ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ได้ ไม่ต่างจากมนุษย์
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ “PM 2.5” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ ที่ผู้คนให้ความสนใจมากในปัจจุบัน เพราะปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทุกคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองปกคลุม รวมไปถึงยังส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงที่เรารักด้วย
ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 คืออะไร และมีแหล่งที่มาจากไหน
PM 2.5 (particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) หรือ fine particulate matter ตามคำนิยามของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา(U.S. Enviromental Protection Agency หรือ U.S. EPA) หมายถึง ฝุ่นละเอียด (fine particles) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคไม่เกินกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งจัดว่ามีขนาดที่เล็กจิ๋วมาก จนไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

จากการศึกษาของนักวิจัย พบความเป็นไปได้ของแหล่งกำเนิดผุ่นละอองขนาดเล็ก ที่กำลังปกคุลมเมืองใหญ่ในปัจจุบัน ว่า อาจจะเกิดจากแหล่งกำเนิดฝุ่นหลายแหล่งรวมกัน ร่วมกับปัจจัยของสภาพอากาศในเวลานั้น เช่น
การเผาไหม้เชื้อเพลิง และเกิดฝุ่นควันลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศโดยตรง หรือเกิดจากก๊าซที่มีการกลั่นตัวเป็นเม็ดฝุ่นเริ่มต้น ก่อนจะรวมตัวกันจนเกิดเป็นเม็ดฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของ PM2.5 ก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิด และลักษณะของเชื้อเพลิงที่เป็นต้นกำเนิด รวมทั้งกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงเหล่านั้นด้วย
โดยการเผาไหม้ที่ว่านี้ อาจเกี่ยวข้องกับการจราจร หรือการคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัย รวมทั้งการเผาไหม้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตร ไฟป่า และการเผาขยะในพื้นที่ฝังกลบ เป็นต้น
ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์
เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อมนุษย์หายใจสูดดมเข้าไปในร่างกาย เม็ดฝุ่นเหล่านี้ก็จะสามารถหลุดลอดผ่านจากการดักกรองของขนจมูก และแผงกระดูกเทอร์บิเนต (terbinate bone) ภายในโพรงจมูก
จากนั้น อนุภาคของฝุ่นจะแทรกผ่านไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ไปจนถึงหลอดลม และถุงลม ภายในปอด ซึ่งเป็นบริเวณที่มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนแก๊ส ความน่ากังวลคือ เมื่ออนุภาคขนาดเล็กหลุดไปในทางเดินหายใจระดับลึก ร่างกายจะไม่มีกระบวนการในการขับออก แต่จะยังคงตกค้างอยู่ภายในร่างกาย
เมื่ออนุภาคสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ตกค้างอยู่ในปอดของเรา ย่อมส่งให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้น และระยะยาว เป็นสาเหตุให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง
นอกจากนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กยังสามารถที่จะแพร่ผ่านจากถุงลมปอดเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบน้ำเหลืองของร่างกาย และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้อีกด้วย
ผลกระทบที่ตามมาคือ อนุภาคเหล่านี้จะทำให้มีผลเสียต่อโครงสร้าง หรือการทำงาน ของระบบหัวใจและหลอดเลือด รบกวนการทำงาน หรือการพัฒนา ของสมองและระบบประสาท รวมทั้งมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย
จากการศึกษาเพิ่มเติม ยังพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก มักจะมีสารพิษ หรือละอองลอยต่าง ๆ เคลือบอยู่ที่ผิวด้านนอก ซึ่งสารพิษเหล่านี้มักมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคือง ไปจนถึงสารก่อมะเร็ง
ตัวอย่างของสารพิษที่ตรวจพบ ได้แก่ สารประเภทโลหะหนัก (เช่น ตะกั่ว แคดเมียม และสังกะสี เป็นต้น) และสาร PAHs (polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
เมื่อ PM2.5 ตกค้าง หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ก็จะมีการปลดปล่อยสารพิษเหล่านี้เข้าสู่เนื้อเยื่อหรือเซลล์ในบริเวณนั้น ๆ ด้วย ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้
ยกตัวอย่างเช่น ทำให้มีระดับของอนุมูลอิสระ (free radicals) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ของเซลล์ต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการทำลาย หรือการตายของเซลล์ หรือเนื้อเยื่ออักเสบ เป็นต้น
เมื่อเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ก็จะส่งผลให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องเกิดการเสียหาย หรือมีการทำงานที่ผิดปกติไปได้ในที่สุด รวมทั้งยังเป็นปัจจัยร่วมอย่างหนึ่งที่สำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งขึ้นได้อีกด้วย
