึงปัจจัยช่วงอายุมีผลเช่นกัน พบว่าช่วงอายุที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้ง่ายคือแมวอายุน้อยกว่า 2 ปี และ แมวแก่อายุมากกว่า 17 ปี เพราะ เป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง

ไวรัสโคโรนาในแมว มี 2 ชนิด คือ ไวรัสโคโรนาที่ลำไส้ (Feline enteric coronavirus) และ ไวรัสโคโรนาที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline infectious peritonitis) ไวรัสโคโรนาที่ลำไส้จะแบ่งตัวก่อโรคลำไส้ของแมว ซึ่งจะทำให้แมวเกิดอาการท้องเสีย แมวบางตัวท้องเสียไม่รุนแรงจะมีอาการดีขึ้นเอง โดยไม่ต้องรับการรักษา ส่วนไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (Feline infectious peritonitis) เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์จากไวรัสโคโรนาที่ลำไส้ (Feline enteric coronavirus) ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยมากในประเทศไทย โดยยังไม่มีการรักษาใดได้ผล 100% แมวที่ป่วยเป็นโรคนี้จะอยู่ได้ประมาณ 3 – 200 วัน และ มักจะเสียชีวิต การติดต่อของเชื้อที่สำคัญที่สุดคือการติดต่อผ่านทางอุจจาระที่แมวป่วย

รอยโรคที่เกิดขึ้นของแมวจะพบได้  3 รูปแบบคือ

1. แบบแห้ง (Dry form) แมวจะมีก้อนสะสมตามอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ตับ ไต ม้าม เป็นต้น

2. แบบเปียก (Wet form) แมวจะมีน้ำมาสะสมที่บริเวณช่องอกและช่องท้อง

3. แมวมีทั้งแบบเปียกและแบบแห้งร่วมกัน (mix form)

อาการที่แมวแสดงออกมาให้เจ้าของเห็นอาจไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร น้ำหนักตัวลด ผอม หายใจลำบาก ท้องบวมน้ำ เป็นต้น

การรักษาไม่มียาจำเพาะเจาะจง กล่าวคือเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการเท่านั้น มีการให้ออกซิเจน เจาะน้ำในช่องอกช่องท้อง ใส่ท่อช่วยหายใจตามความจำเป็น เพื่อให้แมวมีชีวิตอยู่ให้นานขึ้นส่วนใหญ่แมวที่เป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline infectious peritonitis) มักจะเสียชีวิตในที่สุด

การป้องกันโรคสามารถทำได้โดยการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบะทรายควรทำความสะอาดเป็นประจำ มีกระบะทรายเพียงพบต่อจำนวนแมวที่เลี้ยง ไม่เลี้ยงแมวจำนวนมากและมีความหนาแน่นของประชากรแมวมากเกินไป มีพื้นที่เพียงพอในการเลี้ยง  ชามน้ำชามอาหารควรแยกกันและวางให้ให้เหมาะสม ก็จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดในการรับเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ควรหมั่นพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ การทำวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบมีเพียง 1 บริษัทเท่านั้น สามารถทำโดยการใช้หยอดจมูก แต่ผลยังไม่เป็นผลที่น่าพอใจดังนั้น World Small Animal Veterinary Association (WSAVA) จึงไม่แนะนำให้ทำวัคซีนนี้ หรืออีกนัยก็คือ วัคซีนนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคได้จึงไม่ได้แนะนำให้ทำวัคซีน

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าไวรัสโคโรนาที่เกิดโรคในแมวจะติดต่อมายังคนได้ ไม่ว่าจะสัมผัสหรือคลุกคลีกับแมวเนื่องจากไวรัสโคโรนาในแมว (Feline coronavirus) กับไวรัสโคโรนาในคน (Covid-19) เป็นคนละสายพันธุ์กัน อย่างไรก็ตามควรมีการป้องกันตนเองให้ปราศจากโรคติดต่อต่างๆ เน้นเรื่องสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ ดั่งคำกล่าวที่ว่า “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หากพบว่าไม่สบายควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ส่วนน้องแมวหากมีอาการผิดปกติควรที่จะไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา เพื่อให้น้องแมวห่างไกลจากโรคต่างๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง และอายุที่นานยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม ไวรัสโคโรนาในสุนัข

บทความโดย

สพ.ญ. จุฑามาศ อรรคฮาต
Jutamart Akkhahat
โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา
Petfriends Sriracha Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่