โดยหน่วยงาน The International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดฝุ่น PM2.5 เป็นประเภทของสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 เนื่องจากพบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับ PM2.5 กับอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปอด
ผลกระทบของ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ต่อสัตว์เลี้ยง
ในปัจจุบันนี้ การศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของมนุษย์มีอยู่มากมาย แต่การศึกษาในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะกับสุนัขและแมวโดยตรงยังมีข้อมูลไม่มาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของสุนัขและแมวจะมีอยู่น้อย แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งขอนำมาสรุปโดยย่อ ดังนี้
เมื่อปี 2001 Calderon-Garciduenas และคณะ ได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบของมลพิษในอากาศ (air pollutants) ต่อระบบการเกิดรอยโรคในทางเดินหายใจและหัวใจของสุนัข ที่อยู่ในท้องที่ต่างๆ ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีระดับมลพิษในอากาศที่อยู่ในระดับน่าเป็นห่วง
ในการศึกษานี้ได้กล่าวถึงมลพิษชนิดหลัก ๆ ก็คือ PM2.5, PM1.0 และโอโซน (ozone; O3) โดยผลการศึกษาโดยสังเขป สามารถสรุปได้ว่า มลพิษในอากาศเหล่านี้มีผลทำให้เกิดรอยโรคในเนื้อเยื่อของปอด และกล้ามเนื้อหัวใจ ของสุนัข โดยรอยโรคที่สำคัญ คือ รอยโรคภายในเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อปอด และในกล้ามเนื้อหัวใจ
ต่อมาในปี ค.ศ. 2017 Calderon-Garciduenas และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 และโอโซน ต่อการทำงานของก้านสมอง (brain stem) ในสุนัข ลงในวารสาร Environmental research พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงของการเกิดคลื่นไฟฟ้า ของเส้นประสาทการได้ยิน ร่วมกับมีการฝ่อ หรือผิดรูปของเนื้อเยื่อก้านสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟัง อันเนื่องมาจากมีการลดลงลดลงของเซลล์ในบริเวณดังกล่าว ร่วมกับมีร่องรอยของความเสื่อมเกิดขึ้นด้วย
ในไต้หวัน เมื่อปี 2018 Lin และคณะ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (indoor air pollution; IAP) กับการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจของสุนัขและแมวยง โดยตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of veterinary internal medicine
ผลจากการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แมวที่อยู่ในบ้านที่มี PM2.5 สูงกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (mg/m3) พบปัญหาโรคทางเดินหายใจมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยอาการผิดปกติที่พบได้มากมักเป็นการอักเสบของท่อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ภาวะหอบหืดในแมว (feline asthma) ภาวะหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (chronic bronchitis) รวมถึงการอักเสบของหลอดลมชนิด mixed-type inflammatory airway disease
ส่วนอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่พบได้บ้าง แต่มีสัดส่วนที่น้อยกว่า ได้แก่ ภาวะการอักเสบที่เกี่ยวเนื่องกับทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น จมูกอักเสบ (rhinitis) รวมทั้งโรคของช่องจมูก (nasopharynx) และคอหอย และโรคที่เกี่ยวเนื่องกับปอด ส่วนผลจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุนัขในงานวิจัยชิ้นนี้ ยังไม่บ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างระดับของ PM2.5 ภายในบ้านกับการเกิดโรคของระบบทางเดินหายใจในสุนัข
และเมื่อต้นปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา Lin และคณะ ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (IAP) กับการเกิดปัญหาสุขภาพในสัตว์เลี้ยงอีกเรื่องหนึ่ง โดยในครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงบทบาทของมลพิษทางอากาศในอาคารต่อการเกิดโรคของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (ได้แก่ หลอดลมฝอย (bronchus) และปอด) ในสุนัขและแมว ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of veterinary internal medicine เช่นเดียวกัน โดยการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาบทบาทของมลพิษทั้งที่เป็น PM2.5 และที่เป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds) ต่อการเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งในที่นี้ก็จะขอนำเฉพาะผลการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 มาสรุปให้กับท่านผู้อ่านครับ
จากการศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างเซลล์จากทางเดินหายใจส่วนล่างของสุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ที่มีประวัติการอาศัยอยู่ในบ้านที่มี PM2.5 ในระดับความหนาแน่นต่างๆ กัน พบว่าสุนัขที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มี PM2.5 สูงกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีจำนวนเซลล์อักเสบในตัวอย่างที่เก็บมาได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่อยู่ในบ้านที่มี PM2.5 น้อยกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่พบความแตกต่างของระดับความรุนแรงของอาการทางคลินิกระหว่างสุนัขทั้งสองกลุ่ม ซึ่งผลการศึกษานี้ พอจะช่วยให้เราเข้าใจผลกระทบของ PM2.5 ต่อการก่อปัญหาในระบบทางเดินหายใจของสุนัขได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าในระยะยาว PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อไปได้อีกบ้าง แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีการศึกษาที่เพิ่มเติมในเรื่องนี้ตีพิมพ์ออกมาอีกในอนาคต
โดยสรุปจากข้อมูลการศึกษาที่มี ณ ขณะนี้ ก็พอจะยืนยันได้ว่า เจ้าฝุ่นละออกขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกว่า PM2.5 นี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เรา แต่ยังมีผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อสุขภาพของสุนัขและแมวด้วยเช่นกัน และแม้ว่าการศึกษาเรื่องดังกล่าวในสัตว์เลี้ยงยังมีอยู่ไม่มากนัก แต่ข้อมูลการศึกษาวิจัยในมนุษย์ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง ก็อาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการประเมินหรือคาดการณ์ผลกระทบที่อาจมีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงได้ ทั้งนี้เนื่องจากพบรายละเอียดของการก่อปัญหาในบางส่วนที่มีความคล้ายคลึงหรือเทียบเคียงกันได้อยู่บ้างนั่นเอง
การป้องกันสัตว์เลี้ยงในช่วงที่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปกคลุม
การป้องกันผลกระทบของ PM2.5 ในระยะยาวที่ดีและยั่งยืนที่สุด ก็คือ การที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันลดการกระทำใด ๆ ที่จะเป็นแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ให้มีหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด เพื่อให้มีความหนาแน่นของ PM2.5 ในอากาศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งคงต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจกันของทุก ๆ คนในสังคม และต้องอาศัยระยะเวลาอีกระยะหนึ่งในการที่จะจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนการป้องกันในระยะสั้น คือ
- พยายามป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราต้องสัมผัสหรือสูดดม PM2.5 เพื่อจะได้ไม่เกิดผลกระทบที่ตามมาจากการได้รับ PM2.5 มากเกินไป และพยายามให้สัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับ PM2.5 น้อยที่สุด
- งดกิจกรรมกลางแจ้งลง เช่น งดการปล่อยเล่นกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ ลดระยะเวลาในการพาเดินออกไปขับถ่ายนอกบ้านให้สั้นลง ฯลฯ
- สำหรับสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงอยู่ในบ้านตลอดเวลา เจ้าของสามารถเลือกใช้ เครื่องฟอกอากาศ ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพดีในการดักจับฝุ่นละอองขนาดจิ๋วได้ เพื่อลดความหนาแน่นของ PM2.5 ที่เข้ามาสู่ภายในบ้าน
- ถ้าเราทราบว่าสัตว์ป่วยของเรามีโรคประจำตัว ที่มีความไวต่อฝุ่นละออง เช่น โรคทางเดินหายใจอักเสบ โรคหอบหืด หรือโรคปอดเรื้อรัง เจ้าของต้องเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ให้มีฝุ่นภายในบ้านมากเกินไป
นอกจากนี้ เจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของสัตว์เลี้ยง หากพบว่า มีอาการผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับการระคายเคืองจากผลของ PM2.5 ในอากาศ เช่น อาการไอ จาม หายใจเหนื่อยหอบ หรือการระคายเคืองของดวงตา ภายหลังจากสัมผัสกับฝุ่นควัน เจ้าของควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร่งด่วน เนื่องจากอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งทำให้เกิดอันตรายในภายหลังได้
ส่วนการให้สารอาหารเสริมในกลุ่มโอเมกา 3 (omega-3) และวิตามินอี (vitamin E) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) มีข้อมูลว่า อาจช่วยลดการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ของเซลล์ต่างๆ รวมทั้งป้องกันหรือบรรเทาการอักเสบของหลอดเลือดฝอย และการเสียหายของปอด อันเป็นผลกระทบจากการได้รับ PM2.5 ได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนจะให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารเสริมดังกล่าว
บทความโดย
อ.น.สพ. เสลภูมิ ไพเราะ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Selapoom Pairor DVM, MS, DTBVIM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – โรคหวัดแมว หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นในแมว (Cat flu)
